posttoday

ชังชาติ รักชาติ (ตอนที่หนึ่ง)

10 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร 

**************

ใครจะชังจะรักชาติ คงต้องยอมรับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ประการหนึ่งว่า ชาติไม่ได้เป็นสิ่งที่อุบัติขึ้นมาตั้งแต่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นบ้านเป็นเมือง ถ้าจะมองชาติให้เกิดขึ้นยาวนานที่สุดก็อาจจะตอนต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด จากการค้นคว้าวิจัยของ Liah Greenfeld ที่ปรากฏเป็นหนังสือชื่อ Nationalism: Five Roads to Modernity (1992)  ที่เสนอว่า อังกฤษเป็นประเทศแรกในโลกที่สถาปนาความเป็นชาติขึ้นในราว ค.ศ. 1600  ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่อีก 48 ปีต่อมาได้เกิดสนธิสัญญาเวสฟาเลีย (Westphalia) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับอำนาจอธิปไตยและพรมแดนของรัฐต่างๆ ที่ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเพราะยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้

ก่อนที่จะรวมกันเป็นชาติ  ผู้คนจะอยู่กันตามแว่นแคว้นถิ่นฐานต่างๆ และมีความผูกพันกับท้องถิ่นของตนมากกว่าจะจินตนาการนึกถึงการอยู่รวมกันเป็นชาติได้  ดังนั้น การรวมกันเป็นชาติจึงต้องมีการใช้กำลังกดบังคับต่อผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆให้หันมาจงรักภักดีร่วมกันในความเป็นชาติบ้านเมือง แต่ก็ไม่เสมอไปที่จะต้องใช้กำลังบังคับ เพราะบางท้องถิ่นก็อาจจะเห็นประโยชน์หรือมีความใกล้ชิดพอใจกับการอยู่รวมกันเป็นชาติ โดยเฉพาะหากมีศัตรูภายนอกร่วมกัน หรือแม้แต่การมีปัญหาภายในเองก็ตามที่หากเกิดอำนาจที่เหนือกว่าที่สามารถจัดการกับปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในได้  การตกลงยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันเป็นชาติก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ดีกว่าจะแยกอยู่กันอย่างไม่สงบ    

นั่นคือ การยอมรับความเป็นชาติภายใต้แนวคิดสัญญาประชาคมของนักคิดอย่างทอมัส ฮอบส์และจอห์น ล็อกนั่นเอง และก็ไม่น่าแปลกใจที่เกิดทฤษฎีการเมืองที่มีเนื้อหาสาระเช่นนั้น เพราะดูเหมือนว่า ทฤษฎีดังกล่าวจะเป็นผลมาจากบริบททางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศในยุโรปขณะนั้น                           

และแน่นอนว่า ในกระบวนการของการสร้างชาติย่อมจะต้องมีการกดบังคับความเชื่อวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้เป็นรองความเชื่อและวัฒนธรรมชาติ  และแน่นอนว่า ภายใต้กระบวนการสร้างชาติหรือบูรณการให้เกิดเอกภาพของความเป็นชาติย่อมจะต้องมีคนขัดขืนไม่เห็นด้วย และคนที่ไม่เห็นด้วยนี้ก็อาจจะถูกมองจากคนที่อยากรวมเป็นชาติว่าเป็น “พวกชังชาติ” ได้  และนี่ก็คือ ประเภทแรกของพวกชังชาติที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นนิยมกับการรวมเป็นชาติ                       

นอกจากจะเกิดชาติเฉย ๆแล้ว ความเป็นชาติยังเติบโตไปได้เรื่อย ๆจนกลายเป็นอุดมการณ์ที่เรียกว่า “ชาตินิยม” (nationalism)  ซึ่งนักวิชาการก็มีความเห็นแตกต่างกันไป บ้างว่าชาตินิยมเกิดขึ้นในศตวรรษที่สิบเจ็ด บ้างก็เห็นว่าศตวรรษที่สิบแปด แต่ที่ไม่มีนักวิชาการคนใดปฏิเสธคือ ปรากฏการณ์ชาตินิยมนั่นชัดเจนที่สุดในศตวรรษที่สิบเก้า                                         

อุดมการณ์ชาตินิยมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย  ข้อดีคือมันเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะรวมกำลังความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนทั้งชาติในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศ อย่างเช่น อุดมการณ์ชาตินิยมทำให้ผู้คนในชาตินั้นเลือกใช้แต่ของที่ผลิตในประเทศ แม้จะยังมีคุณภาพไม่ดีและราคาก็ไม่ได้ถูกมากมายอะไร  ซึ่งการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการตัดสินใจเลือกอย่างไม่สมเหตุสมผลในฐานะผู้บริโภค แต่ชาตินิยมก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีเหตุผลในตัวของมันเองเท่าไรนักอยู่แล้ว เพราะมันเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเสียมากกว่า มันเป็นอุปาทานหมู่ แต่การเมืองไม่ใช่เรื่องโลกกุตระ ดังนั้น อุปาทานยังคงต้องมีอยู่ และชาติอาจเป็นได้ทั้งสัมมาทิฐิและมิจฉาทิฐิได้ แล้วแต่บริบทสถานการณ์                                             

ทีนี้ ในกรณีที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมหนึ่งๆต่างพากันรู้สึกชาตินิยม และพากันซื้อข้าวของที่ผลิตในประเทศทั้ง ๆที่คุณภาพและราคาเมื่อเปรียบเทียบแล้ว สู้ของที่นำเข้าไม่ได้  เพื่อหวังจะช่วยชาติให้เจริญก้าวหน้าและยิ่งใหญ่ตามมาในอนาคต แต่ก็มีบางคนที่ไม่ต้องการอุดหนุนของในประเทศของตัวเอง เพราะถือว่าเรื่องการจะใช้เงินที่ตัวเองหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนซื้อข้าวของเครื่องใช้เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ก็อาจจะถูกมองจากพวกชาตินิยมหรือรักชาติว่าเป็นคนไม่รักชาติ และหากคนที่ไม่ซื้อของที่ผลิตในประเทศจะออกมาแสดงความคิดเห็นโต้แย้งการรณรงค์ให้คนซื้อของที่ผลิตในประเทศว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพ และไม่เห็นด้วยกับกระแสชาตินิยมแบบนั้น นอกจากจะถูกมองว่าไม่รักชาติแล้ว ก็อาจจะถูกตีตราว่าชังชาติได้ 

และนี่ก็คือ พวกชังชาติประเภทที่สอง ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดี ๆ จะพบว่าพวกชังชาติประเภทที่สองนี้ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์เสรีนิยม กับอุดมการณ์ชาตินิยม ที่จริง ๆแล้ว แก่นแท้ของอุดมการณ์ทั้งสองนี้ไปด้วยกันไม่ได้ นอกเสียจากว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมลดดีกรีความเข้มข้นของตนลงมาก หรือยอมลดทั้งสองฝ่าย ถึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา (แต่ปัญหามันซ่อนอยู่เสมอ ไม่หายไปไหน)   

ที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นชังชาติสองแบบ แบบแรก แบบท้องถิ่นนิยม vs การรวมเป็นชาติ  แบบที่สอง เสรีนิยม vs ชาตินิยม แบบแรกนี่น่าจะเป็นชังชาติของแท้ เพราะไม่อยากรวมเข้าเป็นชาติกับคนอื่น ขณะเดียวกัน ตัวเองก็ไม่ได้มีชาติอะไรของตัวเอง นอกจากจะมีความรักในท้องถิ่นเกิด ซึ่งการรักในถิ่นเกิดนี้ เขาก็มีคำเรียกให้แตกต่างจากชาติ  โดยมีคำว่า รักปิตุภูมิ (patriotism) หรือรักมาตุภูมิ อย่างเช่น รักและปกปักรักษาบางระจัน แต่ไม่ได้คิดปกปักรักษากรุงศรีอยุธยา หรือรักและปกปักรักษา Jamtland (ดินแดนส่วนหนึ่งในประเทศสวีเดนในปัจจุบัน) คนที่รักแผ่นดินเกิดนี้อาจไม่ได้คิดถึงชาติ แต่คิดถึงแผ่นดิน ทีนี้เวลาสวีเดนจะเริ่มต้นรวมเป็นแว่นแคว้นต่างๆให้เป็นชาติในราวศตวรรษที่สิบหก พระเจ้ากุสตาฟที่หนึ่งก็ต้องทรงเผชิญกับการต่อต้านจากแว่นแคว้นต่าง ๆ ถ้ามองจากมุมมองของพระองค์ ก็คือ เกิดกบฏถึงห้าครั้งในรัชสมัยของพระองค์  แต่ถ้ามองจากคนพื้นถิ่น เขาก็เห็นว่า อยู่ดี ๆ ผู้ปกครองหรือกษัตริย์จะมาลิดรอนเสรีภาพและอิสรภาพของพวกเขาไป แม้ทุกวันนี้ ก็ยังมีนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสวีเดนเรียกพระเจ้ากุสตาฟที่หนึ่งว่าเป็นทรราช แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์แนวรัฐชาติของสวีเดนขนานนามพระองค์ว่าเป็น “บิดาแห่งชาติสวีเดน”

และถ้าอุดมการณ์ชาตินิยมไม่ได้ไปผูกติดกับการซื้อของใช้ที่ผลิตในประเทศ แต่ผูกติดกับศาสนาและพระมหากษัตริย์  ก็ย่อมจะมีประเด็นความขัดแย้งตามมา ไม่ว่าจะจากคนที่นับถือศาสนาอื่นที่อยู่ในดินแดนนั้น ๆมาเป็นเวลานาน หรือคนที่มีอุดมการณ์เสรีนิยม นอกจากจะต้องการเสรีภาพที่จะสมัครรักใคร่นับถืออะไรตามความเห็นชอบของตน และไม่เห็นชอบกับความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีพระมหา กษัตริย์ในฐานะที่อยู่เหนือประชาชน  และถ้าคนเหล่านี้ไม่อยู่เงียบ ๆเจียมเนื้อเจียมตัว แต่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามอุดมการณ์เสรีนิยมที่เป็นคุณค่าที่แพร่หลายกว้างขวางในโลกขณะนี้ กล่าววิพากษ์วิจารณ์ชาตินิยมแบบนั้น เขาเหล่านั้นก็ย่อมจะถูกตีตราว่าเป็นพวกชังชาติได้                    

ขณะเดียวกัน พวกรักชาติหรือชาตินิยม หากรุนแรงเข้มข้นและมีพลังในสังคมมากเท่าไร ก็จะทำให้พื้นที่ของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีน้อยลงเท่านั้น  และคนที่ไม่ได้ถึงกับออกมารณรงค์ต่อต้านชาตินิยม แต่ไม่เห็นด้วยกับการเที่ยวตีตรา “ชังชาติ” อย่างเหมารวม ไม่แยกแยะในแต่ละกรณี ก็อาจถูกเหมารวมว่าเป็นพวกชังชาติไปด้วยก็ได้ !                               

ขณะเดียวกัน อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่า ชาติเป็นเรื่องอุปาทานหมู่ และแน่นอนว่าชาตินิยมก็ยิ่งเป็นอุปาทานหมู่เข้าไปใหญ่  แต่การเมืองไม่ใช่เรื่องโลกกุตระ ดังนั้น อุปาทานยังคงต้องมีอยู่ และชาติและชาตินิยมก็อาจเป็นได้ทั้งสัมมาทิฐิและมิจฉาทิฐิได้ แล้วแต่บริบทสถานการณ์ ชาตินิยมที่ดีก็มี ที่เลวก็มาก ชังชาติที่ไม่ดีก็มีจริง ๆเหมือนกัน (ต่อตอนหน้า)