posttoday

เศรษฐกิจไทย ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

30 มกราคม 2563

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์

***************************

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ซึ่งใกล้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลได้เร่งระดมใส่ความคิดประชาชนให้เชื่อว่า เศรษฐกิจของชาติไม่ดี เศรษฐกิจกำลังหายนะ ประชาชนกำลังไม่มีจะกิน โดยมองว่าประเด็นเศษฐกิจเป็นความอยู่รอด หรือการสิ้นสุดของรัฐบาลชุดนี้ ส่วนเรื่องอื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การทุจริตคอรัปชั่น แม้แต่เรื่องไวรัสจากมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเรื่องล่าสุด ก็เอามาประเด็นหลักล้มรัฐบาลไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องหันมาเล่นประเด็นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชนแทน

รัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้กลับคืนมาเป็นความเร่งด่วนอันดับแรก เมื่อบ้านเมืองสงบ ก็มีเวลาในการแก้ไขปัญหาเศษฐกิจและการทูต คอรัปชั่นเชิงนโยบาย ปัญหาปากท้องของประชาชนจนสถานการณ์ของประเทศค่อยดีขึ้นเป็นลำดับ

ปัญหาเร่งด่วนเผชิญหน้ารัฐบาลผสมจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ คือ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัวกว่าที่คิด เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังปรับตัวซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยทั่วไป เศรษฐกิจโลกจะมีการขึ้นลงประมาณ7 ปีครั้ง เมื่อเศรษฐกิจปรับตัวจะใช้เวลานานประมาณ 1-3 ปี โดยเฉลี่ย

จากการพูดคุยกับ "ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ" ได้รับการอธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่า การปรับตัวเศรษฐกิจโลกคราวนี้แรงกว่าปกติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไทยมาได้ครึ่งทางแล้ว ยังเหลืออีกครึ่งทางหรืออีกปีกว่า แม้ปัญหาหลักมาจากภายนอก ไม่ใช่เกิดจากรัฐบาลโดยตรง แต่รัฐบาลก็ต้องมี"กึ๋น"ในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีขึ้นให้ได้

ยิ่งใกล้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายตรงข้ามระดมโฆษณาชวนเชื่อโจมตีรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องปกติ และชูให้รัฐบาลต้องทำให้จีดีพี.โตให้ได้ร้อยละ4ในปีนี้ ซึ่งก็รู้ว่ายากจะเป็นไปได้ แต่จะได้ใช้เป็นประเด็นขับไล่รัฐบาล ในความเป็นจริง ภายใต้สภาวะปัจจุบัน หากรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจโตได้ร้อยละ2ในปี 2563 ก็ถือว่าเก่งแล้ว เพราะเศรษกิจโลกขาลง เหมือนกับการขับรถลงเขา เราต้องผ่อนคันเร่ง ไปใช้เหยียบคันเร่ง เพราะต้องมีความรอบคอบมากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจประเทศอื่นโดยรวมถือว่าเศรษฐกิจไทย"ขี้เหร่"น้อยที่สุด เศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ไม่ต้องคิดถึง"ความสวย" เอาแค่ขี้เหร่น้อยที่สุดก็เก่งแล้ว

แม้ตัวเลขไตรมาส 4 ของปี 2562 จะโตเพียงร้อยละ 2.4 ซึ่งไม่ค่อยดีนัก แต่ถือว่าเริ่มนิ่งแล้ว ไม่ทรุด เราต้องรักษาตัวให้รอดเพื่อก้าวไปข้างหน้า (แต่ถ้าทำได้ถึงร้อยละ3.8 เช่นที่นายกรัฐมนตรี พูดมาเมื่อวันสองวันนี้ถือว่าเก่งมากทีเดียว)

ข้อกังวลใจคือ การส่งออกไม่ค่อยดี การบริโภคน้อยลง แต่การท่องเที่ยวยังดี ต่างประเทศย้ายการลงทุนมายังประเทศไทยมากขึ้น การลงทุนภาครัฐอันเป็นหัวใจสำคัญซึ่งอยู่ที่งบประมาณประเภทที่จะใช้ได้เลย (ลดลงจากร้อยละ 25 ของปีงบประมาณ 2562 เหลือร้อยละ 20 ในปี 2563)ยังไม่ได้ใช้ ตามธรรมดาก็ใช้ไปแล้ว 4 เดือน พอมาเจอปัญหาส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ทำให้ยิ่งช้าออกไปอีก อาจมีเวลาแค่ 5 เดือนเท่านั้น ในการใช้เงินงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศ

ทำให้เงินหมุนเวียนในตลาดลดน้อยลง เศรษฐกิจไม่คึกคัก ที่ผ่านมารัฐบาลต้องใส่เงินลงไปผ่านหลายโครงการ อาทิ โครงการชิมช็อปใช้ ที่กำลังจะเปิดเฟส 4 ใส่เงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน ให้สินเชื่อแก่ เอส.เอ็มอี ให้มีสภาพคล่องขึ้น โครงการจ่ายเงินชดเชยแก่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งหมดเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสิ้น ไม่ใช่รัฐบาลเป็นเศรษฐีเอาเงินไปเที่ยวไล่แจกประชาชนอย่างที่ถูกกล่าวหา

โครงการประมูลก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการประมูลคลื่น5จี ที่หากเร่งทำให้สำเร็จโดยเร็ว คาคว่ารัฐจะได้เงินมาใช้หมุนเวียนจนถึงล้านล้านบาท เป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหวขึ้น เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลายตัวดับ บางตัวทำงานเต็มที่ ที่ทำงานได้ดีก็คือ การท่องเที่ยว แต่มาเจอไวรัสอู่ฮั่นจากจีนเข้าไปอีก นักท่องเที่ยวจากจีนซึ่งเป็นรายได้หลักลดลง ต้องเร่งไปดึงจากอินเดียมามากขึ้น (หลายคนไม่ทราบว่าปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจากอินเดียซึ่งมีประชากร 1.4พันล้านคน มาเที่ยวไทยมากขึ้น

สิ่งที่หลายคนเป็นกังวลคือ เงินบาทไทยแข็งค่าที่สุดหรือเกือบจะที่สุดในโลก แข็งกว่าดอลลาร์อเมริกันร้อยละ6 แข็งกว่าเงินหยวนจีน เงินริงกิตมาเลเซีย (คนในสองประเทศนี้มาเที่ยวไทยกันมาก นักท่องที่ยวไปเวียดนามมากขึ้นพราะค่าเงินต้องอ่อนค่าลง ) ซึ่งเป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ ทั้งด้านการส่งออก การท่องเที่ยว ภาคการเกษตร ผู้ส่งออกเงินจะหายไป 3 บาททุก 1 ดอลลาร์อเมริกัน

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ต้องจ่ายมากขึ้น อสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโด ที่ต่างชาตินิยมมาซื้อไว้ก็ต้องจ่ายแพงขึ้นร้อยละ3 ธนาคารชาติ ซึ่งดูแลเรื่องนี้ถูกกดดันมาก ระยะหลังธนาคารชาติเริ่มพูดคุยกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสัญญานที่ดี

รัฐบาลแก้ปัญหาให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเมืองไทยซึ่งเงินของเขาด้อยค่าลงไป เมื่อแลกเป็นเงินไทย โดยทางการไทยจะชดเชยส่วนต่างให้ เพื่อดึงนักทองเที่ยวมาเที่ยวไทย โดยให้นักท่องเที่ยวสามารถแลกคืนส่วนต่างได้ ไม่ไช่เอาเงินไปแจกนักทองเที่ยวฟรีๆ อย่างที่หลายคน เข้าใจและโจมตีรัฐบาล

ปัจจุบัน บริษัทไทยจำนวนมากมีเงินเหลืออยู่ในกระเป้าเยอะมาก แต่ไม่รู้จะเอาไปลงทุนอะไร (ไม่เหมือนวิกฤติปี 2540ที่บริษัทส่วนใหญ่เป็นหนี้ พอลูกหนี้ล้ม เจ้าหนี้ก็ตกใจ มาทวงหนี้ผิดกับปัจจุบันซึ่งบริษัทมีเงินมาก แต่ยังไม่กล้าเสี่ยงลงทุน) มีเพียงกลุ่มซี.พี. และไทยเบฟเท่านั้นที่ลงทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น การที่รัฐบาลสนิทกับสองกลุ่มนี้ก็เพราะเขาลงทุนในไทยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ (ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไปให้ประโยชน์แค่สองบริษัทนี้ผูกขาดดังที่กล่าวหา)

เศรษฐกิจแบบนี้ เราขอแค่ผ่านไปให้ได้เท่านั้น เมื่อเศรษฐกิจโลก"แห้ง"เศรษฐกิจไทยก็แห้งไปด้วย รัฐบาลเตรียมใส่"น้ำ" ลงไปอีก เช่น โครงการถไฟฟ้าสีส้ม สนามบินอู่ตะเภาการประมูลคลื่น5 จี เป็นต้น

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ (1) โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล (2) การท่องเที่ยว จากสนามบินให้ไปถึงโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว(3) ดึงการลงทุนจากต่างประเทศ20ปีที่ฝานมา นักลงทุนต่างประเทศนิยมไปลงทุนในจีน เราจะชวนมาลงทุนในไทยอย่างไรเขาก็ไม่มา แต่เวลานี้สหรัฐบีบให้นักลงทุนออกจากจีน นักลงทุนต่างประเทศหลายรายสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น เราต้องแข่งกับเวียดนามและอินโดนีเซีย ดึงเขามาลงทุนในไทยโดยจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ เรารับนักลงทุนมาในอัตราที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านเพราะติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบ เราได้ส่วนแบ่งน้อยไป แต่นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุด

รัฐบาลต้องทำเมืองไทยให้เป็นเมืองท่องเที่ยวมากกว่านี้ ต้องอำนวยความสะดวกตั้งแต่สนามบินถึงโรงแรมที่พักและแหล่งท่องที่ยว ทุกอย่างต้องจบที่ตม.สนามบิน นายกรัฐมนตรีริเริ่มให้มี "ถนนคนเดิน"อย่างคึกคัก ต้องช่วยหาบเร่ 3 แสนคนในกทม.ให้เขามีที่ทำมาหากิน เปิดแผงลอย เปิดโอกาสให้ชาวบ้านทำมาหากินได้ รัฐบาลต้องคิด"ก๊อก" ต่างๆ ให้เงินไหลออกมาเติมกระเป๋าของประชาชน เติมเงินให้ แต่บ้านเมืองต้องสวยงามด้วย จัดระเบียบ"สตรีทฟู้ด" ที่นักท่องเที่ยวอยากมากินและแนะพวกเขาให้รู้จักสร้งแอพฯขายออนไลน์ ไม่ใช่ใครๆ ก็ไปแต่7/11 และบิ๊กซี ในจังหวัดท่องเที่ยวควรผ่อนผันขยายเวลาการกินเหล้าถึงเที่ยงคืน

ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนคสช.เพราะโครงการรถคันแรก บ้านหลังแรก ปัจจุบัน ระดับหนี้ครัวเรือนยังสูงอยู่จริง แต่อัตราเร่งของหนี้ครัวเรือนหยุดแล้ว เพราะโครงการรถคันแรกจบแล้ว แต่ต้องระวังการปล่อยกู้ของสหกรณ์ต่างๆที่สำคัญคือ ต้องหาทางป้องกันและกำจัดฝุ่นพีเอ็ม2.5 โดยเฉพาะที่เมืองท่องเที่ยว เช่นเชียงใหม่ กทม เพื่อเตรียมรับเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง

โครงการ อีอีซี. เป็นโอกาสสำคัญ โดยมีโรงงานประมาณ6-7 พันแห่ง โครงการนี้ต่อไปจะกระจายไปยังภาคต่งๆ ที่สำคัญคือการผลิตบุคลากรอาชีวะให้ทัน ต่อไปหากไทยสามารถสร้าง"คลองไทย" หรือเปิด"ท่าเรือส่งออกฝั่งทะเลอันดามัน" เช่นที่ระนองได้ จะช่วยย่นระยะทางได้มากกว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งออกของไทยจะคึกคักมากขึ้น

เศรษฐกิจของไทยมีโอกาสมากกว่าที่คิดไว้ เพียงแต่นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องร่วมมือกันและคิดถึง "ชาติบ้านเมือง" มากกว่า "การเมือง"

********************************