posttoday

อินเดียวันนี้ (18)

22 มกราคม 2563

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

**********************************

การเสียชีวิตของสุนัขไลก้า นักบินอวกาศวลาดิเมียร์ โคโมรอฟ จากการระเบิดของยานโซยุส 1 และการเสียชีวิตของยูริ กาการิน สะท้อนถึงจุดอ่อนของระบอบเผด็จการ เพราะระบอบที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้นำสูงสุดเช่นระบอบของสหภาพโซเวียต อาจทำให้สามารถสั่งการได้ “อย่างทันอกทันใจ” จนได้ผลเป็นความสำเร็จที่ “งดงาม” แต่ระบอบเช่นนั้นมีจุดอ่อนในตัวเองและก็เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตที่ไม่สมควร ในที่สุดระบอบดังกล่าวก็ล่มสลายลงไป

การกำหนดเป้าหมายที่จะส่งสุนัขไลก้าออกสู่อวกาศให้ทันวันครบรอบ 40 ปี ของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ทำให้มีเวลาไม่ถึง 4 สัปดาห์ในการออกแบบและสร้างยานอวกาศที่ดีและปลอดภัยเพียงพอ แม้จะมีการสั่งสมความรู้ล่วงหน้ามายาวนานพอสมควร ในที่สุดสุนัขไลก้าก็ตายเพราะระบบควบคุมอุณหภูมิล้มเหลว ทำให้ความร้อนขึ้นสูงเกินกว่าที่สุนัขจะทนทานได้

การระเบิดของยานโซยุส 1 คร่าชีวิตของวลาดิเมียร์ โคโมรอฟก็เกิดเพราะระบบความปลอดภัยที่ไม่พอเพียง แม้ยูริ กาการิน จะประท้วงแล้วก็ตาม และยูริ กาการิน ก็จบชีวิตลงเพราะความสะเพร่าของเจ้าหน้าที่เทคนิคภาคพื้นดิน ทำให้ยอดนักบินอวกาศต้องจบชีวิตโดยไม่สมควรในวัยเพียง 34 ปี

อันที่จริง งานบุกเบิกอวกาศเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง อุบัติเหตุจากเหตุสุดวิสัยย่อมเกิดขึ้นได้ เช่นกรณีของยานอพอลโล 13 และการระเบิดของยานชานเลนเจอร์ ขององค์การนาซ่าของสหรัฐ แต่กรณีเหล่านั้น เป็นเหตุสุดวิสัยที่ย่อมเกิดขึ้นได้ และเป็นที่ยอมรับได้ในวงการวิทยาศาสตร์ ต่างจากกรณีการเสียชีวิตของไลก้า โคโมรอฟ และกาการิน

และเป็นความงดงามที่ในการลงเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของโครงการอพอลโล 11 นีล อาร์มสตรอง และเอดวิน อัลดริน ได้ทิ้งกระเป๋าที่ระลึกไว้บนดวงจันทร์ที่ในกระเป๋ามีเหรียญที่ระลึกถึงยูริ กาการิน และวลาดิเมียร์ โคโมรอฟไว้ด้วย เมื่อ พ.ศ. 2512 ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ในโครงการอพอลโล 15 มนุษย์อวกาศเดวิด สกอตต์ และ เจมส์ เออร์วิน ก็ได้ทิ้งรูปปั้นเล็กๆ ของนักบินอวกาศที่สละชีพ (Fallen astronauts) ทั้งของอเมริกันและสหภาพโซเวียต ในการแข่งขันด้านอวกาศของทั้งสองชาติ รวม 15 คน หนึ่งในจำนวนนั้น คือ ยูริ กาการิน

ในสหภาพโซเวียต 6 วันหลังส่งยานสปุตนิก 2 ออกไปเฉลิมฉลองวันครบรอบ 40 ปี ของการปฏิวัติเดินตุลาคม นายกรัฐมนตรีนิกิตา ครุสเชฟ ได้กล่าวในการแสดงสุนทรพจน์ครั้งหนึ่งว่า “บัดนี้ ยานสปุตนิกลำแรกของเรามิได้โดดเดี่ยวในการท่องอวกาศแล้ว” (Now our first Sputnik is not lonely in its space travels.”

ช่วงนั้น ผู้นำสหรัฐคือประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ แม่ทัพใหญ่ที่นำทัพสัมพันธมิตรกำชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว ไอเซนฮาวร์ได้ตั้งคณะทำงาน “ไกเธอร์” (Gaither Committee) มีโรวัน ไกเธอร์ (Rowan Gaither) เป็นประธานคนแรก ได้วางยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศจากอาวุธนิวเคลียร์มาก่อนแล้ว เห็นจุดอ่อน และจุดที่ต้องแก้ไข โดยคณะทำงานได้เสนอรายงานต่อไอเซนฮาวร์เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2500 วันเดียวกับวันเฉลิมฉลอง 40 ปี การปฏิวัติเดือนตุลาคม ของสหภาพโซเวียต และทั่วโลกกำลังตื่นเต้นกับสุนัขไลก้าในอวกาศ รายงานยอมรับความล้าหลังทางเทคโนโลยีของสหรัฐ และเสนอให้เพิ่มงบประมาณทางทหาร 50%

ไอเซนฮาวร์แตกต่างจากประธานาธิบดีสหรัฐคนอื่นๆ ส่วนมาก เขามีท่าทีสงบ เหมือนเมื่อยาน สปุตนิก 1 สร้างความตื่นตะลึงให้แก่คนอเมริกัน ทีมงานคนหนึ่งของไอเซนฮาวร์เล่าว่า “สิ่งที่ท่านประธานาธิบดีสนใจอย่างยิ่งคือ จะต้องนำพาประเทศมิให้วิ่งไปเหมือนหมูป่าตามแผนที่โง่เขลาและราคาแพง” สิ่งที่ไอเซนฮาวร์ตัดสินใจ คือ มุ่งลงทุนสร้างที่หลบภัยจากอาวุธนิวเคลียร์

คณะทำงานไกเธอร์ตั้งขึ้นตั้งแต่ก่อนยานสปุตนิก 1 ออกไปโคจรในอวกาศ และไอเซนฮาวร์ก็ไม่ตื่นตระหนกกับความล้าหลังหลายขุมของสหรัฐ จนเคนเนดี้นำไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะส่งมนุษย์อวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ และกลับมาได้อย่างปลอดภัยภายในสิบปี และทำได้สำเร็จ

กลับมาด้านอินเดีย หลังได้เอกราชเมื่อ พ.ศ. 2490 ประเทศซึ่งพื้นฐานยากจนมาก และเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้ง เอกราชได้มาพร้อมกับประเทศต้องแตกเป็น 2 เสี่ยง คือ อินเดีย และปากีสถาน ตามมาด้วยการจลาจลทางศาสนา ทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันและล้มตายไปมากมาย แม้แต่มหาตมะคานธีก็ถูกลอบสังหาร

นอกจากเอกราชแล้ว แนวทางการสร้างชาติของมหาตมะคานธี คือ การมุ่งพึ่งตนเองของชุมชนตามวิสัยทัศน์ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” แต่เนห์รูและปัญญาชนอินเดียจำนวนหนึ่ง เห็นต่างจากคานธี เช่น จัมเสตจี ทาทา และ ดร.วิกรม สารภัย ซึ่งเห็นว่าจะต้องสร้างอุตสาหกรรมขึ้นในประเทศจึงจะนำพาอินเดียให้พ้นจากความอดอยากยากจนได้

จอร์จ ออร์เวล วิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจนในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2472 ว่า “รัฐบาลอังกฤษระมัดระวังยิ่งนักว่าจะไม่ให้การศึกษาคนทั่วไป (ในอินเดีย) สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งการศึกษาสูงๆ แทบจะไร้ประโยชน์ ขอแค่ให้ทำงานเป็นลูกจ้างและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามคำสั่ง เป็นเสมียนของนักกฎหมาย และทำงานอื่นๆ ที่มิใช่งานกรรมาชีพก็พอ อังกฤษระวังมิให้มีการสอนวิชาชีพหรือวิชาอุตสาหกรรม กฎข้อนี้ที่บังคับใช้ทั่วทั้งอินเดีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันมิให้อินเดียกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะแข่งขันกับอังกฤษขึ้นมาได้ ...”

เมื่อจัมเสตจี ทาทา เดินทางไปสหรัฐ เพื่อซื้อเทคโนโลยีเหล็กกล้าเข้ามาอินเดีย ได้นั่งเรือไปพร้อมกับสวามี วิเวกนันทะ ปราชญ์ฮินดู ซึ่งได้รับเชิญไปร่วมประชุมสภาศาสนาโลก ครั้งเดียวกับที่อนาคาริกะธรรม ปาละ เป็นผู้แทนชาวพุทธไปร่วมประชุมด้วย สวามี วิเวกนันทะ เป็นคนวัย 30 เศษ แนะนำจัมเสตจี ทาทา วัย 50 เศษ ว่า การไปซื้อเทคโนโลยีจะต้องตระหนักว่า ทันทีที่ซื้อเทคโนโลยีนั้นจะเริ่มล้าสมัยเพราะเจ้าของเทคโนโลยีจะพัฒนาต่อ และเทคโนโลยีที่ซื้อมาจะใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เพราะมีความรู้ไม่พอ ทางแก้ก็คือจะต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งซื้อมาจากที่อื่นไม่ได้ แต่ต้องสร้างเอง แนวคิดอันเฉียบคมนี้ ทำให้จัมเสตจี ทาทา ตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินเดีย (Indian Institute of Science) ขึ้นในเวลาต่อมาซึ่งเป็น สถาบันวิจัยและพัฒนาและเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของอินเดียสืบมาจนทุกวันนี้ และยังตั้งสถาบันวิจัยพื้นฐาน ทาทา (Tata Fundamental Research Institute) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในโครงการอวกาศของรัฐบาลอินเดียสืบต่อมาด้วย

อินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเยาวหรลาล เนห์รู ไม่เพียงสร้างอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่เว้นแม้แต่วิทยาศาสตร์ชั้นสูงอย่างศาสตร์ด้านอวกาศ แม้อินเดียจะยากจนมาก เพราะเนห์รูมีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า “เพราะเรายากจน เราจึงไม่อาจที่จะไม่ทำการศึกษาวิจัย” (Because we are poor, we are not afford not to do research.)

เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2562 องค์การนาซ่าได้ประกาศว่าได้พบซากยานวิกรมของอินเดียที่ตกลงบนดวงจันทร์แล้ว โดยมีนักไอทีหนุ่มวัย 33 ปี จากเมืองเชนไนของอินเดีย คือ ศานมูคา สุพรามาเนียน เป็นคนแรกที่สามารถชี้จุดตกของยานวิกรม และมีการตรวจสอบยืนยันโดยองค์การนาซ่าในเวลาต่อมา

********************************************