posttoday

อินเดียวันนี้ (13)

18 ธันวาคม 2562

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

***********************************

ต่อจากโครงการจันทรายาน-2 อินเดียได้เตรียมโครงการต่อเนื่องไว้แล้ว คือ โครงการจันทรายาน-3 โดยเป็นโครงการร่วมกับองค์การอวกาศของญี่ปุ่น เป้าหมาย คือ การส่งยานลงสำรวจขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี พ.ศ. 2567 โดยอินเดียจะเป็นผู้รับผิดชอบสร้างยานที่ร่อนลงบนดวงจันทร์ ส่วนญี่ปุ่นจะเป็นผู้สร้างยานส่ง และรถสำรวจบนดวงจันทร์ (Rover)

พันธกิจ (Missions) ของโครงการจันทรายาน-3 คือ การสาธิตเทคโนโลยีการสำรวจชนิดใหม่เกี่ยวกับ ยานขนส่ง และความเป็นไปได้ในการสำรวจบริเวณขั้วดวงจันทร์ อุปกรณ์หรือภาระบรรทุก (Payloads) บนยานที่จะร่อนลงบนดวงจันทร์จะมีน้ำหนักเกือบ 500 ก.ก. รถสำรวจจะเจาะเข้าไปในผิวดวงจันทร์ลึกราว 1.5 เมตร โดยจะนำตัวอย่างเหล่านั้นมาวิเคราะห์

หัวใจสำคัญของโครงการขั้นที่สามนี้คือ จะนำตัวอย่างเหล่านี้กลับจากดวงจันทร์มาวิเคราะห์ในโลก

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 มีแถลงการณ์ร่วมระหว่างองค์การวิจัยอวกาศอินเดียกับของญี่ปุ่นอภิปรายถึงความเป็นไปได้ที่จะมีความร่วมมือจากองค์การนาซ่าของสหรัฐด้วย

การที่โครงการยานจันทรา-2 ไม่สามารถส่งยานสำรวจร่อนลงบนดวงจันทร์ได้ตามเป้าหมาย องค์การวิจัยอวกาศอินเดียจึงมีโจทย์ใหญ่ที่จะต้องตอบให้ได้ในเรื่องนี้ในการเตรียมการสำหรับยานจันทรา-3 ต่อไป

ความสำเร็จของอินเดียนับว่ายิ่งใหญ่สำหรับชาติที่ยังยากจนและล้าหลังอย่างอินเดีย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับชาติที่ยิ่งใหญ่ และร่ำรวยทั้งทรัพยากรและนักวิทยาศาสตร์อย่างสหรัฐ และมหาอำนาจใหม่อย่างจีน

สำหรับสหรัฐ ไม่เพียงส่งยานลงสำรวจบนผิวดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่สามารถส่งมนุษย์ลงไปเดินบนดวงจันทร์ได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2512 เวลา 02.56 น. ตามมาตรฐานกรีนิช ในโครงการอพอลโล 11 โดยยานอีเกิลสามารถร่อนลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม เวลา 20.17 น. และ นีล อาร์มสตรอง เป็นมนุษย์อวกาศคนแรกที่ลงเหยียบบนดวงจันทร์หลังจากนั้น 6 ชั่วโมง 39 นาที

เอดวิน อัลดริน เป็นมนุษย์อวกาศคนที่สอง ที่ลงเหยียบบนดวงจันทร์หลังนีล อาร์มสตรอง 19 นาที ทั้งสองใช้เวลาปฏิบัติภารกิจนอกยานอีเกิลราว 2 ชม. 15 นาที เก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์ น้ำหนักราว 21.5 กก. กลับมาศึกษาวิเคราะห์บนโลกได้อย่างปลอดภัย โดยทั้งคู่กลับสู่ยานโคลัมเบียที่ไมเคิล คอลลินส์ ขับเคลื่อนโคจรรอบดวงจันทร์ และเดินทางกลับสู่โลกเป็นข่าวใหญ่แห่งศตวรรษ

นีล อาร์มสตรอง และ เอดวิน อัลดริน ใช้เวลาปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ทั้งสิ้น 21 ชม. 36 นาที บนอาณาบริเวณที่พวกเขาตั้งชื่อว่า “ฐานแห่งความสงบ” (Tranquility Base)

ยานอพอลโล 11 ถูกยิงขึ้นโดยจรวดแซทเทิร์น-5 ในมลรัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 13.32 น. เป็นโครงการที่ 5 ที่มีมนุษย์อวกาศขึ้นปฏิบัติการด้วยตามโครงการอพอลโล ยานโคจรรอบโลกเป็นเวลา 3 วันก่อนเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ นีล อาร์มสตรอง และ เอดวิน อัลดริน เคลื่อนย้ายจากยานบังคับ ( Command module) ซึ่งมีห้องเคบินสำหรับมนุษย์อวกาศ รวม 3 คน เข้าไปสู่ยานอีเกิลเพื่อร่อนลงสู่ดวงจันทร์ และยานอิเกิลนี้เองที่ทั้งสองใช้บินกลับมาสู่ยานบังคับก่อนปล่อยยานอีเกิลทิ้ง แล้วกลับสู่โลกโดยยานโคลัมเบีย ซึ่งโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว 30 รอบ ยานที่นำพามนุษย์อวกาศทั้งสามกลับสู่โลก ตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม รวมเวลาปฏิบัติการในอวกาศมากกว่า 8 วัน

วาทะอมตะที่ดังกึกก้องไปทั่วโลก และยังเป็นที่จดจำทุกวันนี้คือ คำกล่าวของนีล อาร์มสตรอง ที่ว่า “ก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่งของมนุษย์ ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ชาติ” “one small step for (a) man, one giant leap for mankind.”

ความสำเร็จของโครงการอพอลโล 11 เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ขององค์การอวกาศของสหรัฐ คือ นาซ่า ที่ก่อนหน้านั้นยัง “ล้าหลัง” รัสเซีย “หลายขุม”

เริ่มจากรัสเซียสามารถส่งยานอวกาศลำแรก คือ ยานสปุตนิก ออกไปโคจรรอบโลก ส่งเสียงสัญญาณวิทยุ “เย้ย”สหรัฐระหว่างการโคจรรอบโลก ทำให้สหรัฐตกตะลึง และตั้งคำถามว่าระบบการศึกษาของตนซึ่งเดินตามปรัชญาการศึกษาของจอห์น ดิวอี้ นั้นผิดหรือเปล่า เพราะมุ่งเน้นพัฒนาการ 4 ด้าน คู่ขนานกันไป คือ (1) พัฒนาการด้านร่างกาย (Physical development) (2) พัฒนาการด้านจิตใจ (Emotional Development) (3) พัฒนาการด้านปัญญา (Mental development) และ (4) พัฒนาการทางสังคม (Social Development) คำถาม คือ พัฒนาการ 4 ด้าน คู่ขนานกันทำให้พัฒนาการด้านปัญญาตามไม่ทันรัสเซียหรือไม่

ระหว่างถกเถียงกันยังไม่จบ สหภาพโซเวียตก็สร้างข่าวใหญ่ตามมาคือ การส่งสิ่งมีชีวิต คือ สุนัขไลก้าขึ้นไปกับยานอวกาศ และตามมาด้วยการส่งมนุษย์อวกาศคนแรก คือ ยูริ กาการิน ออกไปสู่อวกาศและกลับสู่โลกโดยปลอดภัย

เป็นอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้ ที่สามารถปลุกขวัญกำลังใจให้แก่คนอเมริกันให้ตั้งหน้าพัฒนางานด้านอวกาศต่อไป ด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2504 ว่า สิ่งที่จะต้องทำให้สำเร็จคือ “ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ จะต้องส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ และกลับสู่โลกโดยปลอดภัย” (before this decade is out, of landing a man on the Moon and returning him safely to the Earth.)

สหรัฐปฏิบัติภารกิจนี้สำเร็จอย่างงดงามก่อนเวลาที่กำหนดไว้เสียอีก ศูนย์อวกาศที่แหลมคานาเวอราลก็เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์อวกาศเคนเนดี”

หลังจากนั้นไม่นาน โครงการอพอลโล 12 ก็ทยานสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2512 เพียง 4 เดือน หลังโครงการอพอลโล 11 ชาร์ล คอนราด และ อลัน บีน สามารถลงเหยียบดวงจันทร์ได้ตามเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ปฏิบัติการบนดวงจันทร์รวม 1 วัน กับ 7 ชม. โดยยานอินเทรปพิด (Intrepid) กลับมาสู่ยานที่ริชาร์ด กอร์ดอน ขับโคจรรอบดวงจันทร์ รวม 45 รอบ และกลับสู่โลกได้โดยปลอดภัยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน รวมเวลาปฏิบัติการทั้งสิ้น 10 วัน 4 ชม. 36 นาที 24 วินาที

แต่ดังบทกวีของรพินทรนาถ ฐากูร ที่ว่า “มีด้วยหรือก้าวไปไม่สดุด...” โครงการอพอลโล 13 ล้มเหลว เคราะห์ดีที่มนุษย์อวกาศ ทั้ง 3 คน กลับสู่โลกได้โดยปลอดภัย

********************************