posttoday

สันติภาพชายแดนใต้: การพูดคุยจะไปทางไหน

13 ธันวาคม 2562

โคทม อารียา

โดย...โคทม อารียา

**************************************

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เข้ารับหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน คณะพูดคุยฯได้เปิดตัวและแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทสแห่งประเทศไทย (FCCT) ก่อนหน้านี้ การพูดคุยสันติภาพได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 โดยการลงนามในข้อตกลงที่จะให้มีการพูดคุยในกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยกับตัวแทนของบีอาร์เอ็น โดยมีตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนายความสะดวก

แรกทีเดียว หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลคือพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นคือฮัสซัน ตอยิบ หลังการรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลได้แต่งตั้ง พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย และมีการเปลี่ยนผู้ที่พูดคุยด้วยเป็นคณะบุคคลที่มาจากองค์กรที่เห็นต่าง 5 องค์กร และมีชื่อเรียกว่า มารา ปาตานี โดยมี อาวัง ยาบะ เป็นประธาน และ สุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย

พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุย (ปี 2558-2561) ได้จัดพิมพ์และเผยแพร่รายงาน “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.: ความท้าทายของการต่อสู้ทางความคิดตามแนวทางสันติวิธีในทัศนะของผู้ปฏิบัติงานจริง (ห้วงปี 2558-2561)” มีใจความโดยสรุป (ขึ้นหน้าปก) ว่า ปี 2558 กลุ่มขบวนการ 6 กลุ่มตอบรับเข้าร่วมการพูดคุย ปี 2559 จัดตั้งคณะทำงานทางเทคนิคร่วม ปี 2560 บรรลุข้อตกลงเรื่อง TOR (ว่าด้วยการดำเนินการด้านบริหารจัดการ หรือ administrative arrangements สำหรับกระบวนการพุดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย) ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นกติกาในการพูดคุยแล้ว ยังให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการที่จะจัดตั้งคณะทำงานทางเทคนิคร่วม ปี 2561 เห็นชอบพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง (ได้แก่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส)

พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 และดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562

ตั้งแต่ต้นปี 2556 ถึงปลายปี 2562 ก็สรุปผลการพูดคุยได้ดังกล่าวข้างต้น เมื่อมีหัวหน้าคณะคนใหม่ ก็มีแนวทางใหม่และความหวังขึ้นมาอีก ในการแถลงข่าว พล.อ.วัลลภ ยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่มุ่งมั่นและจริงจังต่อการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ... พร้อมพิจารณาตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อข้อเสนอของผู้เห็นต่าง ... (และ) ประสงค์ที่จะขับเคลื่อนภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีกการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นภายในปี พ.ศ. 2563

หัวหน้าคณะพูดคุยฯกล่าวว่า ได้เข้ามาสานต่อภารกิจที่อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยฯ (พล.อ.อุดมชัย) ได้วางรากฐานไว้ เพื่อให้กระบวนการยั่งยืน บนพื้นฐานของการให้เกียรติ ความจริงใจ และความสมัครใจ ก่อนหน้านี้มีข่าวในทำนองว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้พยายามติดต่อกับผู้นำของบีอาร์เอ็นบางคนที่มีบทบาทในการควบคุมกำลังในพื้นที่ เพื่อให้มาร่วมการพูดคุย มีข่าวแม้กระทั่งว่าได้ขอให้ผู้อำนวยความสะดวกช่วยในการติดต่อด้วย

ดังนั้น คำกล่าวข้างต้นของ พล.อ.วัลลภ ในเรื่องความสมัครใจ น่าจะเป็นการยืนยันว่า จะไม่มีการขู่หรือบีบบังคับให้ผู้นำบีอาร์เอ็นที่ไม่สมัครใจมาเข้าร่วมการพุดคุย ในระหว่างการแถลงข่าว มีผู้ตั้งคำถามว่า ฝ่ายผู้เห็นต่างที่จะมาพุดคุยเป็นใครบ้าง ทั้งนี้ หัวหน้าคณะพูดคุยของมารา ปาตานีได้ลาออกไปแล้ว และมารา ปาตานีได้เคยประกาศว่าจะพักการพูดคุยไว้จนหลังการเลือกตั้ง การเลือกตั้งได้ผ่านไปนานแล้ว มารา ปาตานีพร้อมจะพูดคุยหรือยัง ในเรื่องนี้ พล.อ.วัลลภ ตอบว่า กำลังขอให้ผู้อำนวยความสะดวกช่วยประสานงานและกำลังรอฟังผลอยู่

ผมมีข้อติดใจเรื่องความต่อเนื่อง ถ้าบอกว่าการพูดคุยฯเป็นวาระแห่งชาติ ไม่น่าจะมีความหมายเพียงว่า จะมีการแต่งตั้งคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อเนื่องไม่ทิ้งว่าง หากควรพิจารณาประเด็นที่ค้างมาจากการพุดคุยฯ ครั้งก่อน ๆ ด้วย ผมเคยถาม พล.อ.อักษรา ว่า ที่พล.ท.ภราดร รับที่จะนำบางประเด็นใน 5 ประเด็นของบีอาร์เอ็นมาเป็นหัวข้อการพูดคุย คณะของ พล.อ.อักษรา จะรับไว้พูดคุยบ้างไหม ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่” หรือยังไม่ถึงเวลา หรือคณะที่มาคุยด้วยเปลี่ยนเป็นมารา ปาตานีแล้ว

ผมเคยถาม พล.อ.อุดมชัย ว่าจะสานต่อทั้งเรื่อง TOR ที่ให้ตั้งคณะทำงานทางเทคนิคร่วม และเรื่องพื้นที่ปลอดภัยต่อจากคณะของพลเอกอักษราไหม ผมได้คำตอบในทำนองว่า เรื่องพื้นที่ปลอดภัยเป็นกระบวนการสร้างความไว้วางใจ ตอนนี้น่าจะพูดเรื่องเนื้อหาได้บ้างแล้ว ผมแอบถามฝ่ายความมั่นคงบางคนว่า น่าเสียดายที่ว่า กว่าจะได้กรอบแนวความคิด/ความร่วมมือในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยที่ร่างร่วมกับมารา ปาตานี ก็ใช้เวลาแรมปี และมาติดขัดเรื่องการลงนามที่ฝ่ายรัฐบาลไม่อยากทำเพราะเกรงว่าจะเป็นการให้การยอมรับแก่มารา ปาตานี ที่จะนำการยอมรับนี้ไปขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศต่อไปนั้น

ทั้งนี้ถ้าจะทิ้งกรอบแนวคิดดังกล่าวไปเลยก็น่าเสียดายมาก ผมได้คำตอบในเชิงแบ่งรับแบ่งสู้ว่า อาจมีการพิจารณาเรื่องพื้นที่ปลอดภัยต่อไปในบางรูปแบบ และอาจมีการผ่อนผัน ไม่เครียดกับเรื่องการลงนามหรือการให้การยอมรับจนเกินไป ผมถือว่านี่เป็นข่าวที่ดี

พล.อ.วัลลภ ยังกล่าวในการแถลงข่าวว่า พร้อมที่จะพุดคุยกับทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ทั้งในและต่างประเทศ และพร้อมที่จะประสานการทำงานกับประชาคมระหว่างประเทศ เรื่องนี้หมายความหรือไม่ว่า รัฐบาลได้คลายความกังวลในเรื่องที่องค์กรระหว่างประเทศจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้การยอมรับร่วมกันว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายใน มิตรประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นมิตรย่อมช่วยในการคลี่คลายความขัดแย้งได้โดยเคารพอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย

พล.อ.วัลลภ ยังกล่าวถึงการประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคประชาชนและภาควิชาการ ผมสังเกตว่าในระหว่างการแถลงข่าว ดูเหมือนจะมีคำถามหลายข้อ ที่อาจเป็นคำถามที่ฝ่ายผู้เห็นต่างฝากมาถาม ผมเลยมีคำถามว่า ฝ่ายรัฐบาลพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ ที่เรียกกันว่าพื้นที่ร่วม หรือ common space ให้ฝ่ายผู้เห็นต่างที่ไม่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ใช้กำลัง มาใช้เป็นพื้นที่การแสดงออกถึงความคับข้องใจหรือข้อเรียกร้องต่าง ๆ หรือไม่ ผมทราบดีว่ามีคณะประสานงานระดับพื้นที่ มีหน้าที่สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุย

แต่ที่ผ่านมา การประสานระดับพื้นที่คล้ายจะเป็นการประชาสัมพันธ์ของฝ่ายความมั่นคงมากกว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ร่วมดังกล่าว ในการส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ร่วม ถ้าภาคประชาสังคมจะจัดให้มีการถกแถลงที่เปิดกว้าง ฝ่ายความมั่นคงจะเข้าร่วมได้หรือไม่ ถ้าเข้าร่วมได้และด้วยความจริงใจ ก็อาจช่วยลดความหวาดระแวงที่มีต่อกัน ที่สำคัญ อย่าให้ฝ่ายที่เห็นต่างที่พร้อมจะต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรง กลับไปได้ข้อสรุปว่า ใช้สันติวิธีไม่ได้ผล และการ “เปิดพื้นที่” กลายเป็นการลวงให้ผู้เห็นต่างดังกล่าวเปิดเผยตน