posttoday

ข้อคิดเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุง “การเกณฑ์ทหาร”

06 ธันวาคม 2562

ไชยันต์ ไชยพร

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

***************************************

สมัยผมเรียนมัธยมปลาย ผมมีสิทธิ์เรียนรักษาดินแดน (ร.ด.) แต่ผมขี้เกียจเรียน พ่อแม่ผมก็ไม่ว่าอะไร และถามผมว่า ถ้าไม่เรียน แล้วถึงเวลาต้องไปเกณฑ์ทหารแกจะทำยังไง ? ผมก็ตอบไปว่า ก็ไม่เป็นไร เกณฑ์ก็เกณฑ์ (ตอบส่งๆไป เพราะยังอีกนานกว่าจะอายุเข้าเกณฑ์การเกณฑ์ทหาร) ส่วนเพื่อนผมบางคนไม่ได้เรียนรักษาดินแดน เพราะ"พิการ ทุพพลภาพ หรือ มีโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้” เช่น คนหนึ่งมือแป (มือหงิกข้างหนึ่ง เป็นผลมาจากการช่วงตอนคลอด) ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นโรคเลือดอะไรสักอย่าง ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 4 (6) ในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ที่ให้บุคคลดังกล่าว "พ้นราชการทหารประเภทที่" หมายความว่า ทหารซึ่งถูกปลดโดยที่ได้รับราชการในชั้นต่าง ๆ จนครบกำหนด หรือโดยที่พิการทุพพลภาพ หรือมีโรคซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ในระหว่างรับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้"

เพื่อนบางคนนอกจากเรียน ร.ด. สามปีแล้ว ยังสมัครใจเรียนต่อไปอีกจนครบห้าปี ถามว่า เรียนต่อไปทำไม เขาก็บอกแค่ว่า เขาชอบ ส่วนเพื่อนๆส่วนใหญ่เรียนสามปีก็พอ เพราะถือว่าไม่ต้องไปเกณฑ์ทหารแล้ว ส่วนผมเมื่ออายุถึงเกณฑ์ทหาร ก็ขอผ่อนผันตาม พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ไม่ว่าจะขณะที่เรียนปริญญาตรี หรือเรียนอยู่ต่างประเทศจนจบกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ ก็ไม่ต้องเกณฑ์ทหารตาม พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497

เพื่อนส่วนใหญ่ที่เรียน ร.ด. ก็มีทั้งที่ไม่มีความสุขกับประเภทที่ตอนแรกไม่พอใจแต่ตอนหลังดีใจที่มีประสบการณ์ มักจะมาคุยว่าได้มีโอกาสรู้จักการใช้อาวุธ และทดสอบสภาพความแข็งแกร่งของร่างกายที่บางคนนึกว่าแน่ แต่กลับสู้คนที่ดูไม่แน่แต่กลับแน่กว่า เป็นต้น ส่วนคนที่ไม่ชอบก็คือไม่ชอบ แต่ถ้าไมชอบ ร.ด. ก็น่าจะยิ่งไม่ชอบถูกเกณฑ์ทหารแน่นอน ดังนั้น ถ้ายังไงก็ต้องเจอ “นรก” แต่ยังมีโอกาสเลือก ก็คงต้องเลือก “นรก” ชั้นที่อ่อนที่สุด นั่นคือ “เลือก” เรียน ร.ด.

เพื่อนผมที่ไม่ชอบเรียน ร.ด. และไม่อยากถูกเกณฑ์ทหาร ไม่มีใครมีเหตุผลเรื่องต้องช่วยพ่อแม่ที่ “ไร้ความสามารถหรือพิการทุพพลภาพ หรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู” หรือตัวเองมีลูก และเมียตาย ไม่มีใครเลี้ยงลูก (ดู พ.ร.บ. รับราชการทหาร2497 มาตรา29 [1] [2]) แต่ผมคิดว่าคนอื่นในประเทศน่าจะมีที่เข้าข่ายมีปัญหานี้ ซึ่ง พ.ร.บ. ฯก็เปิดช่องให้ขอผ่อนผัน แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อ “มีจำนวนทหารกองเกินที่จะรับราชการเป็นทหารกองประจำการได้มากกว่าจำนวนที่ฝ่ายทหารต้องการ” (มาตรา 29 นั่นแหละ) แต่ปัญหาคือ ถ้าไม่มีทหารกองเกินมากพอ คนที่มีพ่อแม่ต้องเลี้ยงดูหรือมีลูกแต่ขาดแม่เลี้ยงดู จะทำยังไงกับคนที่มีปัญหาที่ว่า ? ส่วนเรื่องจะหวังไปลุ้นจับใบดำใบแดงนั้นก็ใช่ว่าจะได้ลุ้น เพราะคนที่จะมีสิทธิ์จับใบดำใบแดง ก็จะต้องอยู่ในเงื่อนที่ “มีคนเกินกว่าจำนวนที่ทางทหารต้องการ” ถ้ามีไม่พอ ถึงจะมีสิทธิ์ลุ้นจับใบดำใบแดง

ดังนั้น ในแง่นี้ ควรมีการแก้ไข โดยไม่ต้องรอให้มีคนเกินกว่าจำนวนที่ต้องการ และควรผ่อนผันให้

หลังจากที่ผมจบปริญญาตรีไปเรียนต่อโทและเอก ผมก็อาศัยผ่อนผันตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่ภายหลังผมมาทราบว่า มันมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เพราะคนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศจะได้รับการผ่อนผันยาวนานกว่าคนที่เรียนต่อภายใต้ประเทศ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีเหตุผลอะไรถึงให้คนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศมีสิทธิ์ที่เหนือว่าคนที่เรียนต่อภายในประเทศ สิทธิ์ที่เหนือกว่านี้ คงต้องเรียกว่า “อภิสิทธิ์” เพราะคำว่า “อภิ” หมายถึง “ยิ่ง, วิเศษ, เหนือ”

ที่ผมมารู้ถึงความเหลื่อมล้ำนี้ ก็เพราะไม่นานมานี้ ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งไม่ได้เรียน ร.ด. และเมื่อเรียนจบปริญญาโทและกำลังจะต่อเอก มีหน่วยก้านทางวิชาการดี แต่ไม่สามารถขอผ่อนผันต่อได้ เพราะอายุที่เขาให้ผ่อนผันมันครบแล้ว ลูกศิษย์ผมเลยต้องไปเกณฑ์ทหารแล้วก็ค่อยกลับมาเรียนปริญญาเอก ตอนนี้จบเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไปแล้ว ดังนั้นในแง่นี้ ควรจะต้องมีการแก้ไข เช่น ยกเลิกอภิสิทธิ์ผ่อนผันคนเรียนต่อต่างประเทศไปเลย หรือไม่ก็ผ่อนผันให้เฉพาะคนที่ได้รับทุนไปเรียนหรือถ้าไปทุนตัวเอง จะได้รับการผ่อนผันก็ต่อเมื่อเป็นสาขาที่จำเป็นขาดแคลน เป็นต้น หรือไม่ก็ให้สิทธิ์ผ่อนผันแก่คนที่เรียนต่อภายในประเทศเท่าเทียมกับที่ไปเรียนต่างประเทศไปเลย

คนที่ไปเรียนต่อโทและ/หรือเอกต่างประเทศ มีทั้งที่เรียนเก่งมากได้ทุนหรือไปทุนตัวเอง อีกพวกหนึ่งคือเรียนไม่เก่งมากแต่รวย คนเรียนไม่เก่งมากและไม่รวยยากที่จะไปต่อต่างประเทศ และถ้าไม่ได้เรียน ร.ด. มา ก็ต้องไปเกณฑ์ทหาร

ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีอยู่เฉพาะเรื่องคนเรียนต่อในหรือต่างประเทศ แต่ความเหลื่อมล้ำมันมีอยู่ตั้งแต่การเรียน ร.ด. เพราะคนที่จะเรียน ร.ด. ได้นั้นจะต้อง “สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป และมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า1.00 และกำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเปิดทำการฝึกวิชาทหาร” ดังนั้น คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือต่อหรือเรียนแต่อยู่ในสถานศึกษาที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนไม่ได้เปิดทำการฝึกวิชาทหาร ก็จะกลายเป็นคนไม่มีสิทธิ์ไปเลย ต้องรอถูกเกณฑ์ทหารลูกเดียว

คนประเภทไหนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 และไม่ได้เรียนต่อในสถานศึกษาที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเปิดทำการฝึกวิชาทหาร หนึ่ง ฐานะครอบครัวทำให้ต้องออกไปทำงาน สอง ไม่เกี่ยวกับฐานะครอบครัว แต่จะด้วยผลการเรียนหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้ไปเรียนต่อในสถาบันการศึกษาที่ไม่เปิดทำการฝึกวิชาทหาร สอง ฐานะครอบครัวดี ส่งไปเรียนต่อเมืองนอก

แต่กระนั้น ล่าสุด ทราบว่า สถานศึกษาทุกแห่งที่มีการสอนในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ล้วนมีการเปิดทำการฝึกวิชาทหารทั้งสิ้น แต่ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นตามโรงเรียนอาชีวะก็คือ นักเรียนส่วนใหญ่ไม่สนใจลงทะเบียนเรียน และเมื่อสอบถามผู้บริหารโรงเรียนก็ได้คำตอบว่า เด็กไม่สนใจเรียนเอง เพราะขี้เกียจ รักสบายและเรื่องการจะต้องถูกเกณฑ์ทหารก็ไปตายเอาดาบหน้า

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยผมก็คือ ไม่ใช่ว่านักเรียนทุกคนจะได้เรียน ร.ด. เพราะทางหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเขาตั้งมาตรฐานการคัดสูงขึ้น นั่นคือ นักเรียนที่จะเข้าไปเรียน ร.ด. ได้จะต้องมีคุณสมบัติร่างการแข็งแรงตามเกณฑ์ ส่งผลให้มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยไม่ผ่าน โดยทางการให้เหตุผลไว้สองข้อคือ หนึ่ง ต้องการให้การฝึกวิชาทหารนั้นจริงๆจังๆมากขึ้น และสอง ทางการไม่มีงบพอที่จะให้นักเรียนทุกคนได้เรียน ส่งผลให้มีผู้ปกครองต้องพยายามวิ่งเต้นให้ลูกได้เข้าเรียน ร.ด. เพราะกลัวต้องไปเกณฑ์ทหาร ยิ่งกว่านั้น บางโรงเรียนถึงกับต้องมีการเตรียมความพร้อมทางร่างกายให้กับนักเรียนเพื่อจะได้ผ่านการคัดเลือกเข้าไปเรียน ร.ด. ได้

ส่วนคนที่ไม่ได้เรียน ร.ด. ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนประเภทนี้ ยังไงๆก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเกณฑ์ทหาร ในกรณีคนที่ฐานะไม่ดีเรียนต่อไม่ได้ ก็มีแนวโน้มจะมีปัญหาหากถูกเกณฑ์ทหาร เพราะฐานะไม่ดี ครอบครัวขาดคนช่วยทำมาหากิน ส่วนคนที่มีโอกาสเรียน แต่ขี้เกียจรักสบายก็ต้องไปหาทางเอาดาบหน้า ส่วนคนที่ฐานะดี แต่ไม่ได้เรียน ร.ด. เพราะไปเมืองนอก ก็คงต้องหาทางผ่อนผันไป ก็ไปเข้าข่ายคนมี “อภิสิทธิ์” อีก และเมื่อกลับมา หากอาชีพหรืออายุไม่เข้าข่ายไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ก็จะต้องหาทางต่างๆที่จะไม่ถูกเกณฑ์ บางคนก็ใช้เส้นสายเข้าไปรับราชการในกระทรวงกลาโหมเลย สักพักหนึ่งก็ลาออกมา หรือไปทำอาชีพที่ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

แต่ระยะหลังนี้ คนที่มีฐานะที่ไปเรียนต่อต่างประเทศไม่น้อยก็กลับมาเกณฑ์ทหาร หรือคนที่ไม่ได้ไปเรียนต่อ แม้มีฐานะดี เมื่อถึงอายุ ก็สมัครเข้าเป็นทหารไปเลยก็มี แต่คนที่ไม่อยากไปเกณฑ์ทหารในกลุ่มนี้ก็น่าจะได้แก่ คนจนๆที่ต้องทำมาหากินเป็นเสาหลักของครอบครัว หรือคนรวยที่ไม่ต้องเป็นเสาหลัก แต่ไม่ชอบความลำบาก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปทันที หากยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร และให้เป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่ถ้าให้เป็นเรื่องของความสมัครใจ ก็จะเกิดปัญหาที่ว่ากองกำลังอาจจะไม่พอตามที่ทางการกำหนดไว้ ดังนั้น ประเด็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาหารือร่วมกันก็คือ เกณฑ์จำนวนกองกำลังตั้งไว้สูงไปหรือพอดีหรือน้อยไป ถ้าสูงไปก็ลดลงมา แต่ถ้าลดลงมาแล้ว และคนที่สมัครใจจะเป็นทหารก็ยังไม่พอ จะทำยังไง ? อีกทั้งความมั่นคงในปัจจุบันคงไม่ใช่แค่เรื่องการป้องกันประเทศจากอริราชศัตรู แต่มันเป็นเรื่องของความเสี่ยงจากภัยที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรืออื่นๆ (สนใจโปรดดู เรื่องความเสี่ยงในสังคมสมัยใหม่ “ภัยพิบัติและการช่วยเหลือ : ทฤษฎีรัฐ “ตะมุตะมิ” กับทฤษฎี รัฐ ‘เยอะ’ในhttps://www.nationweekend.com/columnist/6/1221utm_source=bottom_relate&utm_medium=internal_referral) และเราสามารถเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีที่ผลิตเองในการแก้ไขภัยดังกล่าวได้หรือเรายังต้องอาศัย “กำลังคน” ในการเยียวยาแก้ปัญหาดังกล่าว ?

ถ้าจะให้สมัครใจและได้จำนวนเพียงพอ จะต้องมีแรงจูงใจสูงมากพอที่จะให้ดึงดูดคนให้ไปสมัครเอง แรงจูงใจสูงที่ว่านี้จะต้องสูงมากพอที่จะทำให้คิดว่ามันคุ้มที่จะไปเป็นทหารและมีอนาคตทางอาชีพการงาน ถ้าคิดถึงแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหารในอเมริกาแล้วจะพบว่า เมื่อเข้ามาเป็นทหารแล้ว จะมีโอกาสได้รับการฝึกอบรมเพื่อทำงานในด้านต่างๆมากมาย และไม่มีเพดานจำกัด (ดู https://m.goarmy.com/careers-and-jobs.html ที่เป็นทางการของกองทัพสหรัฐฯ ที่เขาประกาศไว้ว่า “you’ll have access to training for jobs in science, intelligence, combat, aviation, engineering, law and more. There’s no limit to what you can achieve.”) แล้วถ้าคลิกไปว่า เขามีการศึกษาอะไรให้ทหารได้เลือกเรียนต่อ ก็จะพบว่ามีเกือบทุกสาขาความรู้)

ดังนั้น การสมัครเป็นทหารก็เป็นให้โอกาสศึกษาต่อสำหรับคนไม่สามารถเรียนต่อได้เองเพราะขาดทุนรอน ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ผู้สมัครเข้าเป็นทหารจะได้ เขาก็ประกาศไว้ว่ากองทัพจะสนับสนุนการเงินเพื่อให้ทหารได้รับการศึกษา มีสวัสดิการสุขภาพเต็มรูปแบบ มีเวลาพักผ่อน มีการดูแลครอบครัวและกลุ่มสนับสนุนต่างๆ มีเงินพิเศษและเบี้ยเลี้ยงเป็นเงินสดที่ครอบคลุมค่าครองชีพ (The Army offers you money for education, comprehensive health care, generous vacation time, family services and support groups, special pay and cash allowances to cover the cost of living.)และสิทธิประโยชน์นี้เป็นสิทธิประโยชน์ตลอดชีวิต !

คำถามคือ ระหว่างระบบการเกณฑ์ทหารที่เป็นอยู่กับระบบความสมัครใจที่อาจจะมาแทนที่นั้น งบประมาณที่ต้องใช้ต่างกันมากน้อยแค่ไหน ? และเราสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อระบบสมัครใจได้อย่างมีประสิทธิภาพพอเพียงแค่ไหน ? (ขณะเดียวกัน การตั้งคำถามเกี่ยวกับงบลับด้านความมั่นคงของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง เพราะสังคมก็สงสัยอยู่ตลอดมาว่า ทำไมนายทหารระดับสูงบางคนถึงมีเงินทองมากมายขนาดนั้น)

แน่นอนว่า ระบบการเกณฑ์ทหารที่เป็นอยู่ขณะนี้ มีหลายอย่างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิ์ในการเรียน ร.ด. หรืออภิสิทธิ์ในการได้รับการผ่อนผันในขณะที่เรียนต่อต่างประเทศ

ระบบเกณฑ์ทหารของประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะเป็นระบบบังคับ แต่ก็มีกรณีสมัครใจคือ ในวันตรวจคัดเลือก ก็เดินหน้าสมัครไปเลย เมื่อคนประเภทนี้สมัครและมีจำนวนมากพอ ก็จะส่งผลให้คนที่ไม่สมัครใจ มีโอกาสจับใบดำใบแดง หรือขอผ่อนผันตามสาเหตุที่กำหนดไว้ เช่น ต้องดูแลพ่อแม่ ฯ แต่เราอาจแก้ไขปรับปรุงการเกณฑ์ทหารในอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ ยกเลิกการเรียน ร.ด. เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ และบังคับให้เกณฑ์ทหารทุกคนเพื่อความเสมอภาค แต่ถ้าบังคับทุกคน แล้วมันจำนวนมันมากเกินไป ไม่มีความจำเป็นหรืองบประมาณเพียงพอ ก็ให้เริ่มจากการสมัครใจว่าจะเข้ารับการฝึกในปีนี้หรือไม่ (แต่ยังไงๆก็จะต้องถูกเกณฑ์อยู่ดี) และต่อด้วยการจับใบดำใบแดง (คนบางคนถ้าจับได้ใบดำไปตลอดจนอายุที่จะเกินกำหนด ก็หมดสิทธิ์จับ และต้องเข้ารับการฝึก) และให้สิทธิ์ผ่อนผันกับคนที่มีความจำเป็นต้องเลี้ยงดูครอบครัว จนคลี่คลายแล้ว ก็จะต้องถูกเกณฑ์ทหารอยู่ดี

ข้อดีที่สำคัญประการหนึ่งที่บังคับเกณฑ์ทหารทุกคน คนรวย คนจน คนเรียนเก่ง ไม่เก่ง ฯลฯ ต่างเสมอภาคกัน และจากการกินนอนฝึกทหารด้วยกัน จากที่เคยหัวอกเดียวกัน ลำบากด้วยกัน กินอาหารเหมือนกัน ร่วมกันช่วยเหลือภัยธรรมชาติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเหล่านั้นไม่รู้สึกแบ่งแยกห่างเหินหลังจากกลับไปประกอบอาชีพการงานใช้ชีวิตตามฐานะครอบครัวที่แตกต่างกันไป และพร้อมที่จะกลับมาเจอกันทำงานร่วมกันในฐานะ “ทหารของชาติ” แก้ไขภัยพิบัติและภัยต่างๆที่คาดไม่ถึงในสังคมสมัยใหม่ การบังคับเกณฑ์ทหารอย่างถ้วนหน้า ยกเลิก ร.ด. อาจจะช่วยลดความแปลกแยกห่างเหินกัน เพราะทุกวันนี้ ต่างก็ “เหม็นสาบคนจน หมั่นไส้คนรวย”

แต่น่าคิดว่า ครอบครัวประเภทไหนในบ้านเราที่ที่ต้องการหรือไม่ต้องการให้ยกเลิก ร.ด. และให้มีการเกณฑ์ทหารอย่างเท่าเทียมกัน ? และครอบครัวประเภทไหนและคนประเภทไหนที่ต้องการให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและให้เป็นระบบสมัครใจ ? แต่ถ้าต้องการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเพราะไม่อยากให้คนถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ทหาร ก็คงไม่เกี่ยว เพราะคนจำนวนมากที่ผ่านการเกณฑ์ทหารก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ทหาร

แต่ที่ต้องระวังก็คือ หากให้เป็นระบบสมัครใจ ซึ่งหมายถึงว่า คนเหล่านั้นเป็นทหารอาชีพ ก็จะส่งผลที่แตกต่างจากทหารเกณฑ์ และระหว่างทหารอาชีพกับทหารเกณฑ์ ใครจะ “ดุ” กว่ากัน ? นักวิชาการเมืองนอกเขาศึกษาเรื่องนี้มาแล้ว และยืนยันว่า ทหารอาชีพดุกว่าทหารเกณฑ์(ดูhttps://harvardilj.org/wp-content/uploads/sites/15/2012/10/HLI203.pdf หน้า 302)(และผมเคยเขียนเรื่อง “การเกณฑ์ทหารกับประชาธิปไตย” ไว้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2558 สนใจโปรดดู https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/634498)