posttoday

อินเดียวันนี้ (11)

04 ธันวาคม 2562

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

********************************

ผลงานจากปฏิบัติการ 312 วัน ของยานจันทรา-1 สรุปได้ ดังนี้

ประการแรก อุปกรณ์สำรวจทำแผนที่แร่ธาตุบนดวงจันทร์ของยานจันทรา-1 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ผลิตโดยทุนสนับสนุนขององค์การนาซ่า ยืนยันสมมติฐานเรื่องมหาสมุทรแมกมา (magma ocean hypothesis) หรือ สมมติฐานมหาสมุทรหินหนืด ซึ่งหมายความว่า ครั้งหนึ่งดวงจันทร์มีสภาพหลอมละลายเป็นหินหนืด

ประการที่สอง กล้องถ่ายภาพทำแผนที่ภูมิประเทศ ซึ่งผลิตเองโดยอินเดีย นอกจากส่งภาพสามมิติกว่า 70,000 ภาพ แล้ว ยังส่งภาพตำแหน่งลงจอดของยานอพอลโล 15 ของสหรัฐด้วย

ประการที่สาม กล้องถ่ายภาพทำแผนที่ภูมิประเทศ และกล้องถ่ายภาพสำรวจแร่ธาตุของอินเดีย สามารถถ่ายภาพครอบคลุมร้อยละ 70 ของผิวดวงจันนทร์ ขณะที่อุปกรณ์ทำแผนที่แร่ธาตุบนดวงจันทร์ของนาซ่าครอบคลุมมากกว่า 95% และอุปกรณ์สเปคโทรมิเตอร์จากองค์การอวกาศสหภาพยุโรป (SIR-2) ให้ข้อมูลความคมชัดสูงของวิทยาแร่ธาตุบนดวงจันทร์

ประการที่สี่ องค์การวิจัยอวกาศอินเดียได้สรุปว่า สามารถได้ข้อมูลน่าสนใจบริเวณขั้วดวงจันทร์จากอุปกรณ์เครื่องเลเซอร์สำรวจดวงจันทร์ (LLRI) และสเปคโทรมิเตอร์ที่ใช้เอกซเรย์พลังงานสูง (HEX) ของอินเดีย และเครื่องเรดาร์สังเคราะห์ภาพขนาดเล็ก (Mini-SAR) ของสหรัฐ โดยอุปกรณ์ LLRI ให้ทั้งภาพขั้วดวงจันทร์ และพื้นที่โดยรอบ และอุปกรณ์ HEX โคจรรอบบริเวณขั้วดวงจันทร์ราว 200 รอบ ขณะที่อุปกรณ์ Mini-SAR ให้สภาพโดยสมบูรณ์ของทั้งขั้วเหนือและขั้วใต้ของดวงจันทร์

ประการที่ห้า อุปกรณ์สเปคโทรมิเตอร์อีกตัวหนึ่งของสหภาพยุโรป (C1X5) ตรวจพบโซลาร์แฟลร์ ชนิดอ่อน (weak solar flares) กว่า 2 โหล และอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีจากบัลกาเรีย (RADOM) สามารถ ทำงานได้จนสิ้นสุดภารกิจ

ประการที่หก ข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ บนยานจันทรา-1 สามารถนำไปศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ลมสุริยะ! (Solar wind) กับดาวเคราะห์อย่างดวงจันทร์ โดยปราศจากสนามแม่เหล็ก

ประการที่เจ็ด เครื่องสเปคโทรมิเตอร์บนยานสามารถถ่ายภาพแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ ไททาเนียม ยืนยันการมีอยู่ของแคลเซียม วัดปริมาณของแมกนีเซียม อลูมิเนียม และเหล็ก บนผิวดวงจันทร์ได้อย่างแม่นยำ

ประการที่แปด นักวิทยาศาสตร์ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดียและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมปฏิบัติการแสดงความพึงพอใจผลงานของยานจันทรา-1 ว่าให้ข้อมูลคุณภาพสูง พวกเขาเตรียมแผนประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์เพื่อสรุปผลเรื่อง ภูมิประเทศ แร่ธาตุ องค์ประกอบเคมี และอื่นๆ ของดวงจันทร์เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไป

การพบน้ำบนดวงจันทร์ เป็นการค้นพบสำคัญ และเป็นความหวังสำหรับการไปตั้งสถานีสำรวจบนดวงจันทร์ในอนาคต

ตามความเห็นของนักวิทยาศาสตร์แห่งองค์การอวกาศสหภาพยุโรป เห็นว่าฝุ่นหิน (regolith) ซึ่งประกอบเป็นผิวดวงจันทร์ดูดซับนิวเคลียสของไฮโดรเจนจากลมสุริยะ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนิวเคลียสของไฮโดรเจนกับออกซิเจนที่พบในฝุ่นหินดวงจันทร์ คาดว่าจะรวมตัวกันเป็นอนุมูลไฮดรอกซิล (OH- ) และน้ำ (H2O)

อุปกรณ์วิเคราะห์อะตอม (Sub keV Atom Reflecting Analyser : SARA) ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การอวกาศ และสหภาพยุโรปที่นำขึ้นไปบนยานจันทรา-1 ก็เพื่อศึกษาองค์ประกอบของผิวดวงจันทร์ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างลมสุริยะกับผิวดวงจันทร์ อุปกรณ์ SARA ได้เปิดเผยความลี้ลับบางประการจากปฏิบัติการครั้งนี้ นั่นคือ นิวเคลียสของไฮโดรเจนมิได้ถูกดูดซับทั้งหมด แต่ 1 ใน 5 จะสะท้อนกลับสู่อวกาศ แล้วรวมตัวกันเป็นอะตอมของไฮโดรเจน ไฮโดรเจนจะพุ่งออกไปด้วยความเร็วราว 200 กม/วินาที จึงสามารถหนีจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ ซึ่งมีแรงต่ำ ความรู้ใหม่นี้ได้มาทันเวลาสำหรับยานในโครงการ Bepicolombo ซึ่งเป็นโครงการสำรวจดาวพฤหัสบดี ยานดังกล่าวนำอุปกรณ์คล้ายคลึงกับอุปกรณ์ SARA ขึ้นไปด้วย 2 ชิ้น

ยานจันทรา-1 ได้ถ่ายภาพลำธารขนาดเล็กบนผิวดวงจันทร์ ซึ่งเกิดขึ้นจากธารลาวา มีช่วงหนึ่งเป็นอุโมงค์ลาวาลักษณะเป็นถ้ำ อยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดวงจันทร์ เป็นปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้วความยาวราว 2 กม. กว้าง 360 เมตร เอ.เอส.อารยา นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ประยุกต์อวกาศ (Space Application Center : SAC) ที่อาเมห์ดาบัดเสนอว่า ถ้ำนี้อาจใช้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์

ก่อนหน้านี้ยาน “ดวงจันทร์” (SELENE) หรือ “กางุยะ” (Kaguya) ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นยานโคจรรอบดวงจันทร์ของญี่ปุ่น ก็พบหลักฐานว่ามีถ้ำบนดวงจันทร์

อุปกรณ์บนยานจันทรา-1 ยังพบหลักฐานการเปลี่ยนแปลงบนผิวดวงจันทร์ (Tectonic activity)

โครงการยานจันทรา-1 ได้รับรางวัลจากสถาบันศาสตร์การบินและศาสตร์อวกาศอเมริกัน (American Institute of Aeronautics and Astronautics : AIAA) ในการมอบรางวัลประจำปี 2552 (AIAA Space 2009 Awards) ในฐานะผู้สร้างคุณูปการสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีอวกาศ

คณะทำงานสำรวจดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Exploration Working Group) ได้มอบรางวัลความร่วมมือนานาชาติ (International Cooperation Award) แก่ทีมงานโครงการจันทรายาน-1 เมื่อ พ.ศ. 2551 ที่ได้ความร่วมมือจาก 20 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย สหรัฐ บัลกาเรีย และ สหภาพยุโรป 17 ประเทศ และสมาคมอวกาศแห่งชาติ (National Space Society) ในสหรัฐได้มอบรางวัลผู้บุกเบิกอวกาศ (Space Pioneer Award) แก่องค์การวิจัยอวกาศอินเดียในปี 2552 ในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม

โครงการจันทรายาน-1 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3860 ล้านรูปี หรือ 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,708 ล้านบาท ไม่ถึง 1 ใน 10 ของงบประมาณตามนโยบาย “ชิม ชอป ใช้” ของรัฐบาลไทยในช่วงปลายปี พ.ศ.2562 และน้อยกว่างบประมาณซื้อเรือดำน้ำของเราอย่างลิบลับ

ช่วงปี 2551 ที่ส่งยานจันทรา-1 ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของอินเดียอยู่ที่ 1,224,096 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ของประเทศไทยในปีเดียวกัน อยู่ที่ 272,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประชากรอินเดียราว 1,300 ล้านคน ประชากรไทยราว 66 ล้านคน เทียบกันแล้ว รายได้ต่อหัวของคนไทยสูงกว่าอินเดียราว 4.4 เท่า

โครงการยานจันทรา-1 สิ้นสุดไปแล้ว ตามมาด้วยโครงการยานจันทรา-2 ซึ่งสามารถส่งยานไปโคจรสำรวจดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการส่งยานลงไปจอดและสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ตามที่เป็นข่าวใหญ่ในอินเดีย และเป็นข่าวเล็กมากในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นข่าวใหญ่กว่ามากคือการเสียชีวิตของพริตตี้สาวคนหนึ่ง

ขณะนี้อินเดียกำลังเตรียมการตามโครงการต่อเนื่อง คือ โครงการจันทรายาน-3 ซึ่งมุ่งไปสำรวจขั้วดวงจันทร์ กำหนดส่งยานในปี พ.ศ. 2567 ระยะเวลาปฏิบัติการ 6 เดือน โดยจะส่งยานไปร่อนลงสำรวจขั้วใต้ของดวงจันทร์