posttoday

เมื่อเพลี่ยงพล้ำ

25 ตุลาคม 2562

ศุภมิตร ปิติพัฒน์

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

****************************

“ในความเพลี่ยงพล้ำ มันก็มีข้อดีที่น่าเรียนรู้อยู่ในนั้นเหมือนกัน” คนผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานในการเมืองบอกข้าพเจ้าในระหว่างการสัมภาษณ์เก็บข้อมูล

ครั้นขอให้เขาช่วยอธิบายต่อความเข้าใจเพิ่มให้อีกสักหน่อย เลยมีโอกาสฟังวิธีถอยเพื่อตั้งหลักจากเขา ฟังแล้วเห็นว่ามีคติน่าสนใจดีไม่น้อย จึงขอนำบางส่วนมาแบ่งปันเขียนออกมาเป็นบทความพินิจการเมืองสำหรับเดือนนี้นะครับ จะเน้นแต่ส่วนให้แง่คิดที่เขาให้หลักเป็นข้อสังเกตไว้ ไม่ได้เอาตัวอย่างที่เขายกให้ฟังมาลงไว้ด้วย เพราะจะกลายเป็นการเขียนมหากาพย์การเมืองไทย ไม่ใช่บทความขนาดสั้นแบบนี้

เขาขยายความให้ฟังว่า เมื่อเพลี่ยงพล้ำแล้ว ก็จำเป็นต้องถอย ถ้าหากเลือกถอยออกจากเวทีไปเลย มันก็จบกันแค่นั้น ง่ายดี แต่การถอยแล้วจบบทบาทลงอย่างเงียบๆ แบบนี้เท่ากับเป็นการปล่อยโอกาสในการกำหนดความหมายของการต่อสู้หรือความขัดแย้งที่ผ่านมา รวมทั้งความเพลี่ยงพล้ำที่เกิดขึ้นของฝ่ายหนึ่ง ให้ไปอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้ามที่ชนะในเกมเข้ามาเป็นคนกำหนดความหมายในเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่ฝ่ายเดียว อย่างนี้ จะเหมือนแพ้สองต่อ ต่อแรกคือแพ้ในเกมการเมืองที่ผ่านมา ต่อที่สองคือแพ้ในอนาคต ที่ความเข้าใจอดีตในวันข้างหน้าจะเป็นไปตามความหมายที่กำหนดโดยฝ่ายชนะ

เขาว่า ถ้าการเพลี่ยงพล้ำทำให้ต้องตัดสินใจถอยและยุติบทบาท คนที่ถอยอย่างมียุทธวิธีจะคิดหาทางทำให้การถอยนั้นยังคงสามารถรักษาความหมายของการต่อสู้ที่ได้ทำมา และหาทางเก็บความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเอาไว้ เพื่อส่งต่อให้อนาคตเห็นในคุณค่าและหลักการที่ฝ่ายเพลี่ยงพล้ำยึดถือ และเห็นในความพยายามที่จะรักษาหรือปกป้องคุณค่าหลักการเหล่านั้นไว้ด้วยความตั้งใจจริง แม้ว่าในที่สุดจะแพ้ จนต้องถอยจากเวทีการเมืองไปก็ตาม แต่การรับรู้และความเข้าใจของผู้คนในเวลาต่อมาก็มีโอกาสที่จะย้อนกลับมาตั้งคำถามต่อฝ่ายที่เป็นผู้ชนะได้ด้วยเหมือนกัน

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การถอยของฝ่ายหนึ่งออกมาจากความขัดแย้ง ไม่ใช่ว่าเมื่อหมดฝ่ายนั้นไปแล้ว ความขัดแย้งที่มีอยู่จะหมดไป ความจริงคือความขัดแย้งเก่าจบลงไป ก็จะมีความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นมาแทน การเมืองไม่มีวันหมดความขัดแย้งไปได้ เพียงแต่ว่ามันจะหันทิศทางของมันไปทางไหนต่อไป ก็เท่านั้นเอง

มีตัวอย่างให้เห็นมากต่อมากว่า เมื่อได้ร่วมกันกำจัดจนทำให้ฝ่ายหนึ่งต้องถอยพ้นทางออกไปได้แล้ว ฝ่ายที่เหลืออยู่และเคยร่วมมือกันมาก็หันมาขัดแย้งห้ำหั่นกันเอง การไม่ถอยต่างหากที่จะยังทำให้พวกเขารวมตัวกันติด และเข้าพวกเป็นฝ่ายเดียวกันอยู่ต่อไป การถอยออกมาจากสมการความขัดแย้งทำให้พวกเขาหมดศัตรูร่วมหรือหมดฝ่ายตรงข้ามที่ช่วยยึดพวกเขาไว้ด้วยกัน การเลือกถอยออกมาในแง่นี้จึงนับเป็นการถอยในทางยุทธวิธี เพื่อให้พวกชนะหันมาจัดการกันเอง และหลายต่อหลายครั้งมันก็เกิดขึ้นแบบนั้นจริงๆ

และผลจากการฟาดฟันกันเองของฝ่ายที่ชนะก็มักเปลี่ยนเงื่อนไขในสนามการเมืองไปจากเดิม จนทำให้คนกลุ่มใหม่มีโอกาสเถลิงขึ้นมาแทน และกลุ่มเก่าที่เพลี่ยงพล้ำและถอยออกไปก่อนหน้านั้นก็สามารถย้อนกลับคืนมาได้อีกรอบในเงื่อนไขใหม่ พร้อมกับพลิกการเมืองขึ้นหน้าใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

เขาบอกข้าพเจ้าด้วยว่า การเรียนรู้ของฝ่ายเพลี่ยงพล้ำจากฝ่ายศัตรูเก่าเพื่อกลับคืนมาอีกครั้งนั้นก็น่าสนใจมาก การพ่ายแพ้จะทำให้พวกเขามีเป้าหมายที่มีโฟกัสชัดเจน รวมทั้งการหาทางเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นด้วยความมุ่งมั่นมากกว่าฝ่ายชนะที่ได้อำนาจการเมืองมา อำนาจที่ฝ่ายชนะได้ไว้ในมือมักทำให้พวกเขาเสีย หรือถึงแม้จะไม่เสีย แต่โดยเหตุที่การครองอำนาจรัฐทำให้พวกเขาต้องตอบสนองต่อความพอใจและข้อเรียกร้องต้องการทางการเมืองเฉพาะหน้าจำนวนมากพร้อมกันไปหลายทาง ทำให้พวกเขาตกอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายตั้งรับเพื่อรักษาสถานภาพเดิม มากกว่าจะมีโอกาสได้ดำเนินการอะไรที่จะเป็นการรุกต่อไปข้างหน้า ในช่วงเวลาแบบนี้เอง ที่ฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและถอยออกมาเพื่อตั้งหลักกลับไปสู้ใหม่ จะถือโอกาสเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมา

ไม่เพียงแต่พวกเขาจะขบคิดกันว่าทำไมถึงแพ้ การหาบทเรียนจากการแพ้และเหตุที่สร้างความเพลี่ยงพล้ำสำคัญตรงที่ว่าจะได้ไม่ทำซ้ำรอยเดิม แต่นั่นยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ฝ่ายเพลี่ยงพล้ำคืนกลับสู่สนามได้ การเรียนจากจุดแข็งของฝ่ายศัตรูต่างหาก ที่จะทำให้พวกเขาเห็นว่าจะเปลี่ยนจุดแข็งนั้นให้กลายมาเป็นจุดอ่อนเพื่อทำลายฐานอำนาจศัตรูเก่าของเขาลงไปได้อย่างไร หรือจะใช้วิธีไหนที่จะทำให้ศัตรูเก่าสูญเสียฐานที่มั่นที่เป็นจุดแข็งนั้นไป และต้องมาเล่นในเกมที่ฝ่ายเพลี่ยงพล้ำมาก่อนเป็นคนกำหนดบ้าง

ข้าพเจ้าฟังเขาเพลิน แต่ก็อดถามไม่ได้ว่าระหว่างความผิดพลาดของฝ่ายชนะ กับการเรียนรู้ของฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำ อย่างไหนจะอธิบายผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาได้ดีกว่ากัน

เขาไม่ตอบที่ข้าพเจ้าถาม แต่ที่เขาตอบก็ฟังแปลกอยู่ เขาบอกว่า “อาจารย์ก็ทราบดีนี่ว่าเทพีแห่งโชคชะตาพอใจจะเข้าข้างฝ่ายไหน”