posttoday

ประชาธิปไตยแบบดิจิตัล : ประชานิยมแบบทั่วถึง (1)

19 ตุลาคม 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**********************************************

โลกดิจิตัลกำลัง “กลบกลืน” สังคมการเมืองของโลก

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปร่วมประชุมทางวิชาการรัฐศาสตร์ ของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association : APSA) ประจำปี2019 ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีมที่ตั้งไว้ว่า Populism and Privilege ที่อาจจะแปลอย่างตรงตัวได้ว่า “ประชานิยมกับสิทธิพิเศษ” โดยมีนักวิชาการจากทั่วโลกมาร่วมประชุมกว่าหนึ่งพันคน (ประมาณ 3 ใน 4 เป็นนักวิชาการชาวอเมริกัน) การประชุมจัดขึ้น 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม จนถึงวันที่ 1 กันยายน ใช้โรงแรมขนาดใหญ่เป็นสถานที่จัดประชุมถึง 3 แห่ง เพราะมีหัวข้อและผลงานทางวิชาการที่มีผู้นำเสนอกว่า 500 หัวข้อ รวมทั้งการจัดนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย

ผู้เขียนได้เข้าฟังการอภิปรายที่จะมีการนำเสนองานวิชาการในเรื่องหลักๆในห้องประชุมใหญ่ทุกวัน และเลือกฟังการบรรยายย่อยๆ ในหัวข้อที่ผู้เขียนสนใจอีกวันละ3-4 หัวข้อ (ส่วนเรื่องที่เราสนใจแต่ไม่มีเวลาเข้าฟัง หรือมีช่วงเวลาที่ซ้อนกัน ก็สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้จากเว็บไซต์ของผู้จัด โดยจะต้องลงทะเบียนและมีค่าใช้จ่ายบางส่วน) โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ “การเมืองสมัยใหม่” เช่น เรื่อง Cyber War และ Social Media in Politics รวมถึง Digital Democracy หรือ “ประชาธิปไตยแบบดิจิตัล” นี้ด้วย

ผู้เขียนขอสรุปประเด็นสำคัญของการประชุมนี้ ที่มีธีมว่า “ประชานิยมกับสิทธิพิเศษ” ก็เพราะประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้กลายเป็นประชาธิปไตยที่แสวงหาความนิยมกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ด้วยการที่ให้ “สิทธิพิเศษ” หรือผลประโยชน์ที่แตกต่างกันในผู้คนแต่ละกลุ่ม (ถ้าเป็นทางธุรกิจก็คือการตลาดแบบ “Niche Market” ที่เน้นการ “เจาะ” ลูกค้ารายกลุ่มแยกย่อยกันไป) เช่น การหาเสียงกับคนรวยก็เป็นแบบหนึ่ง คนจนก็อีกแบบหนึ่ง และแยกย่อยไปถึงขนาดคนจนในเมืองกับคนจนในชนบท หรือแยกเชื้อชาติ ศาสนา ลงลึกไปถึงกลุ่มอาชีพ กลุ่มสนใจในประเด็นต่างๆ รวมถึงความสนใจรายบุคคล อันเป็นแนวโน้มหนึ่งของสังคมแบบดิจิตัล ที่แต่ละคนต่างคนต่างอยู่ หรือถ้าเป็นกลุ่มคนก็จะสนใจสื่อสารพูดคุยกันแต่เฉพาะในกลุ่มของพวกตนเท่านั้น

ประชาธิปไตยสมัยใหม่จึงเป็นประชาธิปไตยที่ใช้นโยบายประชานิยมแบบ “โปรยหว่านแบบถ้วนทั่วและทั่วถึง” (take all groups by give each one wants) ทำให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ภายใต้การปกครองกลายเป็น “บุคคลหรือกลุ่มคนพิเศษ” ไปทั้งหมด ดังหัวข้อธีมที่กำหนดไว้สำหรับปีนี้ดังกล่าว

แนวคิดประชานิยมตอนที่เริ่มมีขึ้นที่ยุโรปในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่18ได้เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้รัฐจัดสวัสดิการแก่กลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างๆ เป็นสำคัญ เพราะช่วงนั้นเป็นยุคที่เรียกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” พร้อมกับการเกิดขึ้นของลัทธิสังคมนิยม และแตกแขนงความคิดเป็นลัทธิรัฐสวัสดิการ ซึ่งนักการเมืองก็ได้ใช้นโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการเพื่อผู้ใช้แรงงานนี้มาแข่งขันกันอย่างเข้มข้น อย่างการเกิดขึ้นของพรรคเลเบอร์ของอังกฤษที่หาเสียงกับกรรมกรโดยตรงก็เกิดขึ้นในช่วงนี้

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แนวคิดประชานิยมได้เปลี่ยนไป โดยนักการเมืองได้หันมาให้ความสำคัญกับคนหมู่มากที่ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน รวมถึงประชาชนในหลายๆ ประเทศที่แพ้สงครามก็ต้องการ “การปลอบขวัญ” จากผู้ปกครองเป็นพิเศษ โดยมีเสียงเรียกร้องกระหึ่มขึ้นท่ามกลางแนวคิดการฟื้นฟูชาติ อันทำให้ประชานิยมถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิชาตินิยม

อย่างเช่นกรณีของเยอรมัน ที่ทำให้ได้นักการเมืองอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็ด้วยฮิตเลอร์เป็นผู้ที่มีความสามารถในการโน้มน้าวใจ “มวลชนคนเยอรมัน” ให้เกิดความฮึกเหิม และด้วยนโยบายที่จะทำให้เยอรมันกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ พร้อมกับ “ขายฝัน” ว่าจะทำให้คนเยอรมันทุกคนอยู่ดีกินดีมีความสุข (ไม่ทราบว่ามีเพลงขอเวลาอีกไม่นาน หรือใช้ยุทธศาสตร์ขออยู่ในอำนาจไปอีก20 ปีแบบของบางประเทศหรือไม่) พรรคชาตินิยมของฮิตเลอร์ก็ชนะเลือกตั้ง และฮิตเลอร์ได้เป็น “ท่านผู้นำ” จนกระทั่งนำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่2 แล้วก็พบกับ “ฝันร้าย” ในที่สุด

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวคิดประชานิยมได้เคลื่อนตัวไปเติบโตในประเทศที่ด้อยพัฒนา รวมถึงประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ หรือกำลังเริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย อย่างเช่นกรณีของอาร์เจนติน่า ในยุคของประธานาธิบดีฮวน เปรอง ซึ่งก็ได้หาเสียงแบบขายฝันกับคนยากคนจน แม้ประธานาธิบดีเปรองจะเป็นที่รักและชื่นชอบของประชาชน แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของอาร์เจนติน่าทรุดโทรม สุดท้ายกรณีของอาร์เจนติน่าก็ได้กลายเป็นต้นแบบของ “ประชานิยมแบบเลวๆ” ที่ไม่มีใครอยากจดจำ

ในการประชุม APSA ปีนี้ ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมในหัวข้อย่อยเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการเปรียบเทียบประชานิยมของประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งมีกรณีของประเทศไทยถูกนำมาเป็น “กรณีศึกษา” ด้วย โดยผู้บรรยายได้นำเสนอการเมืองไทยในสมัยการปกครองของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็เปรียบเทียบว่าเป็นประชานิยมแบบ “อาร์เจนติน่าโมเดล” เพื่อให้ประชาชนรักและภักดี (for love and royalty) ซึ่งส่งผลให้สังคมไทยแตกแยกออกเป็นสองขั้ว และนำมาซึ่งการรัฐประหารถึงสองครั้งเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทักษิณทำไว้

อนึ่งในการประชุมหัวข้อใหญ่ประจำวันในวันหนึ่ง ที่ประชุมได้มีการพูดถึง “Trump and his Populism” ที่แปลได้ว่า “ประชานิยมของ(ประธานาธิบดี)ทรัมป์” โดยชี้ให้เห็นว่าทรัมป์ก็ใช้ “ประชานิยมแบบโปรยปรายอย่างถ้วนทั่วและทั่วถึง” กับคนเอมริกันเช่นเดียวกัน เพราะมีนโยบายหลายอย่างที่ “เอาอกเอาใจ” คนอเมริกันจำนวนมาก กระจายกันเป็นรายกลุ่ม และลงลึกไปถึงระดับ “ปัจเจก” หรือรายบุคคล เพราะในปีหน้านี้ก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ และทรัมป์เองก็มั่นหมายว่าจะได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง

เรื่องประชาธิปไตยแบบดิจิตัลยังมีต่อ ขอนำเสนอในสัปดาห์หน้าต่อไปครับ

**********************************