posttoday

คนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยใหม่ (2)

14 กันยายน 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

***********************************

คนรุ่นใหม่เริ่มที่พวก “ปัญญาชน”

ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2500 ที่ได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งที่ “สกปรกที่สุด” เนื่องจากพรรคเสรีมนังคศิลาที่มีทหารสนับสนุนได้ใช้กลโกงหลายอย่าง เช่น พลร่ม (คือใช้ชายฉกรรจ์เดินเข้าแถวเป็นหมู่ไปหย่อนบัตรในคูหาเลือกตั้ง) เวียนเทียน (คือคนกลุ่มเดิมนั้นวนเวียนเข้าไปหย่อนบัตรอีกหลายรอบ) ผี (คือใช้สิทธิ์แทนคนอื่น) และไพ่ไฟ (คือการนำหีบที่มีบัตรเลือกตั้งเต็มแล้วไปวางในคูหา รวมถึงการเปลี่ยนหีบบัตรหลังเลือกตั้งเสร็จนั้นด้วย)

นอกจากจะมีการประท้วงจากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกโกงนั้นแล้ว ก็ยังมีกลุ่มนักศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตั้งเวทีปราศัยโจมตีรัฐบาล รวมถึงที่ได้มาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งนายทหารในฝ่ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเมินว่า “ไม่มีอะไรน่ากลัว” จึงไม่ได้ตอบโต้อะไร แต่ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีกลาโหมในตอนนั้น กลับเห็นตรงกันข้าม ที่สุดก็ได้มีการบีบบังคับให้จอมพล ป.ลาออกจากตำแหน่ง แต่เมื่อจอมพล ป.ดื้อดึง ที่สุดในเดือนก.ย.ปีเดียวกันนั้น พล.อ.สฤษดิ์ ก็ทำรัฐประหาร และจอมพล ป.ต้องหนีออกนอกประเทศ

ทหารได้ปกครองบ้านเมืองมาอย่างยาวนาน ภายหลังอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ใน พ.ศ.2506 จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ขึ้นมามีอำนาจสืบต่อ ระหว่างนั้นก็สร้างบรรยากาศว่ากำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้ง ด้วยกำลังรีบเร่งร่างรัฐธรรมนูญ (ความจริงนั้นการสร้างบรรยากาศนี้มีมาตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ขึ้นสู่อำนาจ โดยให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใน พ.ศ. 2502 แต่กว่าจะมาแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2511 ว่ากันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะใช้เวลาร่างบรรทัดละ 1 วัน) แล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2512 โดยฝ่ายทหารก็ได้ตั้งพรรคการเมืองชื่อว่าพรรคสหประชาไทยร่วมลงเลือกตั้งด้วย ซึ่งก็ประสบชัยชนะได้ไม่ยากเย็น

แต่ว่าทหารก็เอาสภาไม่อยู่ ส.ส.ก่อความวุ่นวายและเรียกร้องผลประโยชน์มาก ที่สุดจอมพลถนอมก็ทำรัฐประหารในวันที่ 17พ.ย.2514 ที่ในระยะแรกสังคมก็ดูเงียบสงบ แต่พอขึ้นปีใหม่ภายหลังผ่านพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในเดือนธ.ค.นั้นแล้ว ก็เริ่มมีการ “จับกลุ่ม” กันของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยได้มีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง คือมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เปิดรับนักศึกษาแบบตลาดวิชาโดยไม่ต้องสอบเข้า ทำให้นักศึกษามีความหลากหลายและมีเสรีภาพต่างๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยก็เริ่มขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ พร้อมกันนั้นนิสิตนักศึกษาในหลายๆ สถาบันก็ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย เรียกว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย โดยมีนายธีรยุทธ บุญมี เป็นประธานศูนย์กลางฯ

ในปี 2515 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้จัดชุมนุมต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น โดยได้เดินขบวนไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “ความตื่นตัว” ที่เกิดขึ้นในหมู่เยาวชน (ผู้เขียนใช้ตัวเองวัดความรู้สึกนั้นด้วย เพราะได้เข้าร่วมไปดูการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย) พอมาในตอนต้นปี 2516 ก็เกิดกรณีกลุ่มข้าราชการไปล่าสัตว์ที่ทุงใหญ่นเรศวร แล้วเฮลิคอปเตอร์ตก เป็นข่าวกระหึ่มบ้านกระหึ่มเมือง นำมาซึ่งการโจมตีรัฐบาลที่ปกป้องข้าราชการกลุ่มนั้น พร้อมกับกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญก็โหมกระพือขึ้น

นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยได้เรียกร้องให้อธิการบดีที่ขัดขวางการชุมนุมนั้นลาออก แต่นักศึกษากลับถูกไล่ออก นำมาซึ่ง “การให้กำลังใจ” แล้วเกิดการชุมนุมออกไปยังสถาบันอื่นๆ ต่อมาในตอนต้นเดือนตุลาคมก็มีกลุ่มคนออกไปเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามท้องถนน แล้วตำรวจก็มาจับคนเหล่านั้นไปขังคุก ตามมาด้วยการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว

แม้ว่าต่อมาจะมีการปล่อยตัวผู้แจกใบปลิวนั้นแล้ว แต่ “คลื่นความรู้สึก” ที่ต่อต้านผู้มีอำนาจรัฐกลับยิ่งรุนแรงขึ้น โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดปราศัยขึ้นที่ลานโพธิ์ มีการประท้วงไม่เข้าห้องสอบและเอากุญแจไปล็อคประตูห้องสอบ จากนั้นผู้ร่วมชุมนุมก็มีมากขึ้น จึงได้ย้ายมาชุมนุมที่สนามฟุตบอลหน้าตึกโดม ครั้นพอตอนเที่ยงวันที่ 13ต.ค.ก็พากันเดินขบวนออกมาที่ถนนราชดำเนิน

กระทั่งตอนเย็นก็เดินทางถึงลานพระบรมรูปทรงม้า แล้วย้ายไปชุมนุมอยู่ด้านข้างของพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน จนถึงเช้าก็มีการประกาศว่ารัฐบาลยอมแพ้แล้ว จะให้มีรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งภายใน 6 เดือน แต่เมื่อผู้ชุมนุมกำลังแยกย้ายกันกลับ ก็เกิดเหตุมีการประทะกันกับตำรวจที่มุมสวนจิตรด้านที่ติดกับเขาดินวนา ลุกลามกลายเป็นจลาจล โดยรัฐบาลสั่งทหารเข้าปราบปรามประชาชน เกิดการนองเลือดไปทั่วถนนราชดำเนิน

จนกระทั่งตอนค่ำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏพระองค์ทางโทรทัศน์และมีการถ่ายทอดพระสุรเสียงผ่านทางวิทยุ ทรงขอร้องให้ทุกคนช่วยกันทำบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ภาวะปกติด้วยพระอัสสุชลนองพระเนตร ซึ่งประวัติศาสตร์ไทยได้จารึกวันนั้นในชื่อว่า “วันมหาวิปโยค”

ตำรารัฐศาสตร์กล่าวว่า การรวมตัวของผู้คนในทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมี “แกนร่วมทางความคิด” ที่เด่นชัด ที่จะนำคนเหล่านั้นไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการร่วมกัน เช่น การต่อสู้กับ “ความหน้าด้าน” ของผู้มีอำนาจที่ทำการโกงเลือกตั้งใน พ.ศ. 2500 หรือการต่อสู้กับ “ความชั่วร้าย” ของผู้มีอำนาจโดยนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์วันที่ 14ต.ค.2516 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่เรียกว่า “ปัญญาชน” ที่พวกเขาเชื่อมั่นในตัวพวกเขาเองว่าเป็น “ผู้นำในสังคมไทย” ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ปราฏตัวขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24มี.ค.2562 ก็มีทั้งส่วนที่ต่างและส่วนที่คล้าย ซึ่งจะได้อธิบายให้เห็นในสัปดาห์หน้า

ว่ากันว่าพวกเขากำลังสู้กับ “ประชาธิปไตยเก่า”

**********************************