posttoday

กติกาใหม่แห่งการอยู่ร่วมกัน

09 สิงหาคม 2562

โคทม อารียา

โดย...โคทม อารียา

อยากจะร่วมฝันว่าคนไทยจะไม่จมอยู่กับความโกรธเคืองของอดีต ไม่ยิ้มย่องอยู่กับการได้เปรียบในปัจจุบัน ไม่ตะเกียกตะกายไปหา ลาภ ยศ สรรเสริญ

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ผมไปที่เชียงใหม่ ไปพูดในงานที่จัดโดยพรรคอนาคตใหม่ เขาให้ชื่องานว่า “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” โลโก้งานก็สวยดี ดูเป็นมือ 2 มือ มาแตะกัน ดูเหมือนว่ามือล่างจะแบ ส่วนมือบนจะคว่ำ โดย 4 นิ้วของมือทั้งสองมาแตะกันจนเป็นหนึ่งเดียว ส่วนนิ้วหัวแม่มือนั้นแยกกันอยู่ทั้งสองข้าง ดูเป็นสัญลักษณ์การผสานความร่วมมือเพื่อการอยู่ร่วมกัน ภายใต้กติกาใหม่ที่จะต้องจินตนาการร่วมกัน

ผมอดนึกถึงกรณีในอดีตที่การใช้คำว่าจินตนาการใหม่ไม่ได้ ในปี 2519 ในสมัยที่เติ้งเสียวผิงกลับมามีอำนาจและต้องการแก้ไขปัญหาความยากจน จินตนาการของเขาย่อออกมาเป็นประโยคที่โด่งดังคือ “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็ใช้ได้” เขาเริ่มการปฏิรูปด้วยการเปิดประเทศสู่เศรษฐกิจการตลาด ภายใต้คำขวัญ “4 ทันสมัย” หมายถึง เกษตรกรรมทันสมัย อุตสาหกรรมทันสมัย การป้องกันประเทศทันสมัย และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทันสมัย

ต่อมาในปี 2529 ส.ป.ป. ลาวก็เริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจ ถือว่าทำตามอย่างจีนก็ว่าได้ โดยใช้คำขวัญภาษาลาวที่ออกเสียงตรงกับคำไทยว่า “จินตนาการใหม่” การปฏิรูปเศรษฐกิจของเวียดนามตามมาติด ๆ และใช้คำขวัญในความหมายคล้ายกับของ ส.ป.ป. ลาว ว่า “โด๋ย เม้ย” สรุปว่าจินตนาการใหม่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศเพื่อนบ้านใช้กันมานานแล้ว แต่คราวนี้พรรคอนาคตใหม่นำเสนอคำคำนี้เพื่อการปฏิรูปการเมือง โดยไม่เน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจเหมือนประเทศที่กล่าวถึง

มาถึงคำว่า “ข้อตกลงใหม่” ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาอังกฤษตามสำนวนผมว่า “New Deal” วลีนี้ยิ่งเก่ากว่าวลี “จินตนาการใหม่” เสียอีก เป็นวลีของประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี รูสเวลล์ เมื่อเขาก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2476 ในช่วงนั้น โลกยังอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มมาตั้งแต่ 5 ปีก่อนหน้านั้น รูสเวลล์ สามารถยุติวิกฤตความไม่น่าเชื่อถือของธนาคารที่ขาดวินัยการเงินได้ภายในเดือนแรกที่เข้ารับตำแหน่ง

เขาเปลี่ยนนโยบายให้รัฐบาลกลางมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยคนจนในด้านสวัสดิการ สร้างงานโดยจ้างคนมาทำงานในอุทยานและที่ดินสาธารณะ เป็นต้น เขาย่อมถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมโจมตีว่าใช้จ่ายเกินกำลังและบทบาททางเศรษฐกิจเหล่านี้หาใช่หน้าที่ของรัฐไม่ ผลของการต่อต้านทำให้กฎหมายที่ออกในนามของ “ข้อตกลงใหม่” หลายฉบับถูกศาลสูงสั่งยกเลิกโดยตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีคนถัดไปคือ แฮร์รี ทรูแมนซึ่งเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาจากรองประธาธิบดีเมื่อรูสเวลล์เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในปี 2489 ทรูแมนรับสืบทอดนโยบาย “ข้อตกลงใหม่” แต่ก็ปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อเป็น “Fair Deal” หรือ “ข้อตกลงที่ยุติธรรม”

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้เปิดตัวการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใต้คำขวัญ “จินตนาการใหม่” และ “ข้อตกลงใหม่” เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ผมเลยรวบยอดว่า เป็นข้อเสนอให้ใช้จินตนาการให้ร่วมกัน “ฝัน” ถึงการอยู่ร่วมกันภายใต้ข้อตกลงใหม่

ผมอยากจะร่วมฝันว่าคนไทยจะไม่จมอยู่กับความโกรธเคืองของอดีต ไม่ยิ้มย่องอยู่กับการได้เปรียบในปัจจุบัน ไม่ตะเกียกตะกายไปหา “ลาภ ยศ สรรเสริญ” และเมื่อหาสิ่งเหล่านี้มาได้ก็ไม่หลงอยู่กับมัน ที่ใช้คำว่า “ฝัน” เพราะถ้าตื่นขึ้นมา ผมจะรู้สึกท้อแท้กับสภาพการเมืองที่เห็นอยู่ กับการมีกติกาการเมืองที่ไม่เป็นธรรม กับการอ้างโน่นอ้างนี่บางทีก็ข้าง ๆ คู ๆ ของผู้มีอำนาจ กับการกระทำหลาย ๆ อย่างเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป ๆ ฯลฯ

ผู้ที่อยู่กับโลกแห่ง “ความเป็นจริง” หรืออยู่กับการเมืองแบบ realpolitik (ระบบการเมืองที่ยึดการปฏิบัติมากกว่าอุดมการณ์) มักจะมองว่า การเมืองเป็นเรื่องดุลอำนาจ ถ้ารวบรวมพลกำลังทางกายภาพ ทางเศรษฐกิจ ทางจิตวิทยา ทางการทหาร ฯลฯ ได้มากกว่าก็ชนะ

อย่างไรก็ดี ผมอยากเห็นประเทศไทยเป็นนิติรัฐ (ถือกติกาเป็นหลัก ถ้ามีใครฉีกกติกกาทิ้งไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด คนก็ไม่เอาด้วย) เป็นรัฐที่ดุลอำนาจมาจากความยินยอมพร้อมใจ (consent) ของประชาชน เป็นรัฐที่ทุกคนมีเสรีภาพทางความคิด มีสิทธิทางการแสดงออกเท่า ๆ กัน (ไม่มีการยึดวิทยุโทรทัศน์ของรัฐเกือบทุกช่องมากรอกหูอยู่เป็นประจำ) ทุกคนสามารถเสนอวาทกรรมหรือเรื่องเล่าที่จำลองหรืออธิบายโลกด้วยจินตนาการเพื่อให้เข้าใจง่าย

และเพื่อให้ผู้คนคล้อยตามเมื่อเสนอหรือเล่าซ้ำบ่อย ๆ สรุปก็คือ เราควรแข่งขันกันในการเสนอวาทกรรมได้อย่างเป็นธรรม และวาทกรรมใดมีผู้คล้อยตามมากกว่า ก็เป็นวาทกรรมหลักไปพักหนึ่ง คะแนนเสียงก็เทมาให้ผู้เสนอวาทกรรมที่จูงใจกว่า แต่ไม่นานวาทกรรมหลักอาจไหลเลื่อนไป คะแนนเสียงก็พลิกผันได้เช่นกัน ไม่มีใครที่จะรวบอำนาจได้เสมอไป และสังคมควรให้โอกาสแก่คนรุ่นใหม่และจินตนาการใหม่อยู่เสมอ เราไม่ควรกลัวการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งอนิจจัง

ในฐานะ “ผู้มองโลกสวย” คนหนึ่ง ผมขอเสนอความเชื่อบางประการ โดยหวังว่าถ้ามีคนเชื่อเช่นนี้มาก ๆ พอ ก็อาจกลายเป็นวาทกรรมที่เป็นเสมือนมโนคติร่วมกันได้ 1) ผมเชื่อว่าอำนาจรัฐมาจากมนุษย์ ไม่ได้มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระเจ้า ในอดีตมีการเชื่อเรื่องเทวสิทธิ์ แล้วบอกว่าผู้ปกครองได้รับการอวยพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มามีอำนาจอันไม่อาจโต้แย้งได้ ถ้าอำนาจมาจากมนุษย์ มนุษย์ก็อาจถอดถอนผู้มีอำนาจได้

2) ผมเชื่อว่ามนุษย์มีความดีพื้นฐาน และเชื่อในปรีชาญาณของมวลชน ที่สามารถตัดสินใจเพื่อประโยชน์สุขของคนหมู่มาก โดยไม่ไปรังแกคนส่วนน้อย 3) ผมเชื่อในทางสายกลาง ไม่ไว้ใจความคิดสุดโต่ง คนเราย่อมผิดพลาดได้ และความคิดสุดโต่งที่ผิดพลาดจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสุดโต่ง เช่น เมื่อรัฐบาลจีนมีนโยบายก้าวกระโดดในช่วงปี 2501-2505 ผลลัพธ์คือมีผู้เสียชีวิตนับสิบล้านคน หรือเมื่อรัฐบาลกัมพูชามีนโยบายย้ายประชากรไปชนบทเพื่อทำนารวมในช่วงปี 2519-2522 ผลลัพธ์คือมีผู้เสียชีวิตนับล้านคน

ผมคิดว่านโยบายสุดโต่งในปัจจุบันนโยบายหนึ่งคือการปิดล็อกมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเกือบปิดตาย ซึ่งขณะนี้ยากที่จะทำนายว่าจะทำให้เกิดความเสียหายมากมายหรือไม่ อันที่จริง ผมเชื่อในกติกาการอยุ่ร่วมกันที่เกื้อกูลและอ่อนโยน ที่เอื้อให้ทุกคนมีความสุขพอประมาณโดยไม่รู้สึกว่าอึดอัดหรือถูกกดทับ

รัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านก็อยากแก้เช่นกัน ก่อนจะพูดกันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใด หรือจะยกร่างกันใหม่เหมือนในปี 2539-40 ผมคิดแบบมองโลกในแง่ดีว่า ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านควรมาคุยกันก่อน แบบที่เรียกว่าสนทนาธรรมนั่นแหละ คือคุยกันกว้าง ๆ ในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องจินตนาการใหม่ คุณค่าประชาธิปไตยและคุณค่าแห่งชาติ การเคารพกติกา การรับฟังกันอย่างตั้งใจและจริงใจ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ขอให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหาความเห็นพ้องกันให้ได้ ว่าจะแก้ไขมาตรา 256 ที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้อย่างไร เพื่อต่อไปจะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้โดยทางสายกลาง เช่น โดยมติของรัฐสภา ซึ่งก็คงพอดีหรือพอประมาณแล้ว