posttoday

คอลัมน์คนซอยสวนพลู ขอนำเสนอ "ฝันร้ายของพลเอกประยุทธ์"

09 มิถุนายน 2562

การต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง"ค่ายอนาล็อค" กับ"ค่ายดิจิตอล"โดยฝ่ายหนุนประยุทธ์ใช้กลไกแบบเดิมๆกับฝ่ายล้มประยุทธ์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ 

การต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง"ค่ายอนาล็อค" กับ"ค่ายดิจิตอล"โดยฝ่ายหนุนประยุทธ์ใช้กลไกแบบเดิมๆกับฝ่ายล้มประยุทธ์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ 

***************

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

รัฐสภา “พวกมาก”กับรัฐบาล “ลากไป” การเมืองไทยคงเป็นไปในรูปแบบนี้สักระยะ

ผู้เขียนไม่ได้มีอคติกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือกับนักการเมืองคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เมื่อมองการเมืองไทยในภาพรวม ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ มาจนถึงการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ทำให้อดห่วงอนาคตของการเมืองไทยไม่ได้ รวมถึงอนาคตของพลเอกประยุทธ์ ที่บทบาทของท่านน่าจะส่งผลต่อความเป็นไปทั้งของรัฐสภาและรัฐบาลมากพอสมควร แต่จะเป็นผลที่มองไปได้ในแง่ลบ มากกว่าที่จะเกิดผลในแง่บวกอันหมายถึงการพัฒนาการเมืองไทยให้ดีขึ้น

ต่อไปนี้เราคงจะเห็นการต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายหนุนประยุทธ์”กับ“ฝ่ายล้มประยุทธ์”ที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆโดยอาวุธหลักของฝ่ายหนุนประยุทธ์คือ “กฎหมายและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์”ในขณะที่ฝ่ายล้มประยุทธ์จะใช้ “กฎหมู่และการสร้างกระแสความอึดอัด”

แน่นอนว่าฝ่ายหนุนพลเอกประยุทธ์ได้ชัยชนะมาโดยตลอด ตั้งแต่ที่เกาะกุมการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบต่างๆ การใช้อำนาจพิเศษเพื่อควบคุมฝ่ายตรงข้าม การจัดตั้งพรรคการเมืองที่กวาดต้อนบรรดานักการเมืองเขี้ยวลากดินเข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมถึงการกวาดต้อนพรรคเล็กพรรคน้อยภายหลังการเลือกตั้งมาหนุนพลเอกประยุทธ์ ตลอดจนการหว่านล้อมและบีบคั้นพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ให้มาหนุนแกนอำนาจทางด้านนี้ได้ในที่สุด ซึ่งในขณะเดียวกันฝ่ายล้มประยุทธ์ก็ “ทำงานคู่ขนาน”โดยใช้กระบวนการที่ฝ่ายหนุนประยุทธ์นั่นแหละ กลับไปทิ่มแทงฝ่ายหนุนประยุทธ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ชำแหละบรรดากฎหมายและอำนาจพิเศษต่างๆ ที่อีกฝ่ายหนึ่งใช้ค้ำจุนอำนาจ พร้อมกับโจมตีกระบวนการทำงานการเมืองของพรรคการเมืองที่หนุนพลเอกประยุทธ์ ให้เห็นถึง “ความน่าเกลียดน่าชัง” ของกระบวนการดังกล่าว ท้ายที่สุดคือพยายมปั้นแกนนำในฝ่ายตนคือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้นมาสู้ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ถึงแม้จะ “แพ้คะแนน”ไปอย่างไกลห่าง แต่ก็อย่างที่นายธนาธรได้แถลงอยู่ภายนอกที่ประชุมสภาว่า “เราจะสู้ต่อไป”

มีการวิเคราะห์ว่า การต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ค่ายอนาล็อค”กับ “ค่ายดิจิตอล”โดยฝ่ายหนุนประยุทธ์นั้นเป็นค่ายอนาล็อค คือยังใช้กลไกทางการเมืองแบบเดิมๆ ที่เป็น “เทคโลโลยีโบราณ”คือการใช้กฎหมาย การควบคุมทางรัฐสภาและองค์กรอิสระ และการแลกเปลี่ยนด้วยผลประโยชน์และตำแหน่งทางการเมือง ในขณะที่ค่ายดิจิตอลซึ่งหมายถึงฝ่ายล้มประยุทธ์นั้นใช้ “เทคโนโลยีสมัยใหม่”ที่เป็นหลักก็คือ “โซเชียลมีเดีย”และ “การจัดอีเว้นท์”เพื่อสร้างกระแสกดดันต่างๆ ที่ในสมัยก่อนก็คือการให้คนออกมาต่อต้านตามสถานที่ต่างๆ แต่ในสมัยใหม่จะเป็นการ “เปิดพื้นที่”ในโลกไซเบอร์ที่กว้างใหญ่มหาศาล ให้คนเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ที่ทำให้เกิด “ชุมนุมการเมืองในรูปแบบใหม่”ที่เร้าระดมผู้คนได้อย่างรุนแรงและต่อเนื่องดีกว่า หรืออาจจเรียกได้ว่านี่คือ “กฎหมู่ในระบบดิจิตอล”ที่ฝ่ายล้มประยุทธ์จะใช้เป็นอาวุธหลักในสงครามนี้

ผู้เขียนเชื่อว่าฝ่ายหนุนประยุทธ์ก็คงตระหนักในเรื่อง “ภัยคุกคาม”จากสงครามไซเบอร์นี้อยู่แล้ว เพียงแต่คงจะประเมินว่า “ไม่น่ากลัว”และ “ไม่สามารถก่ออันตรายได้อย่างโจ่งแจ้ง”หรืออาจจะเชื่อว่า “สามารถควบคุมและกำจัดได้”ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดๆ ทั้งสิ้น เพราะโดยปรัชญาคือ “กรอบคิด”ของโลกดิจิตอล ก็คือ “โลกที่เปิดกว้าง ไร้ขอบเขต และประมาณพลังไม่ได้”เว้นแต่จะปิดกั้นไปเลยอย่างจีน หรือไม่ก็ต้องใช้เทคโนโลยีและระดับความสามารถของผู้ใช้ที่มีความสามารถพอๆ กันหรือมากกว่า เพื่อ “สร้างกระแส”ขึ้นมาสู้ ที่หมายถึงความสามารถในการแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มเป้าหมาย ที่จะต้องมีคลังข้อมูลมหาศาล อย่างที่ในโลกไซเบอร์เรียกว่า Big Data ที่จะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ทัศนคติในการใช้”ที่ถูกต้อง คือความเชื่อความคิดที่ถูกต้องในแต่ละกลุ่มเป้าหมายนั้น

ผู้เขียนเชื่อว่าตราบใดผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดที่มีทัศนคติต่อกันผิดๆ เป็นต้นว่า แต่ละฝ่ายมองว่าจะต้อง “ควบคุมและกำจัดกันและกัน”สงครามใดๆ ก็เต็มไปด้วยความน่าสะพรึงกลัว ซึ่งใน “สงครามการเมือง”โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยนั้น “ทัศนคติที่ควรเป็น”ก็คือ “การประนีประนอมและใช้เหตุผลโดยยึดหลักประโยชน์ส่วนรวม”แต่ละฝ่ายจะต้องมุ่งคิดที่จะปรึกษาหารือหรือ “พูดคุย”กันก่อน ยิ่งถ้ามีข้อขัดแย้งกันอย่างรุนแรง อาจจำเป็นจะต้องมีคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ย และที่สำคัญที่สุดก็จะต้องกระทำโดย “เปิดกว้างและเปิดเผย”คือให้คนจำนวนมากได้ร่วมรู้ร่วมแก้ไข เพื่อให้สังคมประชาธิปไตยนั้นดำเนินไปได้

แต่ว่าภาพที่เราได้เห็นอยู่ในขณะนี้คือ “การฟาดฟันกัน”อย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างคู่ต่อสู้ทางการเมืองในทั้งสองฟากฝ่ายนั้น ซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแน่นอน โดยที่ท่านผู้รู้(ในฝ่ายล้มประยุทธ์)บอกกับผู้เขียนว่า นี่คือ “ยุทธศาสตร์เพื่อการล้มประยุทธ์”คือใช้ “เผด็จการมวลชน”ต่อสู้กับ “เผด็จการคณาธิปไตย”หรือ “เผด็จการประชาติ”กับ “เผด็จการอำมาตย์”ซึ่งฝ่ายล้มประยุทธ์เชื่อว่าด้วยแนวทางนี้จะสามารถสร้างมวลชนในฝ่ายของตนให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการใช้โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธหลัก พร้อมกันกับต้องสร้างกระแสเกลียดชัง ให้สังคมไทยรู้สึก “อึดอัด”กับ “ระบอบประยุทธ์”เพื่อร่วมกันต่อต้านระบอบประยุทธ์นั้นให้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะมีการยั่วยุทำให้ถึงขั้นที่ระบอบประยุทธ์ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย(จนถึงอาจจะมีการมี “องค์กรพิเศษ”)ออกมาควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ซึ่งนั่นก็คือการก่อกระแส “พฤษภาทมิฬครั้งใหม่”คือ “การระเบิดจากข้างใน”ของสังคมที่ถูกปิดกั้นเสรีภาพนั่นเอง

พลเอกประยุทธ์อาจจะต้องใช้อำนาจพิเศษ(ที่รัฐสภาอาจจะจำเป็นต้องมอบให้ด้วยกระบวนการพิเศษ)เพื่อใช้เป็น “ยานอนหลับ” ดับฝันร้ายในครั้งนี้