posttoday

การเมืองไทยในกำมือของคนรุ่นใหม่

02 มิถุนายน 2562

มุมมองการก้าวไปของคนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่บนถนนการเมือง แต่ทว่า ดูไปดูมาก็ไม่ต่างกับ...

มุมมองการก้าวไปของคนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่บนถนนการเมือง แต่ทว่า ดูไปดูมาก็ไม่ต่างกับ...

*********

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

“ประชาธิปไตยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสียงข้างมาก”

นี่คือวาทกรรมที่นักวิชาการคนรุ่นใหม่ในฟากฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” กำลังนำเสนอเป็นวาทกรรมให้ผู้คนในสังคมได้ “ครุ่นคิด” จากที่ผู้เขียนได้อ่านพอจะสรุปแนวคิดนี้ได้ว่า หลายปีมานี้ชนชั้นปกครองมีความพยายามที่จะ “ก่อกอด” คือสร้างและรักษาไว้ซึ่งอำนาจในฝ่ายตนให้แข็งแรงมั่นคงและต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็พยายาม “กีดกัน” คือขัดขวางและจ้องทำลายอำนาจของฝ่ายตรงข้ามที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา โดยที่ชนชั้นปกครองเหล่านี้ได้นำเสนอ “หน้ากาก” ของระบอบการปกครองแบบนี้ภายใต้ระบอบการปกครองที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เรียกว่า “ประชาธิปไตยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสียงข้างมาก” ดังกล่าว

คนเขียนบทความนี้ได้ท้าวความถึงการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่บรรดานักคิดในฟากฝ่ายของการปฏิรูปการเมืองได้ร่างขึ้น ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้มข้น จนได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างให้เกิดระบบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่สุดผู้นำของพรรคการเมืองนั้นก็ “ล่วงละเมิด” เข้าไปใน “อาณาเขตอำนาจ” ของชนชั้นปกครองที่เคยครอบงำระบบการปกครองของไทยมาอย่างยาวนาน คือทหารและผู้มีสถานภาพสูงทางสังคม หรือ “พวกอำมาตย์” จึงทำให้เกิดรัฐประหารขึ้น ๒ ครั้ง ใน พ.ศ. ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๗ เพื่อยับยั้งการขยายตัวของนักการเมืองกลุ่มดังกล่าว พร้อมกันนั้นก็ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อ “จัดการอำนาจ” หรือกวาดล้างกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ อย่างที่ผู้คนในกลุ่มนี้ได้เรียกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๐ ว่า “หมายจับทักษิณ” และเรียกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๖๐ ว่า “ฉบับกำราบเสียงข้างมาก”

คนเขียนบทความนี้บรรยายถึงวิธีการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ว่า “สาระแกนกลางอยู่ที่ความพยายามกำกับควบคุมการเลือกตั้งให้ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเป็นช่องทางสร้างพลังที่ท้าทายอำนาจชนชั้นนำได้” ด้วยการสร้างองค์กรทางการเมืองที่ชนชั้นปกครองสามารถควบคุมได้ ได้แก่ วุฒิสภา องค์กรอิสระต่างๆ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ให้มาควบคุมกระบวนการบริหารและนิติบัญญัติ รวมถึงควบคุมนักการเมือง ดังข้อความบางตอนเขียนว่า “พรรคการเมืองตั้งยาก ยุบง่าย การเลือกตั้งมีความซับซ้อน เลือกตั้งยาก นับคะแนนยาก ตั้งรัฐบาลยาก บริหารประเทศยาก”

พร้อมกับบอกว่า “ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ สะท้อนความสำเร็จของชนชั้นนำเดิมของไทยในการดัดแปลงสถาบันและกลไกต่างๆ ของรัฐให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนในฐานะที่เป็นคนส่วนน้อยของสังคม ด้วยการทำให้เสียงส่วนใหญ่หมดพลังทางการเมืองในระบบ ทั้งในกระบวนการการเลือกตั้งและการใช้อำนาจสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่วินิจฉัยกำกับควบคุมสถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง” ซึ่งน่าจะหมายถึงการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการ “เอาจริง” กับหัวหน้าพรรคและนักการเมืองในพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่เป็นสัญลักษณ์ของ “ฝ่ายประชาธิปไตยรุ่นใหม่” เพื่อเป็นการ “เด็ดหัวเด็ดหาง” ไม่ให้กลุ่มการเมืองพวกนี้ได้ขึ้นมามีอำนาจ

ผู้เขียนยังไม่ขอวิเคราะห์วิจารณ์แนวความคิดดังกล่าวในขณะนี้ เพราะดูเหมือนว่าที่เขียนมาออกจะเป็นไปในลักษณะ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” คือรื้อฟื้นและเชื่อมโยงว่าปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบันนี้เกิดจาก “พวกคนเก่าๆ” แต่ยังไม่ได้มีการนำเสนอว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ซึ่งถ้าเป็นอย่างที่หลายๆ คนคาดเดา ก็น่าจะเป็นการเสนอแนวทางในการต่อสู้เพื่อ “โค่นล้ม” พวกคนเก่าๆ นั่นเอง ซึ่งพอถึงตอนนั้นผู้เขียนก็จะนำเสนอแนวคิดเพื่อที่จะไม่ให้คนทั้งสองฝ่ายนี้ “ประหัตประหารกัน” แต่ควรจะหาทางออกกันอย่าง “สันติไมตรี”

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนเป็นกังวล จากกรณีที่คนรุ่นใหม่ได้พูดถึงการอสัญกรรมของฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เกิดการตอบโต้และกลายเป็น “สงครามความเห็น” อยู่ในสื่อโซเชียลในขณะนี้ ซึ่งถ้าเป็นการปะทะกันทางความคิดเห็นอย่างนี้ก็คงจะไม่มีอันตรายอะไรมากนัก แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่มีคนใช้สถานการณ์นี้ “ก่อเหตุร้าย”

เช่น มีประชาชนทั้งสองกลุ่มออกมาด่าทอกันตามสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งมีการใช้กำลังทำร้ายกัน รวมถึงการประทุษร้ายต่อตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการลอบทำร้ายหรือทำร้ายต่อหน้า จนกระทั่งถึงการก่อวินาศกรรม และสร้างความเสียหายในทางสาธารณะทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อย่างที่เรียกว่า “สงครามกลางเมือง” ก็คงจะเป็นอันตรายที่เราทั้งหลายไม่อยากให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผู้คนจำนวนอีกไม่น้อยที่เป็นห่วงถึงอนาคตของชาติบ้านเมือง “ถ้าหากตกอยู่ในกำมือของคนรุ่นใหม่” โดยมองจากพฤติกรรมตามที่ปรากฏในข่าวสารและสื่อต่างๆ เช่น มองว่าคนรุ่นใหม่มีแต่ความก้าวร้าว ใจร้อน เอาแต่ใจ และไม่เคารพผู้หลักผู้ใหญ่

แต่ผู้เขียนก็อยากให้ทุกท่านแยกแยะด้วยว่า นั่นคือ “การแสดงออกทางการเมือง” และเมื่อเป็น “การแสดงอย่างหนึ่ง” บทบาทที่เรียกว่า “แอ็คติ้ง” นั้นก็ต้องให้ดู “ดราม่า” นิดหน่อย จึงอาจจะดู “โอเว่อร์แอ็คติ้ง” แต่นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดาของการ “เล่นละคร” ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องพฤติกรรมทางการเมืองนี้ยังเกิดจากการถ่ายทอดหรือเลียนแบบคนรุ่นเก่า อย่างที่หลายคนบอกว่าพอดูถ่ายทอดการประชุมสภาแล้ว “นักการเมืองรุ่นใหม่ก็ไม่เห็นจะมีอะไรต่างกันจากนักการเมืองรุ่นเก่าเลย”

“Activist” ในวันนี้อาจจะเป็น “Impotence” ในวันหน้าก็ได้