posttoday

"นายกฯ เปรม"

31 พฤษภาคม 2562

ถ้าอยากรู้จักใครจริงๆให้ดูตอนที่เขาเผชิญวิกฤตการณ์หรือในเหตุการณ์ที่บีบให้เขาต้องตัดสินใจในนาทีสำคัญ ที่ถ้าพลาดขึ้นมาจะพลิกความสำเร็จที่มีอยู่ไปสู่ความล้มเหลวได้เลย

ถ้าอยากรู้จักใครจริงๆให้ดูตอนที่เขาเผชิญวิกฤตการณ์หรือในเหตุการณ์ที่บีบให้เขาต้องตัดสินใจในนาทีสำคัญ ที่ถ้าพลาดขึ้นมาจะพลิกความสำเร็จที่มีอยู่ไปสู่ความล้มเหลวได้เลย

************

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

พลเอกเปรมเป็นทหาร แต่พร้อมกันนั้น ผมเห็นว่าท่านเป็นผู้นำที่มีความเป็นนักยุทธศาสตร์อยู่ในตัวด้วย นายทหารที่ขึ้นถึงตำแหน่งแม่ทัพและเป็นผู้บัญชาการทหารบกในสมัยสงครามเย็นย่อมผ่านยุทธการมาไม่น้อย แต่เมื่อบุคคลนั้นข้ามเข้ามามีบทบาทในการเมือง และขึ้นสูงสุดจนเป็นผู้นำรัฐบาลที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่า 8 ปี การรู้จนชำนาญยุทธการในสมรภูมิรบยังไม่ใช่คุณสมบัติเพียงพอสำหรับการอยู่รอดทางการเมือง และความสำเร็จในการบริหารและดำเนินนโยบายในราชการแผ่นดิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงว่าในเวลานั้น ประเทศกำลังเผชิญกับความขัดแย้งและปัญหาความมั่นคงภายนอกและภายใน กลุ่มพลังภายในกองทัพที่เข้ามาเป็นผู้กำหนดผลลัพธ์ทางการเมือง ความพยายามก่อรัฐประหาร ความต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ การช่วงชิงระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน และระหว่างกลุ่มการเมืองภายในพรรคเดียวกัน โดยที่พลเอกเปรมเองก็มิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแล้วก็ต้องขึ้นต่อแรงสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งในและนอกระบบราชการ ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจควบคุมของท่าน หรือของใครคนใดคนหนึ่งได้ทั้งหมด

คนเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่จะประสบความสำเร็จในสถานะและในสถานการณ์แบบนี้ได้ ต้องเป็นคนมีเจตจำนงในอำนาจ มีภาวะผู้นำสูง และมีความจัดเจนทางยุทธศาสตร์อีกแบบหนึ่งต่างจากที่ใช้ในยุทธการ นั่นคือความสามารถที่จะสะกดหรือประนอมความแตกต่างขัดแย้งที่มีอยู่และที่เกิดขึ้นมาใหม่ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ พร้อมกับดึงคนหลายฝ่ายซึ่งมิได้เป็นพวกเดียวกันให้ยอมรับการนำของตน แล้วมาร่วมกันทำงานไปสู่เป้าหมายที่วางไว้จนมีผลงานการบริหารราชการแผ่นดินปรากฏเป็นผลสำเร็จรูปธรรมออกมาในหลายด้าน

บททดสอบใหญ่น้อยทั้งที่เป็นวิกฤตและโอกาสซึ่งเกิดขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสะท้อนว่าคุณสมบัติทั้งหมดนี้พลเอกเปรมมีอยู่ในตัวครบ

มีคำกล่าวกันว่า ถ้าอยากจะรู้จักใครจริงๆ ให้ดูตอนที่เขาเผชิญกับวิกฤตการณ์ หรือในเหตุการณ์ที่บีบให้เขาต้องตัดสินใจในนาทีสำคัญ ที่ถ้าพลาดขึ้นมาก็จะพลิกความสำเร็จที่มีอยู่ไปสู่ความล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ได้เลย การตัดสินใจในนาทีแบบนั้นบางคนบอกว่าอาศัยความรู้สึกตามสัญชาติญาณที่สั่งสมมาจากประสบการณ์หรือ gut feeling เป็นตัวนำ แต่ผมคล้อยตามความเห็นของจอห์น ดิวอี้ นักปรัชญาชาวอเมริกัน ที่บอกว่าการตัดสินใจในเรื่องสำคัญใดๆ นั้น มันจะเผยให้เห็นความจริงอย่างน้อยใน 2 มิติ

มิติแรก คือด้านที่เป็นการกระทำและสัมฤทธิผลรูปธรรมที่เกิดตามมาจากการกระทำนั้น ซึ่งเห็นได้จากภายนอกและเปิดให้คนอื่นๆ จับตาสังเกตและตรวจสอบความจริงในสิ่งที่เราทำลงไป ความสนใจของคนติดตามศึกษาผลงานของพลเอกเปรมส่วนใหญ่จะอยู่ในมิติแรก และมีงานวิชาการในเรื่องนี้ออกมามากพอสมควร ผมอยากเสริมอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้นว่า คุณสมบัติในตัวพลเอกเปรมตอบโจทย์การทำงานกับรัฐราชการไทย

กล่าวคือ รัฐราชการไทยนั้น ไม่ได้ถูกสร้างมาไว้สำหรับให้ใครๆ ก็ได้ ที่ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะบริหารงานได้ผลสำเร็จดีเหมือน ๆ กันทุกคน รัฐราชการไทยเป็นรัฐที่แข็งในความหมายว่ามีอำนาจตามกฎหมายมาก มีขุมพลังและมีกลุ่มพลังหลากหลายแต่ถูกออกแบบไว้ให้แตกออกจากกัน หรือยึดโยงกันแบบเป็นเสี้ยวส่วนโดย แต่ละส่วนมีอิสระในเชิงสัมพัทธ์จากกัน พร้อมกันนั้นก็มีกลไกเชื่อมโยงหลายระดับสำหรับแทรกตัวเข้ามาอยู่ในภาคและพื้นที่ที่อยู่นอกส่วนราชการ แต่การจะควบคุมจักรกลทั้งหมดให้ทำงานตอบสนองนโยบายได้ต้องใช้แรงและพลังหลายด้าน

ถ้าจะขอยืมความเปรียบของพลเอกเปรมมาช่วยอธิบายเรื่องที่ต้องพูดกันยาวให้เข้าใจได้ง่ายและสั้นขึ้น ก็คือ รัฐราชการไทยไม่ใช่ว่าใครขึ้นมาแล้วจะขี่มันได้ง่ายๆ สบายๆ หรือคิดว่าจะมาเป็นคนขับเคลื่อนให้มันพาไปสู่เป้าหมายเพื่อส่งมอบสิ่งมีคุณค่าที่ได้รับจัดสรรให้ถึงมือคนที่รอรับอยู่ได้โดยไม่ลำบาก ความจริง ม้าตัวนี้มีพยศ ไม่ยอมให้ใครขี่มันได้ง่ายๆ มีดื้อ มีเก ไม่ฟังคำสั่ง หรือถ้าฟังก็ต่างฝ่ายต่างรับอาณัติมาจากคนละแหล่ง ที่ต่างฝ่ายต่างทำกันไป หรือมิเช่นนั้น ในเรื่องเดียวที่เป็นปัญหา อาจมีถึง 20 หน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง และที่ร้าย เมื่อไม่พอใจขึ้นมา บางทีมันก็สะบัดคนที่ขึ้นขี่มันลงมาเค้เก้คลุกฝุ่น

รัฐราชการแบบนี้จึงต้องการผู้นำที่มีอำนาจบังคับบัญชาเป็นพลังอยู่ในตัวเอง พร้อมกับมีความเป็นนักยุทธศาสตร์อยู่ในตัว รู้จักกำหนดเป้าหมายที่ทำให้กลุ่มพลังในสังคมทั้งในและนอกภาคราชการขยับเข้าหากันและยอมรับที่จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้นร่วมกันได้ รู้จักเลือกใช้คนทำงานยุทธศาสตร์ได้อย่างเหมาะสม และรู้การจัดวางเงื่อนไขเอื้ออำนวยให้คนทำงานสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ทำงานได้โดยไม่ถูกกลุ่มพลังและข้อจำกัดในระบบของรัฐราชการไทยสกัดขวางเป็นอุปสรรค

แต่ผมคิดว่ามิติส่วนที่ 2 ของดิวอี้อันเป็นมิติภายในก็น่าสนใจไม่แพ้มิติแรกในการทำความเข้าใจการตัดสินใจในตำแหน่งผู้นำรัฐบาลของพลเอกเปรม ดิวอี้บอกว่า การตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ทุกคราวนั้น มันจะ “form, reveal, and test the self” นั่นคือตัวตนของเราจะเผยออกมาในนาทีวิกฤตว่าเราใช้หลักอะไรเป็นธงนำในการตัดสินใจ ว่าควรเลือกทางไหนไม่ควรเลือกทางไหน ควรทำอย่างไร และอะไรที่ไม่ควรทำ และไม่ว่าผลการตัดสินใจนั้นจะเป็นอย่างไร เราควรแลกและไม่ควรแลกอะไร

นักยุทธศาสตร์และผู้นำที่จะได้รับความนับถือ จึงไม่ได้อยู่ที่ผลงานความสำเร็จที่ประจักษ์ได้ของเขาเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่หลักการที่เขาใช้ในการตัดสินใจ ไม่ว่าผลที่ออกมาจะทำให้เขาแพ้หรือชนะ รอดชีวิตหรือไม่รอดชีวิตจากการตัดสินใจนั้นก็ตาม

เหตุการณ์วิกฤตที่เป็นบททดสอบพลเอกเปรมครั้งสำคัญที่สุดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นในปลายเดือนมีนาคม/ต้นเดือนเมษายน ๒๕๒๔ เมื่อนายทหารระดับคุมกำลังที่หนุนท่านขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปีก่อนหน้านั้นเชิญให้ท่านมาเป็นผู้นำทำรัฐประหาร โดยนายทหารบกยังเติร์กรุ่น 7 แกนนำวางแผนทำรัฐประหารครั้งนั้นสามารถระดมกำลังจากกองพันต่างๆ มาสนับสนุนได้ในจำนวนมากที่สุดกว่าการก่อรัฐประหารครั้งใดๆ ที่ผ่านมา ในนาทีที่พลเอกเปรมจะต้องตัดสินใจ บันทึกความทรงจำของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอกในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ “นายพลของแผ่นดิน” (หน้า 194) ระบุว่า

“ขณะเดียวกัน ทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐานก็ได้รับทราบข่าวเรื่องนี้ จึงติดต่อให้พลเอกเปรมเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อกราบถวายบังคมทูลข้อเท็จจริงให้ทรงทราบ”

ในนาทีนั้น การตัดสินใจเลือกทางหนึ่งของพลเอกเปรมผู้เป็นนายกรัฐมนตรีจะส่งผลเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนฐานอำนาจรองรับการปกครอง แต่ถ้าพลเอกเปรมในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกตัดสินใจเลือกไปอีกทาง ท่านก็รู้ว่ามันจะก่อผลเป็นการประจันกัน และถ้าไม่ยอมกันขึ้นมา การต่อสู้ ความเสียหาย ความแตกแยกภายในกองทัพ หรืออย่างน้อยที่สุดคือการหักล้างสับเปลี่ยนขนานใหญ่ภายในกองทัพจะติดตามมา ในขณะที่ไทยยังต้องเผชิญกับเวียดนามในกัมพูชา

จากการตัดสินใจครั้งสำคัญของพลเอกเปรมในนาทีที่ได้รับโทรศัพท์คราวนั้นส่งผลพารัฐราชการไทย กองทัพไทย และระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาในเส้นทางอีกสายหนึ่ง ที่เราเดินกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน แทนที่จะเป็นเส้นทางที่อาจเป็นไปได้สายอื่น

ในวาระที่ท่านถึงแก่อสัญกรรม เพื่อร่วมระลึกถึงท่าน ผมขอฝากท่านผู้อ่านพิจารณาดูว่าการตัดสินใจคราวนั้นของพลเอกเปรมเปิดเผยตัวตนภายในของท่านออกมาอย่างไร

ขอให้ท่านไปสู่สุคติ