posttoday

โปรโมชั่นใหม่ปชป.อุ้มลูกหนี้บัตรเครดิต

13 พฤษภาคม 2554

โค้งสุดท้ายทางการเมืองก่อนเลือกตั้งใหม่ 3 ก.ค. 2554 มีสีสันยิ่งนัก

โค้งสุดท้ายทางการเมืองก่อนเลือกตั้งใหม่ 3 ก.ค. 2554 มีสีสันยิ่งนัก

โดย...ทีมข่าวการเงิน

โค้งสุดท้ายทางการเมืองก่อนเลือกตั้งใหม่ 3 ก.ค. 2554 มีสีสันยิ่งนัก

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือ โหมออกโปรโมชันใหม่มาแย่งส่วนแบ่งการตลาดคู่แข่งแบบดุเดือด

ล่าสุด กระทรวงการคลัง นำโดย กรณ์ จาติกวณิช ออกแคมเปญปรับหนี้บัตรเครดิตที่ถูกโขกดอกเบี้ยแพง ให้เหลือแค่ 10%

โดยใช้กลเม็ดโอนหนี้จากธนาคารพาณิชย์เข้าสู่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2 แห่ง คือธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย

เพราะปัจจุบันมีหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากที่ลูกค้ายอม “จ่ายขั้นต่ำ” ประมาณ 10% ของยอดใช้จ่าย ซึ่งต้องโดนชาร์จดอกเบี้ยโหดถึง 20%

โปรโมชั่นใหม่ปชป.อุ้มลูกหนี้บัตรเครดิต

รวมถึงลูกหนี้หลายรายเจอมรสุมเศรษฐกิจ เริ่มเกิดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง รูดบัตรเพลิน แต่ลืมดูรายได้ตัวเอง สุดท้ายจ่ายไม่ไหว

หากลูกหนี้เข้าโครงการนี้ เงินก้อนดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นสินเชื่อบุคคลของธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ที่คิดดอกเบี้ยสูงสุดแค่ 10% เท่านั้น

งานนี้ รมว.คลัง เปิดไฟเขียวช่วยลูกหนี้ไว้สูงสุดถึง 3 แสนบาท โดยคาดว่าจะมีคนได้อานิสงส์จากมาตรการนี้นับหมื่นคน

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การคิดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลในระดับ 10% ยังเป็นระดับที่ธนาคารมีกำไร โดยลูกค้าที่รับมาจะเป็นลูกค้าบัตรเครดิตที่มีประวัติการผ่อนชำระดี ไม่เป็นหนี้เสีย ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ควรได้รับความช่วยเหลือให้ได้ดอกเบี้ยถูกลง

อย่างไรก็ดี จะต้องมีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการนำเงินไปรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตเดิม เพื่อไม่ให้เกิดการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพราะคงไม่มีเงื่อนไขให้ลูกค้าต้องปิดบัตรเครดิตกับสถาบันการเงินเดิม

“ถ้าเป็นลูกหนี้ดีเรารับได้อยู่แล้ว ธนาคารจะเป็นฝ่ายพิจารณาลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการร่วมกับกระทรวงการคลัง อาจสมัครผ่านกระทรวงการคลังหรืออย่างไรต้องดูอีกครั้ง” อภิศักดิ์ กล่าว

วรวุฒิ นิสภกุลธร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย กล่าวว่า โครงการแก้หนี้บัตรเครดิตของรัฐบาลจะส่งผลกระทบกับบริษัทอย่างแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนลูกค้าที่มีการผ่อนชำระ (Revolving) อยู่ถึง 60% จากยอดสินเชื่อคงค้างรวม 3.3 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น หากเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ลูกค้าต้องปิดบัญชีด้วย ก็อาจส่งผลกระทบต่อรายได้จากดอกเบี้ย และฐานลูกค้าจำนวน 1.7 ล้านใบของบริษัทได้

“โครงการนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงกับสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจบัตรเครดิตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รายละเอียดต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ซึ่งหากธนาคารรัฐคิดดอกเบี้ยที่ 10% ผลกระทบต้องมีอย่างแน่นอน เราคงจะขอรอดูรายละเอียดและเงื่อนไขโครงการดังกล่าวอีกครั้งว่าจะรับมืออย่างไร” วรวุฒิ กล่าว

สุขดี จงมั่นคง กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมธุรกิจบัตรเครดิตยังไม่ได้มีการหารือถึงเรื่องดังกล่าว จึงไม่สามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม มองว่าโครงการดังกล่าวคงมีรูปแบบไม่ต่างจากโครงการบ้านหลังแรกที่ให้ดอกเบี้ย 0% นาน 2 ปี โดยหากธนาคารรัฐคิดดอกเบี้ยการรีไฟแนนซ์ที่ 10% สถาบันการเงินแต่ละแห่งคงต้องหาทางรับมือกันเอาเอง

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนของลูกค้าที่ผ่อนชำระหนี้อยู่ที่ 50% จากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร 6.6 หมื่นล้านบาท ส่วนจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้ากลุ่มนี้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

“ขณะนี้บริษัทกำลังศึกษารายละเอียดของโครงการดังกล่าวอยู่ว่าจะมีวงเงินและระยะเวลามากน้อยเพียงใด ส่วนเราจะลดดอกเบี้ยให้ลูกค้ากลุ่มนี้หรือไม่ต้องขอคิดดูก่อน แต่ในเบื้องต้นที่บอกว่าจะให้แบงก์รัฐบอกว่าจะคิดดอกเบี้ยที่ 10% หากคิดว่ารับความเสี่ยงไหวก็ไม่เป็นไร เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน” สุขดี กล่าว

แต่ในมุมมองของ กัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ เห็นว่า มาตรการรับรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตของรัฐบาลเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการบัตรเครดิตมากกว่า

เนื่องจากลูกค้าที่มีบัตรเครดิตเกิน 3 ใบ แต่ผู้ประกอบการยังพิจารณาให้ และการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงๆ 20-28% แสดงว่าผู้ประกอบการต้องยอมรับความเสี่ยงอยู่แล้ว

“ผู้ประกอบการที่อนุมัติบัตรเครดิตใบหลังๆ จากใบที่ 3 ก็ควรที่จะได้รับโทษ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะมาช่วยอุ้มผู้ประกอบการเวลาเกิดหนี้เสียโดยอ้างผลประโยชน์ของลูกหนี้” กัลยาณี ระบุ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะรับโอนหนี้จะต้องมีการตรวจสอบมูลหนี้ที่ถูกต้องแท้จริง ไม่ใช่รับหนี้มาทั้งก้อน และควรที่จะให้มีการผ่านกระบวนการประนีประนอมหนี้ก่อน เพื่อสร้างความยุติธรรม

“การที่รัฐบาลมีมาตรการรับโอนหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต ฯลฯ หากไม่มีการผ่านกระบวนการการประนีประนอมให้เจ้าหนี้ยอมรับความเสี่ยงหรือความเสียหายบ้าง จะทำให้คนในประเทศเกิดนิสัยเสีย ไม่มีวินัยทางการเงิน และรอให้รัฐบาลมาอุ้มตลอดไป และโยนปัญหาไปให้แบงก์ของรัฐรับผิดชอบ” กัลยาณี กล่าว

แคมเปญนี้ถือว่าโดนใจคนชั้นกลางที่เป็นนักช็อปให้เข้ามาเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์แน่

แต่คำถามก็คือ ก่อนออกโปรโมชัน ได้ถามสปอนเซอร์หลักก็คือประชาชนผู้เสียภาษีก่อนหรือไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่!!!