posttoday

เศรษฐกิจโลกส่อเค้าป่วยหนัก-ซึมยาว

14 มกราคม 2554

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum : WEF) องค์กรระดับโลกประเมินเศรษฐกิจและสถานการณ์ในภาพรวมของโลกในปี 2011 อย่างหม่นหมองจนน่าใจหาย

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum : WEF) องค์กรระดับโลกประเมินเศรษฐกิจและสถานการณ์ในภาพรวมของโลกในปี 2011 อย่างหม่นหมองจนน่าใจหาย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum : WEF) องค์กรระดับโลกประเมินเศรษฐกิจและสถานการณ์ในภาพรวมของโลกในปี 2011 อย่างหม่นหมองจนน่าใจหาย

 

เศรษฐกิจโลกส่อเค้าป่วยหนัก-ซึมยาว

รายงานชิ้นดังกล่าว ซึ่งเปิดออกมาก่อนที่จะมีการประชุมในช่วงสัปดาห์สุดท้ายปลายเดือน ที่กรุงดาวอส ของสวิตเซอร์แลนด์ เชื่อว่า โลกไม่สามารถรับมือกับความเลวร้ายทางเศรษฐกิจและการเมืองที่รุนแรง หรือมากกว่าที่อยู่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะจะมาสู่ผลกระทบที่มหาศาล

สาเหตุหลักที่มีการประเมินไปในทิศทางดังกล่าว เพราะความบอบช้ำของแต่ละประเทศในโลกจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องใหญ่และสาหัส จนทำให้การฟื้นคืนสู่สภาพเดิมเป็นเรื่องยาก

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สถานการณ์ด้านตัวเลขงบประมาณของประเทศใหญ่ๆ อย่าง สหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น ที่สั่นคลอน เป็นแรงถ่วงที่ฉุดความแข็งแกร่งของประเทศเหล่านั้นลง

ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมือและการเจรจาในเวทีโลกในการจัดการปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศก็เพิ่มดีกรีความตึงเครียดมากขึ้น ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลของแต่ละประเทศมีความจำเป็นต้องดึงเงินจากคลังออกมาใช้ในหลายๆ ด้านที่เป็นภัยคุกคามของโลก ทั้งการค้าโลก การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จ

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่ผ่านมา การประชุมของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจมั่งคั่ง หรือ จี20 แทบเรียกได้ว่าคว้าน้ำเหลวในการแก้ไขปัญหา หรือทิศทางในรายละเอียด เช่นเดียวกับการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้น ในภาพรวมแล้วความบอบช้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจคือต้นทุน ที่เสริมด้วยความล้มเหลวในด้านความร่วมมืออีกหลายๆ ด้าน เป็นสิ่งที่เชื่อได้ว่าโลกไม่สามารถทนทานกับความเลวร้ายมากกว่าที่เป็นอยู่ได้อีกแล้ว

สิ่งที่น่าสังเกตคือ เพราะสถานการณ์ในโลกอ่อนแอมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นต้นตอของการส่งผ่านหรือถ่ายทอดปัญหาจากส่วนหนึ่งในโลกไปยังส่วนอื่นๆ ได้รวดเร็วขึ้น

โรเบิร์ต กรีนฮิลล์ กรรมการผู้จัดการของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า ในปี 1929 ความล้มเหลวของวอลสตรีตใช้เวลานับเดือนกว่าที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆ ของโลก ขณะที่วิกฤตในปี 2008 ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็ส่งต่อแรงกระเพื่อมดังกล่าวไปยังส่วนที่เหลือ

ความพยายามป้องกันและรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ไม่บังเกิดผลสำเร็จ

กรีนฮิลล์ ยังใช้คำพูดว่า ระบบในศตวรรษที่ 20 ล้มเหลวในการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม มองไว้คือ ในขณะที่โลกพยายามที่จะลดอุปสรรคที่อาจส่งผลกระทบกระเทือนทางการค้า ปรับปรุงเครือข่ายนานาชาติ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อคนยุคหลัง แต่โลกกลับเพิ่มความแตกแยกภายในประเทศ อีกทั้งมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่สร้างขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละประเทศไว้ จึงเป็นต้นเหตุที่นำสู่ความตึงเครียดที่เพิ่มทวีขึ้น ทั้งในด้านการค้า อัตราแลกเปลี่ยน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจโลก

การมองโลกอย่างหม่นๆ ด้วยคำเตือนนานัปการของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกับสถานการณ์ของโปรตุเกสที่กำลังระส่ำระสาย และมุมมองภาพกว้างของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ที่เสริมความมืดครึ้มของสถานการณ์โลกให้หมองคล้ำขึ้น โดยเชื่อว่าในปี 2011 จะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงโค้งกลับคืนสู่ระดับของการเติบโต ที่น่าโล่งใจก็คือ จะไม่มีวิกฤตการเงินระลอกใหม่เกิดขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นการฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่แน่นอนนัก

ธนาคารโลกประเมินการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกอยู่ที่ราว 3.3% ลดลงจากเมื่อปี 2010 ซึ่งอยู่ที่ 3.3%

การประเมินเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกจะกลับมาดีขึ้นในปี 2012 ด้วยจีดีพีแกว่งอยู่ที่ราว 3.6%

สิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่โลกต้องต้านทานให้อยู่ก่อนที่จะเกิดอาการช็อกทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ มีด้วยกัน 3 เรื่อง

ปัจจัยแรก คือ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและวิกฤตหนี้

มอนเซฟ ชีคห์โรโฮ ศาสตราจารย์ด้านการเงินระหว่างประเทศ จาก HEC School of Management ในความเสี่ยงสำคัญสำหรับยุโรปและสหรัฐคือ การขาดการมองปัญหาและการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง ขณะที่จีนและอินเดียต่างมีนโยบายในระยะยาว

สอง คือ เศรษฐกิจที่มีถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งในปี 2010 ที่ผ่านมา การค้าในลักษณะดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งช่องโหว่ดังกล่าวจะทำให้หลายประเทศในโลกจมอยู่ในภาวะยากจน

ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ การเติบโตของทรัพยากร โดยเฉพาะด้านอาหาร เป็นไปอย่างจำกัด ขณะที่ทรัพยากรน้ำและพลังงานเป็นสองสิ่งที่มีความต้องการค่อนข้างในระดับตัวเลขสองหลักในทุกๆ ปี โดยคาดว่าในปี 2030 ดีมานด์จะเพิ่มขึ้นอีกราว 30%

ก่อนหน้านี้ รายงานเมื่อช่วงปลายปีของสหรัฐในเรื่องหุ้นสินค้าเกษตร ก็สอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์ของวัตถุดิบโลกที่ลดลง สวนทางกับความต้องการ

แม้มุมมองของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม จะเป็นเรื่องที่ทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจโลกในปี 2011 เป็นไปอย่างไม่สดใส แต่ต้องเชื่อมั่นว่าภาพร้ายในช่วงต้นปีถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในเมื่อเศรษฐกิจโลกบอบช้ำ และไม่สามารถต้านทานกับความท้าทายใหม่ที่รุนแรงใดๆ ได้อีก

นั่นคือ “การบ้าน” ของทุกประเทศที่จะตีกรอบป้องกันลดแรงบอบช้ำที่เกิดขึ้น