posttoday

พันทุจริตข้าว! ภท.รับไปอีกดอก

23 ธันวาคม 2553

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาหลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งฟ้าผ่า “วีระศักดิ์ จินารัตน์” ผู้ช่วย รมว.พาณิชย์ เพราะมีส่วนพัวพันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาล

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาหลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งฟ้าผ่า “วีระศักดิ์ จินารัตน์” ผู้ช่วย รมว.พาณิชย์ เพราะมีส่วนพัวพันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาล

โดย...ทีมข่าวการเมือง

 

พันทุจริตข้าว! ภท.รับไปอีกดอก

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาหลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งฟ้าผ่า “วีระศักดิ์ จินารัตน์” ผู้ช่วย รมว.พาณิชย์ เพราะมีส่วนพัวพันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาล

ต้นสายปลายเหตุมาจากการที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอเรื่องการป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลให้ ครม.รับทราบ ประกอบกับพบว่า การเตรียมระบายข้าว 4.5 แสนตัน มูลค่า 5,000 ล้านบาท ในวันที่ 29 พ.ย. มีการวางเงินค้ำประกัน 25 ล้านบาท ของบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด ที่จะซื้อจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)ไม่ชอบมาพากล

เงินดังกล่าวมาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของโรงเรียนโปลีเทคนิค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีนายวีระศักดิ์เป็นอธิการบดีวิทยาลัยดังกล่าว โดยมอบหมายให้ น.ส.ฐานิญา สิงห์แจ่ม เป็นผู้ออกแคชเชียร์เช็คผ่านหมายเลขบัญชี 3131781394 ธนาคารกรุงไทย สาขาอุบลราชธานี โดยสั่งจ่ายให้กับ อ.ต.ก.

นอกจากนี้ ผลการวิจัยการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริตที่ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการยังระบุอีกว่า ปัญหาที่พบมี 2 ประการ ได้แก่1.ปัญหาข้าวค้างโกดังกลางของรัฐบาล ข้อมูลณ วันที่ 17 พ.ค. 2553 มีจำนวน 5.604ล้านตัน ค้างมาตั้งแต่ปี 25442545 เรื่อยมาจนถึงฤดูนาปรังปี 2552 เสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บประมาณ 810 ล้านบาทต่อเดือน และคุณภาพข้าวเสื่อมลง

2.ปัญหาการสำรวจผลผลิตของครัวเรือนที่ทำประกัน และข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกจริงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นสมควรมีข้อเสนอเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลต่อ ครม. คือ กรณีข้าวที่ค้างอยู่ในโกดังรัฐบาล ให้รัฐบาลออกคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และหน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งรัดทำรายงานการเงิน และปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกโครงการเป็นรายโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น นางพรทิวานาคาศัย รมว.พาณิชย์ ในฐานะผู้บังคับบัญชา สั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดยมีนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

คงต้องรอดูว่าจากนี้ไปอีก 30 วัน จะมีผลสรุปออกมาอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์แทบจะลุกเป็นไฟหลังจากเรื่องนี้แดงขึ้นมา เพราะบุคคลที่ถูกเด้งเป็นถึงมือขวาเจ้ากระทรวง

ผลจากคำสั่งเด้งฟ้าผ่าย่อมสะเทือนถึงกลุ่มการเมืองในพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานในโควตาของพรรค

กลุ่มการเมืองที่ได้รับอานิสงส์ในด้านลบไปเต็มๆ คือ “กลุ่มมัชฌิมา” ของ สมศักดิ์เทพสุทิน แกนนำกลุ่ม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นโควตาของกลุ่มนี้ ประกอบกับเส้นทางการเข้าสู่ตำแหน่งของวีระศักดิ์ และพรทิวา ล้วนมาจากการผลักดันของหัวหน้ามุ้งมัชฌิมาคนนี้แทบทั้งสิ้น

ในรายของวีระศักดิ์ ได้รับการทาบทามมาร่วมงานกับสมศักดิ์ ตั้งแต่วีระศักดิ์พลาดท่าสอบตกจากตำแหน่ง สว.อุบลราชธานี ซึ่งถือว่าเป็นกัลยาณมิตรของสมศักดิ์ในด้านการวางนโยบายหาคะแนนความนิยมทางการเมืองมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ และวังน้ำยมก็แตกหน่อออกมาเป็นกลุ่มมัชฌิมา ด้วยความรู้ความสามารถที่มีดีกรีถึงดอกเตอร์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ จึงเป็นผลพลอยได้ให้เป็นขุนพลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มมัชฌิมา

ความไว้วางใจที่สมศักดิ์มีให้วีระศักดิ์ สะท้อนได้จากการมอบตำแหน่งประธานฝ่ายวิชาการของกลุ่มมัชฌิมา เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองนโยบายของกลุ่มทั้งหมด จากนั้นเมื่อกลุ่มมัชฌิมาไปร่วมงานกับ “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” เจ้าพ่อทีพีไอ ก็ยังมีส่วนสำคัญต่อการปั้นนโยบายประชานิยมในแบบมัชฌิมาธิปไตย

ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 วีระศักดิ์ได้ลงเลือกตั้ง สส.สัดส่วน กลุ่ม 4 (บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด) ด้วยความหวังจะใช้ความเป็นอธิการบดีโรงเรียนโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาสร้างฐานเสียงและคะแนนนิยมในภาคอีสาน แต่จนแล้วจนรอดก็ไปไม่ถึงฝั่งเพราะสอบตก จึงพลาดการไปทำหน้าที่ สส.อย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม การร่วมรัฐบาลของพรรคมัชฌิมาธิปไตยกับพรรคพลังประชาชนในช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีบวกกับพลังป๋าดันจากสมศักดิ์ จึงกลายเป็นใบเบิกทางให้วีระศักดิ์เข้าไปมีบทบาทในกระทรวงพาณิชย์ค่อนข้างมาก แทบเรียกได้ว่า “รมต.พาณิชย์น้อย” เลยก็ว่าได้

เริ่มตั้งแต่การเป็นที่ปรึกษา รมช.พาณิชย์ (พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์) จากนั้นร่วมเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และประธานคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทั้งระบบ ซึ่งล้วนเป็นคณะทำงานที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างผลงานของกระทรวงพาณิชย์แทบทั้งสิ้น

ภายหลังจากมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากพรรคพลังประชาชนมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ชื่อของวีระศักดิ์มาแรงค่อนข้างมากในการขึ้นมาดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์

แต่ด้วยความเขี้ยวทางการเมืองที่ยังไม่มีมากพอ ทำให้สมศักดิ์เลือกที่จะให้ “พรทิวา นาคาศัย” ไปนั่งในเก้าอี้เจ้ากระทรวง เพราะอย่างน้อยก็มีหลังบ้านที่รู้ทันการเมืองอย่าง “อนุชา นาคาศัย” คนสนิทของเจ้าพ่อมัชฌิมา แต่สมศักดิ์ก็เลือกให้วีระศักดิ์เข้าไปเป็นผู้ช่วย รมว.พาณิชย์ เพื่อเป็นแขนขาให้กับพรทิวาที่ยังไม่แม่นเรื่องด้านการค้าการลงทุนมากเท่าใดนัก

เมื่อมองจากเส้นทางสู่กระทรวงพาณิชย์ของ “วีระศักดิ์” แล้ว จะเห็นได้ว่าผูกโยงกับ“สมศักดิ์ เทพสุทิน” แทบทุกกระบวนการ แถมยังเป็นคนสำคัญในการวางนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ จึงหลีกเลี่ยงการถูกลากไปเกี่ยวข้องด้วยภายหลังเกิดข่าวดังกล่าวออกมาไม่ได้

ดังนั้น จากนี้ไปกลุ่มมัชฌิมาซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มการเมืองของพรรคภูมิใจไทย ย่อมต้องเจอกับแรงเสียดทานทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่สุดแล้วประเด็นสำคัญ คือ หากยิ่งทอดเวลานานออกไปโดยที่ยังไม่สามารถชี้แจงข้อสงสัยให้กับสังคมได้ ย่อมจะทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายทั้งองคาพยพของพรรคภูมิใจไทยด้วย ซึ่งกำลังเตรียมตัวประแป้งทาหน้าเข้าสู่สนามเลือกตั้งในเร็วๆ นี้