posttoday

2 ด่านสุดหิน จับตาสัญญาณขัดแย้งล้มกระดานแก้รัฐธรรมนูญ

09 มีนาคม 2564

โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

************************

มีสัญญาณลบเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อาจถูกสกัดไม่สามารถตั้งสสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ หลัง สว.หลายคนออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ว่า บ้านเมืองอาจเข้าสู่จุดวิกฤต หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกเบรก รวมถึงการแสดงจุดยืนต่างๆ ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจไม่ผ่านความเห็นชอบในการแก้ไขวาระ 3 จนนำไปสู่ความวุ่นวายจากแรงกดดันนอกสภา ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจชชิงจังหวะยุบสภาใช้ความได้เปรียบ เพราะยังมีรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่เอื้อกับตนเองใช้ในการเลือกตั้ง

ถึงเวลานี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นับถอยหลังเข้าสู่ยกสุดท้ายว่าจะสำเร็จหรือไม่ และกำลังผ่าน 2 ด่านสุดหิน

ด่านแรก ที่ศาลรัฐธรรมนูญ สว.และพรรคพลังประชารัฐ ยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้กระทำโดยมิชอบ รัฐสภาไม่มีอำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดวินิจฉัยแล้วในวันพฤหัสบดีที่ 11 มี.ค. นี้

ในชั้นการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ มีประเด็นน่าสนใจ ศาลขอให้ 4 บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญในอดีต ประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 , นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 (แต่ไม่ได้ประกาศใช้) และ เลขานุการกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำหนังสือ แสดงความเห็นว่า รัฐสภาจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้หรือไม่

หากพิจารณาจากจุดยืนและคำสัมภาษณ์ของมือกฎหมายทั้งสี่ ประเมินได้ว่า 2 ต่อ 2 ฝั่งนายมีชัย กับนายอุดม มีแนวโน้มยืนฝั่งแก้ไม่ได้ เพราะอยู่ข้างรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนอีก 2 นายบวรศักดิ์ กับ นายสมคิด มีรายงานจากสื่อว่า มีจุดยืนให้รัฐสภาสามารถแก้ได้

ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตุว่า ทั้ง 4 คนล้วนมีส่วนมีส่วนได้เสียกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่กำลังจะแก้อยู่นี้ แต่ก็ยังหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะมีคำวินิจฉัยในแนวทางลบ เพราะอาจไปสู่การสร้างชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ และไม่ได้เป็นทางออกประเทศ

หากศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียวให้การแก้รัฐธรรมนูญผ่านด่านนี้ได้ ก็เข้าสู่การลงมติวาระ 3 โดยรัฐสภา ตามขั้นตอนกำหนดว่า เสียงที่จะเห็นชอบต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่ง เงื่อนไขสำคัญคือ ในจำนวนนี้ต้องมีเสียง สว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนมากสมาชิก หรือ 84 เสียง

สถานการณ์ปัจจุบัน สว. ประกาศว่า จะไม่เห็นชอบวาระ 3 “ครูหยุย”นายวัลลภ ตังคณานุกรักษ์ สว.คนดัง อ้างเหตุผลที่จะคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า แม้ว่า ในหลักการจะห้ามไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 กับ หมวด 2 เกี่ยวกับ รูปแบบการปกครองของรัฐไทย และ หมวดพระมหากษัตริย์ แต่ก็ยังกังวลว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อาจเป็นการตีเช็คเปล่าให้ สสร. แก้ตามใจชอบ ที่สุดก็กระทบต่อเนี้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอีกหลายมาตรา ที่อยู่นอกเหนือจากสองหมวดนี้ เช่นเดียวกับ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.อีกราย อ้างว่า "ส.ว.หลายคนเห็นตรงกันว่า ควรโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ส่วนจะเป็นชนวนเหตุให้เกิดชุมนุมใหญ่ของม็อบราษฎรตามมาหรือไม่นั้น อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”

มีความเป็นไปได้ที่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจสะดุดกลางคัน ความจริงรู้กันอยู่ว่า หาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแก้สำเร็จ พรรคพลังประชารัฐจะเสียเครื่องมือ ปูทางสู่อำนาจอีกครั้ง เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มีตัวช่วยให้ได้เปรียบทั้ง สว.แต่งตั้ง 250 คน และ การให้ สว.ลงมติเลือกนายกฯได้อีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ก่อนหน้านี้ วิปรัฐบาลบอกว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินว่า รัฐสภาไม่สามารถแก้ไขได้ แผนสำรองที่เตรียมไว้ คือ แก้ไขรายมาตรา แน่นอนว่า ถ้าเช่นนั้น ก็อาจได้แค่ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการ จะไม่ได้ประเด็นที่สังคมคัดค้าน เช่น ปิดสวิชท์ สว. หรือ ยกเลิกบทเฉพาะกาลไม่ให้ สว.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะแม้เป็นการแก้ไขรายมาตรา แต่ก็ต้องอาศัยเสียงจาก สว. จำนวนมากอีก

สิ่งสำคัญ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากฉลุยผ่านวาระ 3 ไม่ได้เป็นการตีเช็คเปล่าให้ สสร.เขียนรัฐธรรมนูญได้ตามใจชอบอย่างที่ สว.วิจารณ์ เพราะเมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว ก็ต้องไปทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่า จะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ อีกทั้ง ต้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ2 มานี้ ยังกำหนดให้ สสร.เมื่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเสร็จ ต้องส่งไปทำประชามติถามความเห็นประชาชนขั้นตอนสุดท้ายอีกรอบ

ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ ยังต้องฟังความเห็นประชาชนรอบด้าน และตัว สสร. 200 คนเองก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดังนั้น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจนกว่าจะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2564 ล้วนมาจากเสียงของประชาชน โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตยทุกขั้นตอน

หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้โดนล้มกระดานอีกรอบจากการขัดขวางของพรรคพลังประชารัฐ และเครือข่าย ทั้งที่เดินหน้ามาเกือบปี เราอาจะเห็น ประเทศจมอยู่กับวิกฤตความขัดแย้งขยายตัวอีกรอบ ไม่เห็นทางออกประเทศอีกหลายปี สังคมจะแบ่งขั้วกันรุนแรงมากขึ้น และน่าเสียดายยิ่งหากพรรคพลังประชารัฐ ทิ้งโอกาสทองที่จะใช้สถานการณ์นี้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับคลี่คลายบรรยากาศความขัดแย้งของสังคม