posttoday

ยุบสภา มึ.ค-เม.ย.ไม่ง่าย ติดล็อกสารพัด ซักฟอก-แก้รธน.

13 ธันวาคม 2553

คําประกาศของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยุบสภาในช่วงปีหน้า ระหว่าง มี.ค.เม.ย. 2554 เป็นไปตามที่พูดหลายครั้งว่า พร้อมคืนอำนาจประชาชน ถ้า 3 เงื่อนไขหลักได้รับการคลี่คลาย 1.ปัญหาเศรษฐกิจ 2.ความขัดแย้งทางการเมือง และ 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น

คําประกาศของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยุบสภาในช่วงปีหน้า ระหว่าง มี.ค.เม.ย. 2554 เป็นไปตามที่พูดหลายครั้งว่า พร้อมคืนอำนาจประชาชน ถ้า 3 เงื่อนไขหลักได้รับการคลี่คลาย 1.ปัญหาเศรษฐกิจ 2.ความขัดแย้งทางการเมือง และ 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น

โดย...ทีมข่าวการเมือง

 

ยุบสภา มึ.ค-เม.ย.ไม่ง่าย ติดล็อกสารพัด ซักฟอก-แก้รธน.

คําประกาศของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยุบสภาในช่วงปีหน้า ระหว่าง มี.ค.เม.ย. 2554 เป็นไปตามที่พูดหลายครั้งว่า พร้อมคืนอำนาจประชาชน ถ้า 3 เงื่อนไขหลักได้รับการคลี่คลาย 1.ปัญหาเศรษฐกิจ 2.ความขัดแย้งทางการเมือง และ 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น

เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยแต่ละด้าน ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะอยู่ในช่วงฟื้นตัว สภาพัฒน์ประเมินปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังเติบโต แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่

สำหรับความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 5 ปี มาฝีแตกในเหตุการณ์พฤษภา “เผาเมืองอำมหิต” จนแผลประเทศยังไม่หายดี อภิสิทธิ์ ในฐานะผู้นำประเทศ แม้จะเจ็บหนักแต่ก็สามารถประคองประเทศให้เดินหน้า ไม่บอบช้ำกว่าที่คาดไว้ บ้านเมืองกลับมาได้รับความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง

ผลพวงจากเหตุปะทะระหว่างเสื้อแดงกับทหารและกองกำลังติดอาวุธ ทั้งสองฝ่ายถูกดำเนินคดี ฝ่ายแกนนำเสื้อแดงถูกยื่นฟ้องเป็นจำเลยข้อหาก่อการร้าย ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์ถูก “ทักษิณ ชินวัตร” และแกนนำเสื้อแดงใช้เวทีโลกตรวจสอบข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน

ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ยังเป็นแรงกดทับรัฐบาล และ ปมแตกแยก ลูกใหญ่ของประเทศที่อาจปะทุขึ้นมาอีก โดยพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดง ได้กดดันให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำ นปช.ที่ถูกคุมขัง ทว่า การเคลื่อนไหว ชุมนุม จัดกิจกรรมในช่วงหลังยังไม่ปรากฏความรุนแรงขึ้นเพราะอยู่ใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตรงกันข้าม มีก็แต่การจับกุมตัวมือยิงเอ็ม 79 มือวางระเบิดที่เจ้าหน้าที่ขยายผลได้มากเกี่ยวพันกับการชุมนุมม็อบแดง

กระนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง หลายคนยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะสงบอยู่ใต้กรอบกฎหมาย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เพราะยังมีเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ที่แกนนำ นปช.เองก็คุมไม่อยู่ รวมถึงกลุ่มที่จ้องสร้างสถานการณ์

การที่อภิสิทธิ์ประกาศว่าจะยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ยังเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนปีใหม่ แล้วเปลี่ยนมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ส่วนศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ต้องปิดตัวลง แต่ปัดฝุ่นกลับมาใช้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) มาทำหน้าที่แทน

สำหรับรัฐบาลอาจเสี่ยงที่ไม่มีกฎหมายติดหนวดมาคุมสถานการณ์ โดยเฉพาะหากแกนนำเสื้อแดงรุ่นสอง ที่ไม่ติดคดีก่อการร้าย ประกาศชุมนุมใหญ่ ปักหลักกดดันให้ปล่อยตัวแกนนำ ก็จะทำให้บรรยากาศวุ่นวายอีกรอบ และเสี่ยงที่ประเทศจะเกิดความรุนแรงตามมา

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องใช้ทั้ง “การเมือง” และ “กฎหมาย” ควบคู่กันไม่ให้ขึงตึงเกินไป

ในด้านการเมือง หากการชุมนุมของคนเสื้อแดงเกิดความรุนแรงขึ้นอีก ผลเสียก็อยู่ที่แกนนำเอง และก็จะกระทบกับพรรคเพื่อไทย

ปัจจัยจากการชุมนุมที่ยังมีความเปราะบางต่อประเทศ ด้านหนึ่งหากมีการยุบสภาในช่วงเดือน มี.ค. อย่างที่อภิสิทธิ์ลั่นไว้ นี่ก็เป็นงานหนักของพรรคเพื่อไทยและแกนนำฝ่ายสีแดง ที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรง

เพราะเมื่อรัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใกล้ถึงช่วงเลือกตั้ง เกิดมีความรุนแรงขึ้นและมีข้อมูลพันไปยังแกนนำเสื้อแดงเหมือนที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็จะเสียคะแนนนิยมก่อนเลือกตั้ง

สำหรับรัฐบาล การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ด้านดี คุมให้เกิดความมั่นคง ข้อเสีย ส่งผลต่อภาพพจน์ต่างประเทศ แต่ถ้าเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้นักท่องเที่ยวมั่นใจสถานการณ์ในประเทศไทย

เงื่อนไขของอภิสิทธิ์ คือ ความขัดแย้งต้องลดลง นี่จึงเป็นแรงเหวี่ยงมุมกลับ กดดันไปที่ฝ่ายเสื้อแดงที่ต้องทำให้สังคมเห็นว่าไม่ใช่มาม็อบมาป่วนเมือง แต่ถ้าเกิดความวุ่นวาย การยุบสภาก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้

ทว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะยุบได้หรือไม่ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น ที่ผ่านมารัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาแก้ในประเด็นระบบเลือกตั้ง สส. และประเภทหนังสือสนธิสัญญากับต่างประเทศที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา คาดว่าจะเสร็จในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2554

ซึ่งการประชุมสภาสมัยหน้าเปิดปลายเดือน ม.ค. 2554 ทันทีที่เปิด คณะกรรมาธิการฯ ก็ชงผลการพิจารณาเพื่อให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์

ทว่า ต้องติดตามคือ การแก้ไขในประเด็นระบบเลือกตั้ง สส.จากพวงใหญ่เป็นเขตเล็ก และเปลี่ยนระบบสัดส่วน เป็นระบบปาร์ตี้ลิสต์นั้น จะต้องแก้ไข “พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และ สว.” ด้วยเพื่อให้สัมพันธ์กัน ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 12 เดือน หลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ คาดว่าเร็วสุด กรณีการแก้รัฐธรรมนูญเสร็จในเดือน มี.ค. การแก้ไขกฎหมายลูกก็จะเสร็จในช่วง เม.ย.พ.ค. 2554 ถึงจะยุบสภาได้

สำหรับอภิสิทธิ์แล้ว ความตั้งใจที่จะยุบสภา มี.ค.เม.ย. ทั้งที่รัฐบาลยังมีเวลาอยู่ในอำนาจได้ถึงเดือน ธ.ค. 2554 หรืออีก 1 ปี วิเคราะห์ได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังได้เปรียบจากผลที่ไม่ถูกยุบพรรค ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังเดินไปได้ดี บรรยากาศความขัดแย้งภายนอกนิ่ง รัฐบาลเองก็เตรียมออกนโยบาย เพิ่มค่าแรง ให้สวัสดิการกับกลุ่มคนชั้นล่าง เกษตรกร แรงงาน และเอาใจบรรดามอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ เพราะถ้ารัฐบาลปล่อยเวลาเนิ่นนานไปท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ผันผวน และมีปัจจัยอีกหลายลูกจ่อกระทบ รวมถึงปัญหาคอร์รัปชัน ก็อาจกระเทือนต่อความนิยมรัฐบาล

แต่ที่จะทำให้คำประกาศของอภิสิทธิ์ ยุบสภา มี.ค.–เม.ย. เกิดขึ้นไม่ได้ คือ ถ้าฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในสมัยประชุมสภาหน้า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 กำหนดไว้ว่า เมื่อมีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาไม่ได้

“เฉลิม อยู่บำรุง” ประธาน สส.พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า จะเปิดอภิปรายแน่เพราะรัฐบาลมีปัญหาทุจริต และทันทีที่สภาเปิดประชุม ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายคาไว้ ซึ่งช่วงนั้นนายกฯ จะยุบสภาไม่ได้

ดังนั้น ช่วง มี.ค.พ.ค. 2554 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการยุบสภา นอกจาก 3 กรณี 1.ฝ่ายค้านไม่ยื่นญัตติอภิปรายฯ ซึ่งเป็นไปได้ยาก 2.ชิงยุบก่อนเปิดสภา คือ ม.ค.ต้นปี 2554 หรืออีก 1 เดือนข้างหน้า แต่จะเป็นหักพรรคร่วมรัฐบาล เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จ 3.ยุบสภาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยรัฐบาลอาจอยู่ลากยาวไปถึง ต.ค. 2554 เพื่อจะได้จัดงบประมาณปี 2555 และจัดทัพโยกย้ายบิ๊กข้าราชการวางขุมกำลังครั้งสำคัญอีกรอบ เพราะถ้ารัฐบาลถูกซักฟอกสดๆ ร้อนๆ แล้วมายุบสภาทันที ก็คงยาก เนื่องจากอยู่ในช่วงเสียคะแนนนิยมอยู่

...สูตรหลังอยู่ยาวเป็นไปได้สูง