posttoday

แก้ลำแต่ยังไม่จบ ปมถวายสัตย์ฯ 

01 กันยายน 2562

การถวายสัตย์ปฏิญาณตนในไทยมีมายาวนาน เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ กล่าวคำมั่น แสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

ปัญหาการถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่งที่ไม่ครบถ้วนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นประเด็นตรวจสอบต่อเนื่อง และกลายเป็นชนักติดหลัง “บิ๊กตู่” หลังจากล่าสุด ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมปัญหานี้ว่า การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของ “บิ๊กตู่” ที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่  คาดว่า ปัญหานี้จะยุติได้ในเดือนก.ย.

“บิ๊กตู่” เสียรังวัดพอควร และหลบเลี่ยงที่จะมาตอบกระทู้ฝ่ายค้าน ได้แต่ประกาศต่อหน้าเหล่าข้าราชการขณะมอบนโยบายรัฐบาลเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน “ผมขอรับผิดชอบเรื่องนี้แต่เพียงผู้เดียว” แม้ “บิ๊กตู่” ทำเรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต กระทั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์เมื่อครั้งที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 ลงมา พล.อ.ประยุทธ์ จึงจัดพิธีนำครม.รับพระราชดำรัสและลายพระราชหัตถ์เมื่อเช้าวันที่ 27 ส.ค. ซึ่งก็ช่วยลดแรงกดดันต่อปมปัญหาการถวายสัตย์ฯ ลง

กระนั้น การตรวจสอบพล.อ.ประยุทธ์ ยังเดินหน้าต่อไป นอกจากวิ่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ญัตติของ 7 พรรคฝ่ายค้านที่ได้เข้าชื่อต่อประธานสภาฯเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ คาดว่า จะพิจารณาได้ในวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้เกมให้เป็น “การประชุมลับ” เพื่อลดความร้อนแรงของการตรวจสอบ

แม้ผลของญัตติจะล้มรัฐบาลไม่ได้ เพราะไม่มีการลงมติ หรือจะเป็นประชุมลับ แต่ช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็สาหัสเอาการถูกทิ่มแทงตลอดว่า เป็นผู้นำประเทศแต่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง เอาแต่กล่าวโทษนักการเมืองคนอื่น ไม่ได้กล่าวประโยคสำคัญในการถวายสัตย์ “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ปลายทางคดีถวายสัตย์ฯจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ  ต้องติดตามว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคดีหรือไม่  คาดว่าในเดือนก.ย. ก่อนการพิจารณาญัตติของฝ่ายค้านน่าจะมีความชัดเจน ถ้าไม่รับก็จบ และถ้ารับศาลจะพิจารณาอย่างไร แม้มีการคาดการณ์ว่า ในทางคดี พล.อ.ประยุทธ์น่าจะรอด  แต่นี่เป็นบทเรียนราคาแพงของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า เมื่อเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตย ต้องถูกตรวจสอบทุกฝีก้าว  ต่างจากขณะเป็นผู้นำคสช. ใน 5 ปีก่อน ดังนั้น จากนี้ต้องพร้อมรับพายุการตรวจสอบที่จะตามเข้ามาอีกมาก ทั้งเรื่องตัวเอง รวมถึงการบริหารงานของครม. ที่ต้องควบคุมไม่ให้ออกนอกลู่นอกรอย ทุจริต ทำผิดกฎหมาย

ในส่วนของฝ่ายค้านที่ดูเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบเรื่องนี้ ถึงขั้นยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งเป็นมาตรการตรวจสอบในสภา ระดับน้องๆ อภิปรายไม่ไว้วางใจ หวังชำแหละให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ หมดความชอบธรรมในตำแหน่งนายกฯ สมควรลาออก  แต่ฝ่ายค้านก็ถูกวิจารณ์ว่า ไม่ควรนำเรื่องนี้มาอภิปรายฯ เป็นสาระหลัก  ควรจะเน้นปัญหาการบริหารงานที่ล้มเหลว ผิดพลาด หรือ ทุจริต ส่อทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ดูจะสมน้ำสมเนื้อกว่า

ต้องบันทึกไว้ว่า คดี “กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบ” เป็นคดีแรกในรอบ 70 ปี  นับแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติให้นายกฯต้องถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์  แต่รัฐธรรมนูญเองก็ไม่บัญญัติบทลงโทษไว้กรณีถวายสัตย์ไม่ครบ

การถวายสัตย์ปฏิญาณตน เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของผู้นำต่างประเทศ กล่าวได้ว่า กรณีของพล.อ.ประยุทธ์ มีผู้เทียบเคียงคล้ายกับ บารัค โอบาม่า อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ต้องประกอบพิธีสาบานตนถึงสองรอบภายในวันเดียวกัน เมื่อวันที่  20 ม.ค. 2552  ขณะนั้น โอบาม่า ประกอบพิธีสาบานตน โดยลำดับคำผิดพลาดไม่เป็นไปตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญเนื่องจากประธานศาลฎีกาสหรัฐฯ นำกล่าวผิด จนมีการถกเถียงถึงสถานะประธานาธิบดีของโอบามาว่า เป็นโมฆะหรือไม่ สุดท้ายโอบามาต้องสาบานตนใหม่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา กณีของโอบาม่า เมื่อทำผิดเพียงแค่สลับคำ ก็รีบแก้ ให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว แต่ของ “บิ๊กตู่”  ลากยาวมาจนถึงวันนี้ ร่วมเดือนครึ่งกลายเป็นคดีดังระดับชาติไปแล้ว

การถวายสัตย์ปฏิญาณตนในไทยมีมายาวนาน เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ กล่าวคำมั่น แสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระทั่งต่อมาปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันที่ใช้อยู่ฉบับที่ 20 เมื่อปี 2560  เมื่อได้ถวายสัตย์แล้ว ก็ให้ถือว่า บุคคลนั้นเริ่มปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการได้

ไม่เพียงนายกฯและรัฐมนตรีที่ต้องถวายสัตย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ด้วย ในรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้รวมถึง องคมนตรี ผู้พิพากษาด้วย แม้แต่สมาชิกรัฐสภา ส.ส.และส.ว. ต้องกล่าวปฏิญาณตนตามมาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญ ในที่ประชุมสภา ในข้อความลักษณะเดียวกันกับคำถวายสัตย์ของนายกฯ ก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า

“ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

คำถวายสัตย์และคำปฏิญาณตน เหมือนคำสัญญาต่อหน้าประมุขแห่งรัฐที่ต้องศักดิ์สิทธิ์ แต่ที่ผ่านมาเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เราคงตอบได้ว่า... ไม่  อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมถึง ส.ส. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวนไม่น้อย ต่างละเลยที่ปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์  เพราะมีคดีทุจริต กระทำผิดกฎหมาย เข้าสู่กระบวนการสอบสวน ที่มีหลักฐานชัดก็ถูกศาลตัดสินจำคุกไปหลายราย ที่ไม่มีหลักฐานอีก ก็จำนวนมาก บ้างหนีคำพิพากษาไปต่างประเทศ

ความสำคัญต่อการถวายสัตย์ฯ นอกจากต้องกล่าวครบถ้วนทุกถ้อยความแล้ว สิ่งสำคัญ คือ นักการเมืองต้องรักษาคำพูดให้ได้จริง ไม่ใช่ทำแค่พิธีกรรม หรือ ท่องเล่นๆเพียงแค่ครึ่งนาที  เพราะถ้ายึดมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนจริงดั่งคำถวายสัตย์  ประเทศก็คงไม่เสียหายจากปัญหาการใช้อำนาจฉ้อฉล แสวงหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง อย่างที่เผชิญอยู่อย่างนี้  

---