posttoday

'บิ๊กตู่'ออกอาการ...สัญญาณอยู่ไม่ยืด

10 สิงหาคม 2562

กระแสข่าว"ลุงตู่"ลาออกเป็นสัญญาณของรัฐบาลที่อยู่ไม่ยืดไร้เสถียรภาพโอกาสมาเร็วจบเร็วมีสูง

กระแสข่าว"ลุงตู่"ลาออกเป็นสัญญาณของรัฐบาลที่อยู่ไม่ยืดไร้เสถียรภาพโอกาสมาเร็วจบเร็วมีสูง

รัฐบาลลุงตู่สมัย 2/1 เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินยังไม่ทันไร"ก้นหม้อข้าวไม่ทันดำ" ก็มีกระแสข่าวลือกระฉ่อน"ลุงตู่"ถอดใจลาออก เสียแล้ว และ แม้"ลุงตู่"จะรีบออกมาปฏิเสธทันควัน ว่า "ผมยืนยันวันนี้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพราะผมเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ตรงนี้ ผมไม่ไปไหน ไม่ต้องเป็นห่วง" แต่กระแสข่าวการลาออก ของบิ๊กตู่ ที่เกิดขึ้นหลังเพิ่งเข้าบริหารประเทศเพียงแค่ 15 วัน คือนับตั้งแต่วันเริ่มปฏิบัติหน้าที่หลังแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเสร็จสิ้นลง ในวันที่ 27 ก.ค.จนมาถึงปัจจุบัน วันที่ 10 ส.ค. ถือเป็นสัญญาณ ของความเปราะบาง ที่ทำให้รัฐบาลลุงตู่อยู่ได้ไม่นาน

กระแสข่าวลาออกของ"บิ๊กตู่"ครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่อาจส่งผลไปถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ส่อดิ่งอยู่แล้ว จะยิ่งทรุดหนักลงไปอีก

ทั้งนี้เนื่องจาก เพียงแค่ 15วัน ของการเข้ามาบริหารประเทศ"บิ๊กตู่"โดนหนักจนแทบจะโงหัวไม่ขึ้น ไม่สามารถตีปิ๊บการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นความหวังของประชาชนได้ เพราะมีแต่กระแสข่าว เรื่องแก้ปัญหาทางการเมืองของรัฐบาลรายวัน โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา"บิ๊กตู่"ต้องเผชิญปัญหาให้ปวดขมับถึง 4 ปมใหญ่ด้วยกัน

เรื่องแรก คือปมการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ซึ่งถูกฝ่ายค้านตามไล่บี้อย่างหนักทั้งข้อหา กระทำผิดรัฐธรรมนูญ อาจทำให้คณะรัฐมนตรีเป็นโมฆะ รวมถึงหมิ่นเหม่อาจเข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้บิ๊กตู่พยายาม จะปิดเกมด้วยการออกมาขอโทษ และบอกว่าไม่มีเจตนาและพร้อมจะรับผิดชอบเพียงผู้เดียว แต่ยังไร้ผล กระแสของเรื่องนี้ได้ลุกลามจน"บิ๊กตู่"ดิ้นไม่ออก และยังไม่สามารถหาวิธีการมาแก้ไขเรื่องดังกล่าวได้จนถึงขณะนี้

ถัดมาเรื่องที่ 2. กรณีการลอบวางระเบิดป่วนกรุงเทพมหานครในหลายพื้นที่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่าสาเหตุจริงๆของการวางระเบิดครั้งนี้มาจากแรงจูงใจอะไร โดยมีการจับกุมผู้ต้องหาได้เพียง 2 คนเท่านั้น และที่สำคัญยังไม่สามารถสาวไปยังผู้บงการได้ ซึ่งย่อมทำให้ภาพลักษณ์จุดเด่นของ"บิ๊กตู่"ในเรื่องการรักษาความสงบในประเทศลดน้อยลงไปทันที เมื่อไม่มีมาตรา 44 อยู่ในมือ

ขณะที่ปม 3.เป็นเรื่องของเสถียรภาพของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลแพ้โหวตในสภาครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ในการลงมติในวาระพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 9 ที่ระบุถึงการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ จะต้องวางตัวเป็นกลาง ซึ่ง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาว่าที่ผ่านมาทำหน้าที่ไม่เป็นกลางหลายกรณี และได้เกิดการตอบโต้กันกับฝ่ายรัฐบาล และผลของการลงคะแนน ปรากฎว่าเสียงข้างมาก 205 เป็นเสียงของฝ่ายค้าน 204 เป็นเสียงของฝ่ายรัฐบาล เห็นด้วยกับที่ กมธ.แก้ไขข้อบังคับให้ประธานสภาต้องเป็นกลาง

และ ปิดท้ายเรื่องที่ 4. มาจาก กรณี 5พรรคเล็กแถลงถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ซึ่งนำโดย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ เนื่องจากไม่พอใจที่พรรคพลังประชารัฐไม่จัดสรรตำแหน่งทางการเมืองให้พรรคเล็ก ทำให้แกนนำของพรรคพลังประชารัฐต้องเร่งมาทำความเข้าใจและไกล่เกลี่ยตำแหน่งให้ แต่ล่าสุด นายมงคลกิตติ์ และ นายพิเชษฐ สถิชวรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ยืนยันจะ ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคร่วมฝ่ายค้าน และไม่ขอรับการจัดสรรโควตาข้าราชการการเมืองจากพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งหมด 4 เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนที่เป็นสัญญาณเตือนให้เห็นว่า รัฐบาลเปราะบาง ไร้เสถียรภาพโอกาสล้มได้ทุกทุกเวลา เพราะมีเสียงปริ่มน้ำ โดยจำนวนเสียงในสภามากกว่าฝ่ายค้าน เพียง 8 เสียง เท่านั้น คือฝ่ายรัฐบาลมี 254 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมี 246 เสียง ในขณะเดียวกัน มีรัฐมนตรีบางส่วนดำรงสถานะเป็นส.ส. ก็ยิ่งทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงเพราะรัฐมนตรีจะไม่มีเวลามาประชุมสภา โอกาสที่ทำให้สภาล่มหรือแพ้โหวตฝ่ายค้านเพิ่มสูงขึ้นอีก

ขณะเดียวกันการเป็นรัฐบาลผสม19 พรรค โอกาสการในต่อรอง ทั้งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้กระทั่งในพรรคพลังประชารัฐของบิ๊กตู่เอง มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี หรือเก้าอี้ในตำแหน่งทางการเมือง ทั้งในสภา และฝ่ายบริหาร โครงการ งบประมาณ รวมถึงการโยกย้ายราชการ ที่บรรดานักการเมืองต้องการเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งโอกาสที่จะขัดแย้งและแยกทางกันย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลา และ ยังไม่รวมถึงการควบคุมอารมณ์ของ "บิ๊กตู่"ว่าจะอดทนอดกลั้นได้นานสักเพียงใด

งานนี้รัฐบาลเรือเหล็กของ"บิ๊กตู่"ที่มาจากการเลือกตั้ง จะอยู่ได้นานแค่ไหน จึงต้องลุ้นกันเป็นระยะๆ