posttoday

สุเทพ คัมแบ็ก สร้างเสถียรภาพรัฐบาล

12 พฤศจิกายน 2553

นับได้ว่าการเมืองระยะหลังมานี้เริ่มปรากฏกระแสข่าวเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ค่อนข้างมาก ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะภายใน ครม.เองยังมีตำแหน่งว่างหนึ่งตำแหน่ง คือ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งแต่เดิมก่อนที่จะลาออกไปสมัครเลือกตั้งซ่อม สส.สุราษฎร์ธานี จนได้รับชัยชนะกลับมา

นับได้ว่าการเมืองระยะหลังมานี้เริ่มปรากฏกระแสข่าวเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ค่อนข้างมาก ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะภายใน ครม.เองยังมีตำแหน่งว่างหนึ่งตำแหน่ง คือ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งแต่เดิมก่อนที่จะลาออกไปสมัครเลือกตั้งซ่อม สส.สุราษฎร์ธานี จนได้รับชัยชนะกลับมา

โดย...ทีมข่าวการเมือง

สุเทพ คัมแบ็ก สร้างเสถียรภาพรัฐบาล

นับได้ว่าการเมืองระยะหลังมานี้เริ่มปรากฏกระแสข่าวเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ค่อนข้างมาก ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะภายใน ครม.เองยังมีตำแหน่งว่างหนึ่งตำแหน่ง คือ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งแต่เดิมก่อนที่จะลาออกไปสมัครเลือกตั้งซ่อม สส.สุราษฎร์ธานี จนได้รับชัยชนะกลับมา

สอดคล้องกับท่าทีของนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ระบุว่า กำลังดำเนินการพิจารณาเรื่องการปรับ ครม.ในตำแหน่งรองนายกฯ คาดว่าจะเสร็จในเร็ววันนี้ ซึ่งการปรับ ครม.ครั้งนี้ไม่มีในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในกรณีของพรรคภูมิใจไทยกับพรรคชาติไทยพัฒนาว่าจะมีมติให้ส่งรัฐมนตรีที่ถูกให้พ้นสภาพการเป็น สส.ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมหรือไม่

แน่นอนว่าเมื่อสุเทพได้กลับมาเป็น สส.และตำแหน่งรัฐมนตรีก็ว่างอยู่ตั้งแต่ลาออกไป ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าอย่างไรเสียสุเทพก็ได้กลับมานั่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ค่อนข้างแน่นอน เท่ากับว่าอย่างน้อยที่สุดการปรับ ครม.ก็น่าจะทำให้สุเทพกลับไปสู่ตำแหน่งเดิม

ความสำคัญของการเอาสุเทพกลับมาในรัฐบาลแน่นอนว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นว่าควรให้มีบุคคลที่เข้ามารับผิดชอบงานด้านความมั่นคงโดยตรงแทนตัวเองหลังจากต้องถ่างขาดูแลงานความมั่นคงในช่วงที่สุเทพเว้นวรรคไป

ประกอบกับนายกฯ เองก็ต้องให้สมาธิกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วย ย่อมทำให้งานความมั่นคงอาจจะลดประสิทธิภาพลงไปเล็กน้อย เพราะมาจากการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน

ไม่แปลกที่นายกฯ จะตัดสินใจได้ล่วงหน้าแล้วว่าจะให้สุเทพกลับมาในตำแหน่งเดิมเพื่อมาแบ่งเบาภาระงานความมั่นคงและให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีผู้อำนวยการตัวจริงเสียทีเพื่อเป็นตัวประสานงานกับกองทัพในการดูแลความสงบของประเทศ

แน่นอนว่าการเอาสุเทพกลับมาใน ครม.นอกเหนือไปจากกระชับการบริหารราชการแผ่นดินด้านความมั่นคงแล้ว ยังหวังใช้มาเป็นเครื่องมือกระชับพื้นที่ทางการเมืองด้วย

หน้าที่ของสุเทพในส่วนนี้ คือ การประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาความไม่แน่นอนของ “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์” รมช.มหาดไทย และเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม เกี่ยวกับการตัดสินใจว่าจะลาออกหรือไม่ หากจะลงสมัครเลือกตั้งซ่อม สส.นครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา

โดยปัญหานี้สืบเนื่องมาจากลึกๆ แล้วพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาต้องการให้ทั้งสองคนนี้ลงไปสู้ในพื้นที่เพื่อรักษาฐานทางการเมืองเอาไว้ให้เข้มแข็งสำหรับเตรียมตัวกับการเลือกตั้งในอนาคต เพราะคนในพรรคที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่มีความพร้อมและความเขี้ยวมากพอที่จะสู้กับพรรคการเมืองคู่แข่ง หากปล่อยให้คนมือไม่ถึงลงสู้ อาจจะต้องเสียพื้นที่ดังกล่าวไปได้ จึงอยากให้ลงไปสู้ด้วยตัวเอง

แต่ก็ติดตรงที่ว่าหากลาออกจากตำแหน่งแล้วกลัวจะไม่ได้กลับเข้ามาเพราะเกรงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยึดโควตานี้คืนไป ทำให้สุเทพต้องวิ่งเคลียร์ใจกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อการันตีเก้าอี้ดังกล่าวเป็นการด่วน

ความหวาดระแวงของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เคยปรากฏข่าวมาแล้วเกี่ยวกับการปรับ ครม.บนสูตรปรับพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาลและเอากลุ่ม 3 พีของพรรคเพื่อแผ่นดินเข้ามาแทนที่ เป็นการยอมสูญเสีย 50 เสียงในสภาเพื่อแลกกับ 20 เสียงกว่าของเพื่อแผ่นดินเข้ามาแทนที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นจังหวะทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สุเทพไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล

เป็นหมากทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์ต้องการดัดหลังพรรคภูมิใจไทยไม่ให้แสดงความอหังการออกมาแบบว่าเป็นดีลการเมืองที่ไม่ผ่านสุเทพในฐานะผู้จัดการรัฐบาล เพราะประชาธิปัตย์ก็ไม่ค่อยพอใจที่สุเทพมักจะยอมให้ภูมิใจไทยมากเกินไป

เท่ากับยอมรับการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร เพราะประเมินแล้วว่าในช่วงสมัยประชุมนิติบัญญัติไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งเสียงในสภามากนัก เนื่องจากไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและกฎหมายงบประมาณ

เมื่อบวกเวลาไปจนถึงปิดสมัยสามัญทั่วไปที่จะต้องพึ่งเสียงในสภา ก็จะอยู่ราว 4-5 เดือน ทำให้เมื่อถึงเวลาอาจจะมีการตัดสินใจยุบสภาเพื่อตัดตอนไม่ให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเป็นนายกฯ รักษาการต่อไปก่อน

กระนั้น ทั้งหมดก็ต้องเป็นหมันเพราะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยเสียก่อนพร้อมๆ กับศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ สส. 6 คนพ้นจากตำแหน่งจากการถือหุ้นสัมปทานของรัฐ ทำให้การปรับ ครม.รอบนี้ต้องมาคิดสูตรใหม่อีกครั้ง

แม้ว่าแนวโน้มการปรับ ครม.จะเป็นเพียงเฉพาะตำแหน่งรองนายกฯ ก่อน แต่ลึกๆ นายกฯ เองมีความต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลเช่นกันด้วยการแต่งหน้าทาปาก ครม.ใหม่ให้ดูดีขึ้น หลังจากระยะหลังๆ มานี้การทำงานของรัฐบาลยังไม่ค่อยเข้าเป้ามากนัก ตรงกันข้ามบางกระทรวงยังไปพัวพันกับการบริหารงานไม่โปร่งใสอีก จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง

โดยรอจังหวะถ้าทั้ง “บุญจงเกื้อกูล” ตัดสินใจลาออกไปรับสมัครเลือกตั้ง สส.ตรงนี้จะเป็นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะสร้างเงื่อนไขให้มีการปรับ ครม.อย่างน้อย 2 ตำแหน่ง โดยขอให้เปลี่ยนหน้ารัฐมนตรีหรือมากกว่านั้น คือ การยึดเอาตำแหน่งคืนมาโดยเฉพาะ รมช.มหาดไทย เพราะที่ผ่านมาการทำงานมักจะได้รับก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้

แต่เอาเข้าจริงถามว่านายกฯ จะกล้าตัดสินใจอย่างนั้นหรือไม่ เพราะต้องแลกมาด้วยกับเสถียรภาพของรัฐบาล เนื่องจากภูมิใจไทยกับชาติไทยพัฒนา ณ ตอนนี้ถือว่ามีความเป็นพันธมิตรทางการเมืองค่อนข้างสูง การตัดสินใจใดๆ ที่ไปขัดกับผลประโยชน์ของสองพรรคนี้ย่อมจะสร้างความลำบากในการทำงานให้กับประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน

ตรงนี้แหละการให้สุเทพกลับเข้ามาจึงเป็นคุณกับประชาธิปัตย์ในการเข้ามาเป็นตัวกลางในการกล่อมพรรคร่วมรัฐบาลหากเกิดอาการงอแงเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้น เพราะชั่วโมงนี้ในประชาธิปัตย์คงจะมีแต่เพียงชายที่ชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ เท่านั้นที่สามารถคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลได้

เพราะฉะนั้น สถานการณ์ทางการเมืองภายในรัฐบาลภายหลังจากสุเทพเดินเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งจึงเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก เพราะอาจจะมีผลต่อการอยู่หรือไปของรัฐบาลในระยะอันใกล้นี้