posttoday

รัฐบาลหมู่บ้านกระสุนตกอยู่ได้... แต่ไร้ความเชื่อมั่น

13 กรกฎาคม 2562

แม้ภาพติดลบสักเพียงใด จะไม่ทำให้รัฐบาลนี้ล้มลงอันใกล้ เพราะ"250ส.ว.-องค์กรอิสระ- กองทัพ" พร้อมค้ำให้"บิ๊กตู่" ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง

แม้ภาพติดลบสักเพียงใด จะไม่ทำให้รัฐบาลนี้ล้มลงอันใกล้ เพราะ"250ส.ว.-องค์กรอิสระ- กองทัพ" พร้อมค้ำให้"บิ๊กตู่" ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง

หลังรายชื่อคณะรัฐมนตรีบิ๊กตู่สมัย2/1ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ปรากฎว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าการชื่นชม ที่เป็นเช่นนี้ เพราะหน้าตาคณะรัฐมนตรีชุดนี้ล้วนเป็นคนหน้าเดิมๆที่เคยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นรัฐมนตรีกันมาแล้ว โดยไม่มีใครมีชื่อเสียงโดดเด่นในเรื่องผลงาน แต่ในทางกลับกันรัฐมนตรีบางคนโดดเด่นในเรื่องความเป็นสีเทา มีคดีติดตัว เคยถูกป.ป.ช.ตั้งกรรมการสอบ บางคนอยู่ระหว่างพิจารณาคดี บางคนถูกทักท้วงเรื่องคุณสมบัติ จึงทำให้ภาพลักษณ์ รัฐบาลลุงตู่สมัย 2 กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก ติดลบตั้งแต่ยังไม่ได้ทำงาน

ทั้งนี้มีรัฐมนตรี ถึง 14 จาก 35 คน ที่ติดปมดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย

รัฐบาลหมู่บ้านกระสุนตกอยู่ได้... แต่ไร้ความเชื่อมั่น

1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ซึ่งก่อนจะมีการจัดตั้งครม.มีกระแสถึงขั้นพรรคร่วมรัฐบาลตั้งเงื่อนไขไม่เอา พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มาเป็นรัฐมนตรี เพราะจะถูกมองเป็นจุดอ่อนย้ำภาพการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน แต่ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ หอบหิ้วมาจนสำเร็จ

แม้ พล.อ.ประวิตร จะยอมถอยไม่คุมเก้าอี้ รมว.กลาโหม เพื่อลดเป้ากระแสโจมตีเหลือเพียง รองนายกรัฐมนตรี แต่ข้อกล่าวหาในช่วงที่ผ่านมายังอยู่ครบ ทั้งปมการจัดซื้อเรือดำน้ำ การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพ ปมนาฬิกาฉาวที่ยืมเพื่อนมา เรื่องกรณีบิ๊กโจ๊ก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เรื่องโครงการขุดลอกแหล่งน้ำขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.)

2.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (พปชร.) ซึ่งเหนียวแน่นกับกระทรวงมหาดไทยไม่ยอมย้ายไปไหน แม้พรรคร่วมรัฐบาลยังต้องถอยฉากไม่ยุ่งเกี่ยวกับกระทรวงนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวคนใกล้ชิดเข้าไปเกี่ยวข้องโรงไฟฟ้าขยะ

3.นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง หัวหน้าพรรคพปชร. ช่วงนี้ตกเป็นเป้าและถูกโจมตีกรณีร่วมเป็นบอร์ดธนาคารกรุงไทยในอดีต ลงมติปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครรวมหมื่นล้านบาท ซึ่งคนอื่นๆมีความผิด แต่นายอุตตม ไม่ถูกสั่งดำเนินคดี

4.ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (พปชร.) ยังมีคดีในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้ายในการชุมนุมของ กปปส.ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และปมถือหุ้นสื่อ ในนามบริษัท แปซิฟิค เอ็กซ์คลูซิฟ ซิตี้ คลับ จำกัด อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

5.พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี (พปชร.) ติดคดีในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย ในการชุมนุมของ กปปส.ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

6.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะแกนนำกลุ่มสามมิตร(พปชร.) ถูกกล่าวหาคดีสินบนโรลส์รอยซ์ในช่วงเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลไทยรักไทย และ ป.ป.ช. มีมติตั้งองค์คณะไต่สวน

7.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์(พปชร.) ข้อหาขาดคุณสมบัติ พัวพันยาเสพติดในออสเตรเลีย รวมถึงการทำธุรกิจหลายอย่าง และการเป็นยี่ปั๊วขายสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมถึงภาพลักษณ์ของของผู้มีบารมีกว้างขวาง

8.นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ก่อนหน้านี้ถูก สตง.ตรวจสอบกรณีดำรงตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา ปี 2558-2559 มีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่สมาคมกีฬาจังหวัดสงขลา จำนวนกว่า 22 ล้านบาทเศษ ต่อมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติว่า การอุดหนุนเงินดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ และมีคำสั่งให้เรียกเงินคืน

9.ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม(ปชป.) ติดปมคดีในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้ายในการชุมนุมของ กปปส.ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

10.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (ปชปง)ติดปมต้องห้ามเรื่องถือหุ้นสื่อในนามบริษัท พี.ที.รุ่งเรืองคอนกรีต จำกัด

11.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ จากพรรคภูมิใจไทย(ภท.)ซึ่งมาแทนพี่ชาย"ชาดา ไทยเศรษฐ์" ที่"ลุงตู่"ไม่ปลื้มภาพลักษณ์ ติดปมปัญหาในสมัยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี มีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย จ.อุทัยธานี ที่ส่งมอบงานไม่ได้ จนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) สั่งยุติโครงการ และสอบสวนการใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท ในโครงการนี้

12.นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ (ภท.) ปมเคยถูกศาลพิพากษาตัดสินกรณีสร้างโรงงานบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. จำนวน 1,200 ไร่ และศาลตัดสินว่ามีความผิดและให้ดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้ยังถูกร้องให้ตรวจสอบกรณีอาจออกโฉนดที่ดินโรงงานโดยมิชอบ

13.ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย รมว.แรงงาน ติดปมถือหุ้นสื่อในนามบริษัท เจ.ซี.ฟู๊ด คอร์ทส จำกัดซึ่งอยู่ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณา

14.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ติดปมถือหุ้นสื่อในบริษัท เอส.ซี.เค.แลนด์ จำกัด ซึ่งระบุในวัตถุประสงค์ตั้งบริษัทว่าประกอบกิจการสื่อสารมวลชน อยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอยู่เช่นกัน

ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ 7 พรรคฝ่ายค้าน เข้าชื่อกัน 101 คน ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าเข้าข่ายเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งนายชวน ได้ส่งไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา แล้ว และ อยู่ระหว่างจะรับพิจารณาหรือไม่อย่างไร

แม้รัฐมนตรีทั้ง14คนดังกล่าวข้างต้น จะได้ก็ออกมาปฏิเสธว่า ข้อครหาต่างๆนั้น ได้เคลียร์ไปจนหมดสิ้นแล้ว รวมถึงคดีของบางคนที่อยู่ในระหว่างที่ศาลจะพิจารณา ก็เชื่อมั่นจะหลุดพ้นข้อกล่าวหาอย่างแน่นอน แต่เมื่อภาพรัฐบาลลุงตู่ชุด 2 นี้ มีรัฐมนตรี เกือบครึ่งหนึ่ง ถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีประวัติส่อจะผิดกฎหมาย ขาดคุณสมบัติ มีสีเทา ซึ่งน่าจะเป็นสถิติสูงสุดกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ย่อมทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลลุงตู่สมัย2/1ดิ่งสุดๆซึ่งยังมองไม่เห็นว่า"ลุงตู่"จะทำให้รัฐบาลเรือเหล็กกลับฟื้นคืนมาได้อย่างไร

ขณะเดียวกันหากถามว่าแล้วรัฐบาลลุงตู่ชุดนี้ จะอยู่ได้นานแค่ไหน ท่ามกลางภาพลักษณ์ติดลบรัฐมนตรีสีเทา เสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ ความแตกแยกในพรรคพปชร. และการมีพรรคร่วมรัฐบาลมากถึง 19 พรรคที่พร้อมจะต่อรองในเรื่องผลประโยชน์ทุกเวลา คำตอบคืออยู่ได้ไปเรื่อยๆ ชนิดที่ต้องลุ้นกันเป็นระยะๆ ซึ่งในทางการเมืองตราบใดที่มีการจัดผลประโยชน์ลงตัวก็ยังสามารถอยู่กันได้อย่างไร้ปัญหา แต่ตราบใดที่ผลประโยชน์ขัดกันก็ต่างแยกย้าย

ทว่าถึงนาทีนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมจะเลือกตั้งใหม่ เพราะยังขาดสะเบียงกรัง อีกทั้งยังมีความสุขกับการเข้าไปบริหารกระทรวงที่ได้ต่อรองกันมา เฉกเช่นเดียวกับรัฐมนตรีของกลุ่มต่างๆในพรรคพลังประชารัฐ ก็มีความสุขกับการเข้าไปนั่งเป็นเสนาบดี จนลืมอดีตความขัดแย้งไปก่อน ยังไม่คิดตีรวนรัฐบาล ฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดต้องรอให้ งบประมาณ โครงการต่างๆได้รับการอนุมัติผ่านไปก่อน ซึ่งต้องใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี และเมื่อถึงตอนนั้นก็ต้องไปลุ้นกันอีกที

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรัฐบาลจะติดลบสักเพียงใด จะไม่ทำให้รัฐบาลนี้ล้มลงอันใกล้ เพราะอำนาจ กลไก เดิมที่ถูกวางไว้จากการยึดอำนาจมา ทั้งส.ว.250 คน องค์กรอิสระ กองทัพ ก็เพียงพอที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างมั่นคง เว้นแต่ประชาชนจะลุกฮือมาขับไล่อย่างในอดีต ซึ่งเป็นไปได้ยากแทบเป็นศูนย์ เพราะกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอ่อนแอเกินกว่าจะรวมตัวกันได้ในยามนี้