posttoday

ความหวังหลังหย่อนบัตร กังวลเสถียรภาพการเมือง

23 มีนาคม 2562

อนาคตของประเทศไทยจะถูกตัดสินในวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.นี้ แต่หลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงความราบรื่นในการจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่ง่ายดาย

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

อนาคตของประเทศไทยจะถูกตัดสินในวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.นี้ ประชาชนกว่า 51 ล้านคน เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง แน่นอนว่าทุกคนต้องการเลือกพรรคการเมืองที่ชื่นชอบและถูกใจ แต่หลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงความราบรื่นในการจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่ง่ายดาย ตลอดจนถึงข้อกังวลเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งกันอีกครั้ง แม้การเลือกตั้งจะเสร็จสมบูรณ์ก็ตาม

สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สิ่งสำคัญอย่างแรกต้องการเห็นเสถียรภาพพอประมาณหลังการเลือกตั้ง ไม่อยากเห็นพรรคการเมืองต่างๆ มีทิฐิว่าจะจับมือกับพรรคนี้ไม่จับมือกับพรรคนี้ คิดว่าเมื่อการเลือกตั้งเสร็จแล้ว ทุกฝ่ายทุกคนควรจะคิดถึงเรื่องการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรือง การแข่งขันเมื่อรู้ผลแล้วต้องเลิกเป็นปรปักษ์ต่อกัน ต้องอดทนนึกถึงผลประโยชน์ของประเทศ

นอกจากนี้ ต้องการเห็นน้ำอดน้ำทด ที่จะนำนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมมาผสมผสานกัน อันไหนที่คิดว่าพอเป็นประโยชน์และพอทนกันได้อยากให้ทำกันไป ส่วนไหนที่ขัดแย้งก็ไม่ต้องทำ หลังการเลือกตั้งไม่ควรคิดว่าจะไปหาคะแนนเสียงอีก แต่ควรหาประโยชน์ให้ประชาชนส่วนใหญ่

"หาประโยชน์ให้กับคนที่มีฐานะด้อยโอกาสมากที่สุดและคนชนชั้นกลางถึงระดับล่างต้องมาก่อน ทั้งนี้การให้งบประมาณร้อยละ 70-75 ควรให้กับคนกลุ่มคนชั้นกลางถึงระดับล่าง ส่วนอีกร้อยละ 25 ควรให้กับคนชั้นกลางถึงคนชั้นกลางระดับบน เชื่อว่าหากทำแบบนี้ได้ประเทศไทยจะมีความ สงบสุข" คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว

สังศิต กล่าวเสริมด้วยว่า ส่วนข้อกังวลหลังการเลือกตั้งนั้น กังวลในประเด็นว่าถ้าหากทุกพรรคการเมืองไม่หาเสียงหลังเลือกตั้งถือว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรเพิ่ม และความวุ่นวายก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งถ้าหากพรรคการเมืองยังมีความมุ่งหวัง ที่พรรคการเมืองต้องการหาคะแนนนิยมอีกมันก็จะมีปัญหาทะเลาะกันไม่เลิก

อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า สิ่งที่อยากเห็นหลังเลือกตั้ง ย่อมเป็นเรื่องการได้เห็นพรรคการเมืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ แต่จากเงื่อนไขที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก พรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาล ต้องมีเสียงมากพอที่จะไม่สร้างปัญหาเมื่อเข้าไปนั่งในสภา นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็คือ ผลการเลือกตั้งที่ได้อาจจะเป็นโมฆะ หรือ กกต.อาจจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ไม่ได้ เพราะจะมีการร้องเรียนมากมาย มีคดีฟ้องกันไปมาไม่สิ้นสุด

"ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน่ากลัวว่าจะประกาศไม่ได้ หากเป็นอย่างนั้น ก็จะวุ่นวายอย่างแน่นอน จากนั้นก็จะเป็นการจัดตั้ง รัฐบาล รวมเสียง ซึ่งที่คนถกเถียงกันคือพรรคเสียงข้างมาก ควรจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อน นั่นเป็นมารยาท เป็นจารีตทางการเมือง แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับไว้" อานนท์ ระบุ

อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ฯ อธิบายเสริมว่า พรรคที่สามารถรวมเสียงทั้ง สส.และ สว.ได้เกิน 376 เสียงก่อนก็จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้ต้องคำนึงเรื่องเสถียรภาพรัฐบาลตามมาด้วย หากเสียงปริ่มน้ำ ก็จะมีปัญหาสภาล่มได้ง่ายในอนาคต ผ่าน พ.ร.บ.ด้านการเงินการคลังได้ลำบาก นำไปสู่เดดล็อกของการเมืองอีกรอบ หรือกระทั่งเสี่ยงที่จะถูกรัฐประหารอีกรอบ ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น จึงหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีเสถียรภาพพอสมควร

พนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้ใช้แรงงานทุกคนทั้งประเทศหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรงที่เป็นธรรม ดังนั้นจึงหวังว่ารัฐมนตรีที่จะเข้ามาดูแลแรงงานจะเป็นผู้เข้าใจปัญหาแรงงานอย่างแท้จริง เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ขณะเดียวกันต้องการให้มีการปฏิบัติที่เป็นธรรม หลักเกณฑ์ที่ดีมีประโยชน์กับแรงงานทุกคน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.แรงงาน ที่ยังไม่มีการประกาศใช้ในตอนนี้

"ส่วนตัวคิดว่าหลังเลือกตั้งน่าจะยังมีปัญหาอยู่อย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นเรื่องใดนั้นยังไม่สามารถคาดเดาได้ แต่หากเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยคิดว่าน่าจะอยู่นานและไม่เกิดปัญหา ตอนนี้ยอมรับว่าเรื่องปากท้องของประชาชนมันเรี่ยดินหมดแล้ว ซึ่งหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาแก้ปัญหาได้"

พนัส กล่าวว่า ข้อกังวลในขณะนี้ คือ การเข้ามาแก้ปัญหาในระยะสั้นเรื่องการปรับค่าแรงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากมีกฎหมายข้อบังคับหลายตัว ต้องใช้เวลานานทำให้การดำเนินการค่อนยากลำบาก การปรับค่าแรงตามที่หลายพรรคการเมืองประกาศไว้ตอนหาเสียงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายอย่างที่บอกไว้แน่นอน อย่างเช่น เรื่องข้าวกว่าจะทำเรื่องประกันราคาข้าว ก็ต้องมีการขอความเห็นพิจารณาอีก กว่าจะผ่าน ขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลานาน ตอนหาเสียงทำได้ แต่ตอนปฏิบัติมันมีกฎระเบียบหลายขั้นตอนที่ยาก

ท้ายที่สุด หลังการเลือกตั้งคิดว่ายังมีปัญหาเรื่องการทำตามนโยบายหาเสียงที่ประกาศไว้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถทำได้ทันที ยอมรับว่าหลายบริษัทแรงงานตอนนี้ปิดตัวลงไปต่อเนื่อง ในฐานะตัวแทนแรงงานทุกคนวาดหวังว่าหากนโยบายที่ประกาศไว้แล้วทำได้จริง เชื่อว่าทุกคนจะยอมรับได้ และถ้าทำไม่ได้จะมีเสียงเรียกร้องรัฐบาลชุดใหม่ทันที ภาระนั้นคือรัฐบาลใหม่ต้องทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงให้ได้จริง