posttoday

ศึกชิงที่สองเลือกตั้ง เดิมพันเก้าอี้"ประยุทธ์"

21 มีนาคม 2562

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งแต่ละพรรคเริ่มประกาศจุดยืนและท่าทีความชัดเจนรวมไปถึงเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลเหลือเพียงแค่รอดูผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาสุดท้ายอย่างไร

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งแต่ละพรรคเริ่มประกาศจุดยืนและท่าทีความชัดเจนรวมไปถึงเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลเหลือเพียงแค่รอดูผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาสุดท้ายอย่างไร

*****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 แต่ละพรรคเริ่มประกาศจุดยืนและท่าทีความชัดเจนรวมไปถึงเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งจะจับมือกับใครไม่จับมือกับใคร จนสามารถนำมาคำนวณเป็นสูตรการจัดตั้งรัฐบาลได้เบื้องต้น เหลือเพียงแค่รอดูผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาสุดท้ายอย่างไร

จากการประเมินเบื้องต้นด้วยฐานข้อมูลรายชื่อและจำนวนอดีต สส.ในการเลือกตั้งล่าสุดปี 2554 โอกาสที่พรรคเพื่อไทยน่าจะได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่งมีความเป็นไปได้สูง แม้หลายฝ่ายจะประเมินตรงกันว่าด้วยระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม คงยากที่พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเกิน 250 เสียง ยิ่งในรอบนี้มีพรรคการเมืองใหม่ลงสนามเป็นจำนวนมาก ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นตัวลดทอนคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคใหญ่ให้มีสัดส่วนที่น้อยลงกว่าเดิม

เบื้องต้นสูตรการจัดตั้งรัฐบาลในรอบแรกจึงต้องรอดูว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตย มีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร คัดค้านการสืบทอดอำนาจ จะสามารถรวมเสียงได้เกิน 250 เสียงได้มากน้อยเพียงใด

หากมีเสียงข้างมากย่อมจะเป็นแต้มต่อสร้างความได้เปรียบ อันจะสามารถดึงบรรดาพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กอื่นๆ มาร่วมโหวตแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องสนคะแนนเสียงของ 250 สว.เฉพาะกาล ซึ่งมีแนวโน้มจะไม่โหวตให้ทางฝั่งพรรคเพื่อไทย

แต่หากดูจากทิศทางลมแล้วคงไม่ง่ายที่ฝั่งพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรจะสามารถรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง เมื่อทั้งพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีฐานเสียงยืนพื้นอยู่ราว 100 ที่นั่ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเองซึ่งถูกมองว่ามีความได้เปรียบหลายด้านก็อาจกวาดเก้าอี้ได้ 80-100 ที่นั่ง อยู่ที่การปลุกกระแสทิ้งทวนในช่วงโค้งสุดท้ายว่าใครจะมีหมัดเด็ดโดนใจประชาชนได้มากกว่ากัน

ปัญหาที่หลายฝ่ายห่วงกันว่าอาจนำไปสู่ทางตันทางการเมืองหลังเลือกตั้งนั้น อยู่ตรงท่าทีการออกมาประกาศจุดยืนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะไม่ร่วมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อันอาจทำให้ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถรวมเสียงเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลได้

เมื่อตัดสูตรพรรคเพื่อไทยได้เสียงถล่มทลายเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลโดย ไม่ต้องพึ่ง 250 เสียงของ สว. หรือเสียงสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ออกไป พรรคการเมืองที่มีโอกาสจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จึงน่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ ที่จะต้องไปหาเสียงสนับสนุนหลังการเลือกตั้งให้เพียงพอจัดตั้งรัฐบาลได้

ความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้จึงอาจไม่ได้อยู่ที่พรรคใดจะได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่งเพียงอย่างเดียว ในเมื่อศึกชิงที่สองในการเลือกตั้งหนนี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในจังหวะที่พรรคอันดับที่สองจะก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อพรรคที่ได้อันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ศึกชิงดำระหว่างประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐจึงอาจเป็นตัวตัดสินการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

เริ่มตั้งแต่ในกรณีที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ พร้อมเสียง สว.250 เสียง ที่ตุนไว้ในกระเป๋า หากได้เสียงต่ำกว่าร้อย โอกาสที่จะไปหาเสียงสนับสนุนจากพรรคขนาดกลางกับขนาดเล็กเพื่อให้ได้ 376 เสียงย่อมไม่ง่ายนักยังไม่รวมถึงในแง่ความสง่างามของพรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากพรรคพลังประชารัฐสามารถชนะเลือกตั้งได้เป็นอันดับสอง แซงหน้าประชาธิปัตย์ ย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ ในฐานะพรรคอันดับสองที่จะรวมเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตรงกันข้าม หากพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับสาม แม้ในทางปฏิบัติอาจจะสามารถรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ในแง่ความสง่างามย่อมทำให้การขึ้นสู่ตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกมองว่าไม่เหมาะสมเพียงพอ และซ้ำเติมด้วยปมเรื่องการใช้เสียง 250 สว. ที่ถูกมองว่าเป็นอีกกลไกซึ่งวางมาเพื่อการสืบทอดอำนาจ

ที่สำคัญ หากพรรคพลังประชารัฐสามารถชนะเลือกตั้งจนได้เป็นพรรคอันดับสอง ในทางปฏิบัติย่อมจะไป ลดทอนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ให้มีจำนวนน้อยลง และทำให้อำนาจหรือความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาลของประชาธิปัตย์ลดลงตามไปด้วยในขณะที่ฝั่งประชาธิปัตย์เองย่อมต้องพยายามทำให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด เพราะหากได้เป็นอันดับ 2 ย่อมจะเป็นแต้มต่อในการประกาศตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พาการเมืองออกจากทางตัน รวมทั้งยังเป็นเหตุผลสำคัญที่จะบีบให้พรรคพลังประชารัฐซึ่งมีคะแนนเสียงน้อยกว่ามาร่วมยกมือสนับสนุน อภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะดึงดันโหวต พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเดียว

อีกด้านหนึ่ง หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงน้อยกว่าพรรคพลังประชารัฐ นั่นย่อมมีความเป็นไปได้สูงว่าพรรคประชาธิปัตย์ย่อมต้องได้เสียงน้อยกว่า 100 เสียง อันจะเป็นเงื่อนไขให้ อภิสิทธิ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง ตามที่ได้เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ และเปิดให้รักษาการหัวหน้าพรรคคนใหม่ขึ้นมารับไม้ดูแลการจับมือร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่น

สุดท้ายแล้ว ศึกชิงดำที่สองของพรรคพลังประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐจึงมีความสำคัญต่อทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลและทิศทางการเมืองในอนาคต และเป็นเดิมพันการหวนคืนสู่ตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ รอบใหม่อีกด้วย