posttoday

สว.โหวตสวนชนวนป่วนเสียงส่วนใหญ่

20 มีนาคม 2562

เสียงของ สว.เฉพาะกาลอาจเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่อยู่ตรงที่ประเด็น ซึ่งอาจเป็นการเบี่ยงเบนคะแนนเสียงของประชาชน

เสียงของ สว.เฉพาะกาลอาจเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่อยู่ตรงที่ประเด็น ซึ่งอาจเป็นการเบี่ยงเบนคะแนนเสียงของประชาชน

*********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ทางออกไม่นำไปสู่ความวุ่นวายรอยู่ที่ทิศทางการลงคะแนนของสว.ควรจะสอดรับกับผลการเลือกตั้ง ไม่สวนกระแสหรือทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่ามีเบื้องหลังเชื่อมโยงกับการสืบทอดอำนาจที่มีแต่จะทำให้ทุกอย่างย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม

เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ กับท่าทีความเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคการเมืองที่รวมตัวผนึกกำลังออกมาดักคอการลงคะแนนของ 250 สว.เฉพาะกาล ให้เคารพ “ฉันทามติ” ของประชาชนผู้ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง แทนที่จะเทน้ำหนักไปยังฝั่งอื่นจนมีผลทำให้บิดเบือนเสียงของประชาชน จนอาจเป็นชนวนนำไปสู่ความวุ่นวายและรุนแรงในอนาคต

สอดรับไปกับความพยายามจะดึงให้พรรคการเมืองต่างประกาศตัวร่วมทำสัญญาใจใช้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อชี้ขาดการจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่ต้องพึ่งพา 250 เสียงจาก สว.เฉพาะกาล ซึ่งมีที่มาจากการคัดสรรของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขาดการยึดโยงกับเสียงของประชาชน

ทั้งหมดเป็นไปเพื่อให้กระบวนการออกเสียงของประชาชนสะท้อนความต้องการที่แท้จริงในการเลือก สส. มาทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสกัดกั้นปฏิบัติการสืบทอดอำนาจที่ถูกวางเอาไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งห่วงกันว่าสุดท้ายอาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นที่ยอมรับและนำไปสู่ปัญหาอื่นต่อไปได้

ยิ่งในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาประกาศจุดยืนกันชัดเจนว่าอยู่ขั้วไหนพร้อมจะจับมือกับพรรคไหนหรือไม่สนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี จนทำให้พอจะสามารถจับทิศทางการประสานพลังรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตได้มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ทว่าด้วยกฎกติกาพิเศษ ซึ่งเปิดช่องให้ 250 สว.เข้ามามีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อสูตรการจับขั้วตั้งรัฐบาล ทั้งในแง่เสียงสนับสนุนที่จะทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถตั้งรัฐบาลหรือไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้

เสียงของ สว.เฉพาะกาลจึงอาจกลายเป็นตัวชี้ขาดในทิศทางการเมืองในอนาคต ซึ่งหากที่มาที่ไปของ สว.ชุดนี้มีที่ไปที่มาจากการยึดโยงกับประชาชน การจะออกเสียงของ สว.ชุดนี้ย่อมไม่มีปัญหาในการจะไปสนับสนุนพรรคการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่ง แต่ด้วยที่มาซึ่งเชื่อมโยงกับ คสช.เพียงไม่กี่คน การจะให้อำนาจ สว. 250 คน มามีส่วนชี้ทิศทางการเมืองแทนการออกเสียงของประชาชนทั้งประเทศย่อมไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้

สาเหตุส่วนหนึ่งที่หลายฝ่ายวิตกว่าเสียงของ สว.อาจเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่อยู่ตรงที่ประเด็น ซึ่งอาจเป็นการเบี่ยงเบนคะแนนเสียงของประชาชน จนอาจทำให้พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ซึ่งรวมเสียงได้เกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่อาจไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หรือตรงกันข้ามอาจทำให้พรรคการเมืองที่รวมเสียงได้ไม่ถึง 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรพลิกกลับมาเป็นฝ่ายสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

จากที่ประเมินคร่าวๆ ฝั่งพรรคเพื่อไทยที่คาดว่าน่าจะสามารถรวมเสียงจากฝั่งที่เรียกตัวเองว่าฝั่งประชาธิปไตยได้ประมาณ 200 เสียง ซึ่งควรจะมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลด้วยการไปหาพรรคขนาดกลางขนาดเล็กมาสนับสนุนเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 250 เสียง ซึ่งเพียงพอจะมีเสถียรภาพในสภาผู้แทนราษฎร แต่หาก 250 เสียงของ สว.ไม่มาสนับสนุนด้วยสูตรการจับขั้วนี้ย่อมเป็นหมัน

ในขณะที่ฝั่งประชาธิปัตย์ ซึ่งประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่สนับสนุนฝั่งเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ดังนั้นหากในกรณีพรรคเพื่อไทยไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ และพรรคพลังประชารัฐต้องการที่จะใช้เสียงสนับสนุนจาก 250 สว.เป็นฐานสำคัญจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาธิปัตย์ แม้จะสามารถรวมเสียงเพียงพอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไร้ซึ่งเสถียรภาพ

อีกด้านโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสานต่อภารกิจที่เคยทำไว้ 5 ปีให้เดินต่อไปแบบไร้รอยต่อ ย่อมไม่ง่ายนักที่จะพลิกขั้วมาสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพียงเพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ต้องไปติดอยู่ที่ทางตันจากจุดยืนที่ยากจะหาจุดลงตัวร่วมกันของแต่ละฝ่าย

ยังไม่รวมกับ “ทางออก” ที่หลายฝ่ายห่วงกันว่าเมื่อถึงทางตันขึ้นมาจริงๆ อาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ “งูเห่า” หรือการไล่ซื้อเสียงสนับสนุนจาก สส.พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้ได้เสียงเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ในยุคที่ สส.มีเอกสิทธิ์ที่จะลงมติใดๆ โดยไม่ต้องยึดตามมติพรรค ซึ่งจะทำให้การเมืองวนกลับไปสู่ปัญหาในอดีตเรื่องการใช้ผลประโยชน์หรือคดีความที่ติดตัวเข้ามาบีบอีกทางหนึ่ง

ดังจะเห็นจากปรากฏการณ์ดูดที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงก่อนหน้านี้ จนห่วงกันว่าแทนที่จะเดินหน้าสู่การปฏิรูปทางการเมือง สุดท้ายอาจยิ่งทำให้การเมืองถอยหลังกลับไปสู่อดีตที่ย่ำแย่กว่าเดิม

ข้อเสนอที่ให้พรรคการเมืองทั้งหมดยอมรับข้อเสนอเรื่องการตั้งรัฐบาลโดยไม่พึ่งเสียงของ 250 สว. จึงวนกลับมาพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่อให้พรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ และเปิดให้พรรคอันดับถัดไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังยึดโยงกับเสียงของประชาชนและเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวิถีประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคพลังประชารัฐจะออกมายอมรับข้อเสนอนี้

ทางออกที่พอจะคลี่คลายสถานการณ์ไม่ให้สุ่มเสี่ยงบานปลายไปสู่ความวุ่นวายรุนแรงจึงอาจอยู่ที่ทิศทางการลงคะแนนของ สว. ที่ควรจะเป็นไปในทิศทางที่สอดรับกับฉันทานุมัติที่สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง ไม่สวนกระแสหรือทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่ามีเบื้องหลังเชื่อมโยงกับการสืบทอดอำนาจที่มีแต่จะทำให้ทุกอย่างย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม