posttoday

โค้งสุดท้าย"บิ๊กตู่"รีเทิร์นนายกฯยาก

12 มีนาคม 2562

การประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ของหน.ปชป. ทำให้ขั้วของ 3 กลุ่มการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การออกมาชิงจังหวะโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประกาศจุดยืน ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากจะยิ่งทำให้ขั้วของ 3 กลุ่มการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งยังทำให้พรรคประชาธิปัตย์พลิกบทบาทกลับมา มีแต้มต่อที่สำคัญในทิศทางการเมือง นับจากนี้เป็นต้นไป

การแสดงออกครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นท่าทีความชัดเจนที่แตกต่างจากทุกครั้ง โดยเป็นการตั้งโต๊ะแถลงอย่างเป็นระบบ นำโดย อภิสิทธิ์ พร้อมคณะกรรมการบริหาร อาทิ กรณ์ จาติกวณิช, เกียรติ สิทธีอมร, พนิช วิกิตเศรษฐ์, สุทัศน์ เงินหมื่น ซึ่งพูดชัดถ้อยชัดคำว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจ สร้างความขัดแย้งและขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์

"ยืนยันว่าเป็นการพูดในฐานะหัวหน้าพรรคและเป็นไปตามอุดมการณ์ของพรรค ดังนั้น จึงไม่ควรมีคำถามว่าเป็นจุดยืนของพรรคหรือไม่ เพราะหากดูตามข้อบังคับพรรคและกลไกการทำงานย่อมต้องมีมติพรรค พรรคไม่อาจมีจุดยืนที่ขัดกับอุดมการณ์ของตัวเองที่ประกาศไว้เมื่อ 70 ปีได้ ซึ่งหากสิ่งที่ประกาศทำให้เสียคะแนน ผมยินดี เพราะคือความเป็นธรรมสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งสำคัญกว่า"

สิ่งที่สำคัญจากการประกาศจุดยืนของอภิสิทธิ์ครั้งนี้ คือ ทำให้สถานะของพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นอีกขั้วการเมืองที่มีแต้มต่อพร้อมจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จากเดิมที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงตัวแปรทางการเมือง รอดูแค่ว่าจะเลือกร่วมสนับสนุนฝั่งพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐบาล

ในการแถลงจุดยืนครั้งนี้ อภิสิทธิ์ประกาศชัดเจนว่า ประชาชนมี 3 ทางเลือก คือ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และพลังประชารัฐ ซึ่งเรื่องที่สำคัญที่สุดในการเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ขณะนี้เรามุ่งสู่การเป็นแกนนำรัฐบาล ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลบนพื้นฐานของอุดมการณ์และนโยบาย และสิ่งที่แสดงจุดยืนออกไปสองครั้ง ชัดเจนว่าเราจะต้องจัดตั้งรัฐบาลแบบไม่มีทุจริตและไม่สืบทอดอำนาจ

ที่ผ่านมา การประกาศจุดยืนมีปฏิกิริยาจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งพยายามผลักดันให้เดินกลับไปสู่การสร้างวาทกรรมเดิมๆ คือ หากไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ หมายถึงต้องจับมือกับพรรคเพื่อไทยตราบเท่าที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถออกมาจากการครอบงำของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีผลประโยชน์ที่ขัดกับผลประโยชน์ของประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถร่วมงานด้วยได้

"ที่สำคัญ จนถึงทุกวันนี้ไม่มีสัญญาการเปลี่ยนแปลงทำงานทางการเมืองของกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายนี้ อีกด้านหนึ่งก็ไม่ตกหลุมพรางของเครือข่ายของระบอบทักษิณที่พยายามบีบเพื่อให้เราไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เขาถามว่าจะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ขอตอบให้ชัดอีกครั้ง ว่าหากพรรคพลังประชารัฐต้องการสืบทอดอำนาจ ประชาธิปัตย์ไม่ร่วมด้วย"

การประกาศจุดยืนของตัวเองไม่ร่วมกับฝั่งทุจริต และสืบทอดอำนาจ แม้ด้านหนึ่งจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกมองว่าจะต้องถูกโดดเดี่ยวหรือเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านตั้งแต่ยังไม่ทันเลือกตั้ง

แต่หากพิจารณาลึกลงไปแล้วการเสนอตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ นับเป็นการเปิดเกมรุกครั้งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะรู้อยู่แล้วว่าด้วยข้อจำกัดจำนวนเสียงคร่าวๆ ของแต่ละขั้วที่เป็นอยู่ในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะสามารถรวมเสียงเพียงพอกับการจัดตั้งรัฐบาลได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีตัวแปร 250 เสียงของ สว.เฉพาะกาล ที่จะเข้ามีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

ประเมินคร่าวๆ ต่อให้ฝั่งพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรได้คะแนนเสียงรวมกันแล้วเกิน 250 เสียง ก็อาจไม่ง่ายที่จะหาเสียงเพิ่มอีก 126 เสียงเพื่อโหวตให้ฝั่งพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หาก  250 เสียง จาก สว. และเสียงอีกประมาณ 100 เสียงไม่สนับสนุน

เช่นเดียวกันกับฝั่งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต่อให้ได้เสียงเกิน 100 และรวมกับ 250 เสียงจาก สว. ซึ่งเพียงพอจะหาเสียงเพิ่มอีกเล็กน้อยก็จะได้เสียง 376 เสียง เพียงพอจะผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ในทางปฏิบัติก็จะเป็นปัญหาในอนาคตหากไม่ได้เสียงเฉพาะ สส.เกิน 250 เสียง ซึ่งจะทำให้เป็นรัฐบาลเสียง ข้างน้อยขาดเสถียรภาพ

ดังนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคาดว่าจะมีเสียงประมาณ 100 เสียง ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เป้าหมายที่หลายฝ่ายพยายามจะผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย จึงดูริบหรี่จากจุดยืนที่อภิสิทธิ์ประกาศ

กลไกที่ออกแบบมาอย่างเป็นระบบทั้งระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องแตกออกเป็นพรรคต่างๆ เพื่อให้ได้คะแนนบัญชีรายชื่อมากที่สุด ไปจนถึงตัวช่วย 250 เสียงของ สว.เฉพาะกาล สุดท้ายจึงอาจไม่เป็นผลในทางปฏิบัติ

สุดท้ายย่อมนำไปสู่สภาพยักแย่ยักยันที่ไม่อาจมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งไม่ง่ายที่จะเดินหน้าไปสู่การใช้เสียงปลดล็อกไปหานายกรัฐมนตรีคนนอก ทางเลือกที่ยังเหลืออยู่ จึงอาจเป็นการบีบให้พรรคพลังประชารัฐมาร่วมสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งวางตัว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดต นายรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในบัญชีจะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเดินต่อไปอย่างไร