posttoday

กองทัพ ยกพลตบเท้า ประวัติศาสตร์เสี่ยงซ้ำรอย

08 มีนาคม 2562

การเมืองนับจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง หรือแม้แต่หลังเลือกตั้ง ท่าทีของกองทัพเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองใกล้ช่วงเลือกตั้ง 24 มี.ค. เหมือนจะไม่มีอะไรมากนัก นอกจากการที่แต่ละพรรคการเมืองระดมลงพื้นที่ หาเสียงและขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์กันอย่างดุเดือด แต่มานาทีนี้ปรากฏว่าการเมืองกำลังใกล้แตะจุดเดือดเข้าให้แล้ว ภายหลังมีความเคลื่อนไหวของกองทัพที่แสดงออกทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เรียกประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) วาระพิเศษ และการประชุมผู้บังคับหน่วยระดับกองพันขึ้นไป โดยมีผู้บังคับหน่วยระดับกองพัน ผู้บังคับการกรม ผู้บัญชาการกองพล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ทั่วประเทศ 796 นาย เมื่อวันที่ 7 มี.ค.

การประชุมครั้งนี้คล้ายกับว่าจะเป็นการประชุมธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องภายในของกองทัพบกเป็นการทั่วไป แต่ความไม่ธรรมดาก็เกิดขึ้น ภายหลัง พล.อ.อภิรัชต์ นำกล่าวคำปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าหอประชุมกิติขจร

"ข้าพเจ้าจักรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้าและจักธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศ และศักดิ์ศรีของทหาร ข้าพเจ้าในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐจะสนับสนุนรัฐบาล ที่ยึดมั่น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความจงรักภักดี มีธรรมาภิบาล

ข้าพเจ้าจะดูแลช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาสน่าจะปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัวด้วยความเมตตาและเป็นธรรม" คำกล่าวนำของบิ๊กแดงที่เต็มไปด้วยความขึงขัง

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่กองทัพถูกพาดพิงและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด

ปฐมเหตุที่ทำให้เกิดวิวาทะเช่นนี้ หนีไม่พ้นการตัดสินใจลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกสายตาต่างจับจ้องว่าการเข้ามาในสนามการเมืองของบิ๊กตู่นั้นมีเสียงเชียร์จากกองทัพอยู่ไม่น้อย เพราะในมุมมองของกองทัพเห็นว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกฯ จะช่วยให้กองทัพปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองไปอีกนานพอสมควร

ด้วยเหตุนี้เอง การหาเสียงของพรรคการเมืองจึงได้นำการปฏิรูปกองทัพเป็นแคมเปญหนึ่งในการหาเสียง

"พรรคอนาคตใหม่" กลายเป็นพรรคการเมืองแรกๆ ที่เสนอให้ปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม เพื่อนำงบประมาณที่มีไขมันส่วนเกินของกองทัพมาแปรเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน

ตามมาด้วย "พรรคเพื่อไทย" ซึ่งเสนอให้ตัดงบประมาณกองทัพและนำเงินส่วนเกินดังกล่าวมาใช้สำหรับการสร้างอาชีพให้กับประชาชน

กลายเป็นการสร้างวาทะเดือดของ ผบ.ทบ.ที่ว่า "หนักแผ่นดิน" ซึ่งทำให้การเมืองเกิดความเขม็งเกลียวขึ้นมา เพราะจุดเดือดของ ผบ.ทบ.ดูเหมือนจะมีเพดานต่ำพอสมควร

มาจนถึงจุดแตกหักสำคัญระหว่าง "บิ๊กแดง" และ "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส" หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย การปะฉะดะของสองผู้ยิ่งใหญ่ต่างวงการ นำมาซึ่งการฟ้องร้องเป็นคดีกันอย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

เมื่อกองทัพถูกขบเหลี่ยมจากฝ่ายการเมืองมากขึ้น จึงทำให้กองทัพไม่อาจอยู่เฉยได้และต้องออกมาแสดงพลังให้ฝ่ายการเมืองให้เห็นประหนึ่งว่าแม้ในอนาคตจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่กองทัพก็ยังคงมีสถานะเหมือนเดิม ใครจะมาเปลี่ยนแปลงไม่ได้

การแสดงออกของกองทัพที่ออกมา นับว่าสร้างความหวั่นวิตกไม่น้อย เพราะเวลานี้เป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเข้าคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งต้องการบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ดังนั้น ท่าทีของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่สื่อให้เห็น จึงนำมาสู่คำถามในทำนองว่าจะเกิดการรัฐประหารอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งจะว่าไปแล้วกลิ่นอายแทบไม่ต่างกับบรรยากาศที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารปี 2549

ในเวลานั้นความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาลของ "ทักษิณ ชินวัตร" เกิดความระอุเป็นระยะ เกิดการตั้งคำถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลนั้นควรมีระยะห่างเป็นอย่างไร

ถ้าใครยังจำกันได้ ขณะนั้นได้เกิดวาทกรรม "จ๊อกกี้กับเจ้าของม้า" เปรียบรัฐบาลเป็นจ๊อกกี้ ส่วนทหารเป็นม้า แต่จ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของม้า ก่อนนำมาสู่การรัฐประหารในเดือน ก.ย. 2549

เทียบเหตุการณ์ในวันนี้กับวันนั้น ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าอาจมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เพราะปี 2549 กองทัพกับรัฐบาลไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนกับในปัจจุบัน

เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพในอนาคต จะยังเป็นคำถามต่อไปว่าจ๊อกกี้กับม้าจะไปกันรอดหรือไม่ หากพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เป็นรัฐบาล หรือไม่ได้นายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้น การเมืองนับจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง หรือแม้แต่หลังเลือกตั้ง ท่าทีของกองทัพจึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง