posttoday

นโยบายรื้อกองทัพ เห็นขั้วอำนาจการเมือง

22 กุมภาพันธ์ 2562

การเมืองนับวันจะยิ่งทวีความขัดแย้งมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกองทัพเข้ามาอยู่ในวงจรการเมืองด้วย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้ง เริ่มเดือดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภายหลัง "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ผบ.ทบ. ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญด้วยการบอกให้ไปฟังเพลง "หนักแผ่นดิน"

ปฐมเหตุของวิวาทะนี้มาจากคำปราศรัยของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ซึ่งเสนอนโยบายว่าจะปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม 10% หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเอางบประมาณมาพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ

ท่าทีของคุณหญิงสุดารัตน์ในครั้งนั้นได้นำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างกองทัพและพรรคการเมืองที่กำลังสู่อำนาจอย่างเห็นได้ชัด

โดยทันทีที่ พล.อ.อภิรัชต์ เกริ่นเรื่องเพลงหนักแผ่นดินขึ้นมา ปรากฏว่าบรรดานักเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยหรือแม้แต่นักวิชาการบางส่วนก็แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับท่าทีของ ผบ.ทบ.ทันที เนื่องจากมองว่าเพลงหนักแผ่นดินเป็นการซ้ำเติมความขัดแย้งให้ลงลึกมากขึ้นไปอีก

การจุดประเด็นเรื่องงบประมาณของกระทรวงกลาโหมของพรรคการเมือง ถือว่าเป็นการจี้ใจดำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัดี

ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่างบประมาณของกองทัพในยุคของ คสช.มีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้นพอสมควร อีกทั้งการทำงานการเมืองของกองทัพตลอดหลายปีมานี้สร้างความไม่พอใจกับประชาชนพอสมควร เพราะมีการดำเนินการที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงไม่แปลกที่จะเป็นแผลให้พรรคการเมืองนำมาขยายผลเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง

ข้อเสนอเกี่ยวกับการรื้อระบบ งบประมาณของกระทรวงกลาโหมนั้น ไม่ได้มีแค่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียวที่เป็นผู้เสนอ เพราะก่อนหน้านี้มีหลายพรรคการเมืองที่จับเรื่องนี้เช่นกัน

พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคการเมืองแรกๆ ที่เสนอปฏิรูปกองทัพแบบตรงไปตรงมาหลายด้าน อาทิ ลดกำลังจากขนาด 3.3 แสนนาย เหลือ 1.7 แสนนาย นายพล จาก 1,600 นาย เหลือ 400 นาย โดยกำหนดเป็นกฎหมายใช้เวลา 5-10 ปี ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบปัจจุบัน ใช้สมัครใจ เกณฑ์เฉพาะเมื่อเกิดสงครามและรับราชการเป็นพลอาสาสมัคร เงินเดือนและเงินตอบแทนทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นบาท/เดือน

ที่สำคัญพรรคอนาคตใหม่เสนอว่าการจัดซื้ออาวุธอย่างโปร่งใส โดยเชิญประชาชนและสื่อมวลชนร่วมกำหนดสเปกและราคากับกองทัพ เพื่อให้ได้อาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เหมาะกับการรบ ประหยัด และคุ้มค่าที่สุด

เช่นเดียวกับ พรรคเสรีรวมไทย ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค ได้เสนอให้ปฏิรูปกองทัพแบบถึงพริกถึงขิงเช่นกัน

โดยพรรคเสนอ 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ยุบกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อนำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาความยากจน 2.ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแต่ให้ใช้ระบบสมัครใจ และ 3.นายกรัฐมนตรีมีอำนาจโยกย้ายผู้นำเหล่าทัพ

ทั้งนี้ มีไม่บ่อยครั้งนักที่การหาเสียงเลือกตั้ง บรรดาพรรคการเมืองจะเอาการปรับปรุงกองทัพมาเป็นหนึ่งในนโยบายของการหาเสียง แต่ที่เกิดขึ้นได้เช่นนี้ เพราะต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่พรรคพลังประชารัฐลงสนามเลือกตั้งเพื่อผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

ประกอบกับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ มีบาดแผลพอสมควร โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จึงไม่แปลกที่พรรคการเมืองจะฉวยโอกาสนี้เพื่อเตะตัดขาพรรคพลังประชารัฐด้วยการนำประเด็นเกี่ยวกับกองทัพมาหาเสียง

อย่างไรก็ตาม จากแนวทางการหาเสียงที่เกิดขึ้น อีกด้านหนึ่งทำให้การเมืองในอนาคตเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่าขั้วอำนาจทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ที่แน่นอนได้เห็นแล้วว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคเสรีรวมไทยพร้อมที่จะเข้ามาร่วมเป็นขั้วการเมืองเดียวกัน เพื่อปะทะกับพรรคพลังประชารัฐในระยะยาว

ขณะที่พรรคการเมืองที่ไม่ได้เสนอนโยบายเกี่ยวกับกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พอชี้ลงไปได้ว่าพร้อมที่จะเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐได้เช่นกัน ถ้าหากพรรคพลังประชารัฐมีเสียงมากพอในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

การเมืองนับวันจะยิ่งทวีความขัดแย้งมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกองทัพเข้ามาอยู่ในวงจรการเมืองด้วย บวกกับกองทัพจะต้องเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ต้องร่วมทำงานกับรัฐบาลของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วยแล้ว อีกทั้งผู้นำเหล่าทัพระดับ ผู้บัญชาการกองทัพยังเข้ามาในสภาในฐานะ สว.ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้การเมืองเกิดความไม่มีเสถียรภาพมากขึ้นไปอีก

ดังนั้น การเลือกตั้งที่ใครต่อใครตั้งความหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปรองดองและการเริ่มนับหนึ่งกันใหม่นั้นอาจต้องกลับมาคิดกันใหม่ เพราะในทางกลับกันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งบทใหม่ก็เป็นไปได้