posttoday

4 รมต.ยื้อลาออก เพิ่มความเสี่ยง พปชร.

25 มกราคม 2562

ประเด็น 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. อีกด้านหนึ่งยังมีสถานะเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมีเสียงเรียกร้องให้ลาออก จากตำแหน่งเพื่อความสง่างามและทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างเป็นธรรม

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกาให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป  พรรคการเมืองต่างๆ พากันทยอยเปิดตัวแสดงความพร้อม อาสาเป็นตัวเลือกสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ซึ่งเหลือระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 60 วัน

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถือเป็นอีกหนึ่งพรรคที่เริ่มต้นเปิดแนวนโยบายของพรรคที่ค่อนข้างชัดเจน  ผ่านสโลแกนต่างๆ ทั้งสังคมประชารัฐขจัดความขัดแย้ง ก้าวข้ามความขัดแย้งไม่แบ่งสีไม่แบ่งฝ่าย เศรษฐกิจประชารัฐขจัดความยากจน

รวมไปถึง "นโยบายสร้างชาติ เพิ่มพลังเศรษฐกิจ" อันประกอบด้วย 3 พันธกิจ ได้แก่ สวัสดิการประชารัฐ 7 เรื่องสังคมประชารัฐ 7 เรื่อง และเศรษฐกิจประชารัฐ 7 เรื่อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข้มแข็ง ปรับโครงเศรษฐกิจ สร้างโอกาสที่เท่าเทียม และสร้างความสามารถให้แข่งขันกับโลก

อันอาจเรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดจากโครงการประชารัฐของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้เริ่มต้นออกตัวไปก่อนหน้านี้ และหลายเรื่องเริ่มเห็นผลจนมีส่วนกู้ให้คะแนนนิยมของรัฐบาลกระเตื้องกลับขึ้นมาได้บ้าง

ปลุกให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองจากอำนาจรัฐในมือกลับมาเป็นประเด็นอีกรอบ โดยเฉพาะระยะหลังกับการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านสารพัดโครงการ ตลอดจนแพ็กเกจของขวัญช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่โหมหนักในช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

ต่อเนื่องมาจนถึงประเด็น 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. อีกด้านหนึ่งยังมีสถานะเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐไล่มาตั้งแต่ อุตตม สาว นายน หัวหน้าพรรค สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค กอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ซึ่งมีเสียงเรียกร้องให้ลาออก จากตำแหน่งเพื่อความสง่างามและทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม

ทว่าจนถึงปัจจุบัน 4 รัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลที่หยิบยกมาชี้แจงก่อนหน้านี้ว่ายังมีภาระหน้าที่ในตำแหน่งซึ่งต้องดำเนินการทำให้แล้วเสร็จ หากลาออกจากตำแหน่งในทันทีอาจกระทบต่อสิ่งที่ได้เริ่มทำไปแล้ว หรืออาจถึงขั้นกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศ โดยระบุว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะลาออกเอง

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการปรับแผนไม่ลาออกในช่วงเวลานั้น เพราะต้องการเป็นกันชนไม่ให้แรงกดดันส่งไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งทางพรรคพลังประชารัฐประกาศจะเชิญมาเป็นหนึ่งในรายชื่อที่พรรคจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี

หากในกรณีที่ 4 รัฐมนตรี ลาออก แรงกดดันย่อมต้องขยับไปกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก เพื่อความสง่างามเหมือนกับ 4 รัฐมนตรี เป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้ง 4 คนยังต้องอยู่ในตำแหน่งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับวันยิ่งมีเสียงกดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะภายหลังจากมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม มีเพียงแค่กระแสข่าวว่า  4 รัฐมนตรี ก็ยังอยู่ในช่วงหารือว่าจะลาออกจากตำแหน่งเมื่อไหร่ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นช่วงวันที่ 4-8 ก.พ. ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเปิดรับสมัคร สส. ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ รวมทั้งเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

ซึ่งในมุมของรัฐมนตรีจากฝั่งพรรคพลังประชารัฐ อาจจะเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งด้วยเงื่อนเวลาที่จะไม่กระทบกับงานในรัฐบาล ซึ่งรัฐมนตรีแต่ละคนล้วนแต่ต้องดูแลรับผิดชอบงานสำคัญๆ ในหลายส่วน  หากลาออกในวันสมัครลง สส. ก็พอจะช่วยลดแรงกดดันไปได้บ้างไม่มากก็น้อย

แต่จากกระแสสังคมที่ผ่านมาจะพบว่าเสียงเรียกร้องให้รัฐมนตรี 4 คนลาออกจากตำแหน่งนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการให้รัฐบาล คสช.วางตัวให้เป็นบรรทัดฐานที่ดี สอดรับกับความต้องการที่จะปฏิรูปการเมืองให้ก้าวพ้นจากวังวนความขัดแย้งในอดีต

แม้จะไม่มีกฎกติกาที่บังคับให้รัฐมนตรีลาออก แต่ในแง่ความได้เปรียบทางการเมืองการที่รัฐมนตรีอยู่ ตำแหน่งย่อมเปิดช่องให้หาเสียงผ่านการทำงานได้แบบทางอ้อม ในวันที่พรรคการเมืองต่างๆ ยังถูกคำสั่ง คสช. ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมีแต่จะทำให้บรรยากาศการแข่งขันถูกมองว่าไม่เป็นธรรม

โดยเฉพาะเวลานี้ซึ่งมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย แม้จะยังไม่ถึงวันรับสมัคร สส. แต่หากเกิดการดำเนินการใดๆ ที่สุ่มเสี่ยงจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎกติกาเลือกตั้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้อำนาจรัฐเข้าไปเอื้อประโยชน์หรือจูงใจให้เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อาจถูกหยิบยกไปร้องเรียนต่อ กกต. ได้ตลอด

ยิ่งในบรรยากาศการเมืองที่คาดว่าจะนำไปสู่การแข่งขันที่ดุเดือด ทำให้คาดการณ์กันว่าเรื่องร้องเรียนในการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา

ดังนั้น การฝืนอยู่ในตำแหน่งของ 4 รัฐมนตรี จึงอาจไม่ใช่แค่การทำลายความสง่างามทางการเมืองจนฉุดคะแนนนิยมของพรรค พปชร.ให้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ซ้ำเติมแผลเก่าที่ผ่านมาจากที่ถูกมองว่ามีการชิงความได้เปรียบหลายเรื่อง อย่างการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่  แต่ปัญหาสำคัญคือการพาตัวเองให้ไปอยู่ในสถานะที่สุ่มเสี่ยงจะถูกจ้องจับผิดจนขยับได้ยาก

การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในช่วงเวลานี้แม้จะสายไปแล้ว แต่ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไป