posttoday

4 ก๊กทางเลือก วัดกระแสเลือกตั้ง ปี'62

28 ธันวาคม 2561

เส้นทางสู่การเลือกตั้งชัดเจนขึ้น หลังคสช. ปลดล็อกให้บรรดาพรรคการเมืองเดินหน้าทำกิจกรรมและหาเสียงได้อย่างอิสระ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางสู่การเลือกตั้งชัดเจนขึ้น ภายหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกให้บรรดาพรรคการเมืองเดินหน้าทำกิจกรรมและหาเสียงได้อย่างอิสระ สอดรับกับความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคที่รีบเร่งลงพื้นที่แข่งกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด

นอกจากการเร่งจัดวางโครงสร้างพรรคให้สอดรับกับกฎกติกาใหม่  การจัดหาตัวผู้สมัครท่ามกลางกระแสดูด ที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนการจัดวางแนวนโยบายที่ใช้สำหรับการหาเสียงให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันแล้ว

การจัดวางยุทธศาสตร์ที่จะใช้เป็นจุดขายของแต่ละพรรคถือเป็นปัจจัยส่วนสำคัญที่มีผลต่อแนวทางการตัด สินใจของประชาชนในช่วงเลือกตั้งที่จะต้องพิจารณาในทุกมิติประกอบกัน

หากจากจำแนกดู รายละเอียด ของแต่ละพรรคเวลานี้จะพบว่ามีความแตกต่างโดยสามารถจำแนกออก 4 กลุ่ม ใหญ่ๆ ได้แก่

กลุ่มแรก กลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กลับมาเป็นนายกฯ เพื่อสานต่อขับเคลื่อนแนวนโยบายที่เคย ทำมาในอดีต ให้สำเร็จลุล่วงไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ คู่ขนานไปกับการสกัดขั้วอำนาจเก่าไม่ให้กลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง

เห็นได้ชัดเจนผ่านวาทกรรมสกัดปัญหาความขัดแย้งในอดีต ป้องกันไม่ให้บ้านเมืองกลับไปสู่วังวนเหมือนที่ผ่านมา หรือจะเลือกพรรคการเมืองใหม่ นักการเมืองใหม่ ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งในอดีต

กำลังหลักอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เริ่มเปิดตัวและประกาศ จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น แคนดิเดตอันดับแรกในบัญชีของพรรค ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังแบ่งรับแบ่งสู้ไม่ประกาศความชัดเจนเนื่องด้วยจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้การกระทำต่างๆ หมิ่นเหม่กับการขัดกฎหมาย หรือถูกร้องเรียน

จุดเด่นของยุทธศาสตร์นี้อยู่ตรงความต่อเนื่องที่จะสานต่อภารกิจที่ เริ่มต้นไว้แล้ว รวมไปถึงการเร่งสร้างคะแนนผ่านนโยบายลดแลกแจกแถม ที่อัดสู่รากหญ้าในแต่ละพื้นที่ และนโยบายดูแลผู้มีรายได้น้อยที่กำลัง จะเปิดต่อไปในเร็วๆ นี้

"นอกจากคนไทยต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งและให้ประเทศมีเสถียรภาพดีแล้ว พรรคมีนโยบาย ที่จะตอบโจทย์ประเทศไทย ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของ ประเทศที่สะสมมานาน ภายใต้แนวทาง สร้าง-เสริม-ปรับ-เปลี่ยน คือ สร้างหลักประกันสังคมให้คนไทยได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง" อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค กล่าว

ยังไม่รวมกับบรรดาแนวร่วมที่เคยเปิดตัวมาแล้วก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย  ภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ พรรคประชาชนปฏิรูป ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศความชัดเจนมาตั้งแต่แรก

กลุ่มที่สอง ขั้วอำนาจเก่าที่ชูจุดยืนเรื่องการต่อสู้กับระบอบเผด็จการป้องกันการสืบทอดอำนาจและเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นกำลังหลักซึ่งใช้ จุดแข็งในอดีตเรื่องการต่อสู้ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเข้ามาขยายผล

พร้อมกันนี้ยังได้หยิบยกแนวนโยบายที่เคยได้รับความนิยมทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค โอท็อป ฯลฯ มาตอกย้ำความสำเร็จควบคู่ไปกับ การถล่มความล้มเหลวแนวทาง การบริหารในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาจนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ

ที่สำคัญคือการขายประเด็นล้างมรดก คสช. ทั้งการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่ คสช.ได้ออกไว้ทั้งเรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นภาระปัญหา และเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่แค่แจกเงินอย่างเดียว

กลุ่มนี้ยังมีพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกมองว่าเป็นพรรคเครือข่ายกับ เพื่อไทยเพราะมีบรรดาแกนนำและสมาชิกจำนวนมากจากพรรคเพื่อไทย ไปเป็นแกนนำจัดตั้งพรรค รวมถึงพรรค เพื่อชาติ ที่มีทั้งยงยุทธ ติยะไพรัช และ จตุพร พรหมพันธุ์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ต่อเนื่องไปถึงพรรคอนาคตใหม่ ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล

กลุ่มที่สาม ที่ประกาศเป็นทางเลือกตรงกลางอย่างประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ออกมาประกาศไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย และพลังประชารัฐ  เพราะมีแนวนโยบายไม่ตรงกัน ทำให้กลายเป็น ทางเลือกใหม่ ไม่ให้เกิดการแข่งขันแค่สองขั้วเหมือนที่ผ่านมา

จุดขายของประชาธิปัตย์อยู่ตรงที่เน้นการไม่เดินหน้าประชานิยมแต่ใช้แนวสวัสดิการรัฐ ทั้งเรื่องประกันสังคม ประกันรายได้เกษตรกร เบี้ยยังชีพ กองทุนเงินออม กองทุนสวัสดิการชุมชน  พร้อมเปิดแคมเปญใหม่ "เกิดปั๊บรับสิทธิเงินแสน" เบี้ยเด็ก เข้มแข็ง 0-8 ปี คนละ 1,000 บาท/เดือนแบบถ้วนหน้าตั้งแต่แรกเกิด

กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มตรงกลางที่ถือเป็นพรรคทางเลือกขนาดกลาง ขนาดเล็ก มีฐานเสียงในพื้นที่ของ ตัวเองชัดเจน ซึ่งพร้อมจะเทน้ำหนักไปสนับสนุนกับพรรคการเมืองฝั่งใดก็ได้โดยไม่มีข้อผูกมัด อยู่กับจำนวนเสียงที่ได้รับในการเลือกตั้ง ในแง่นโยบายอาจไม่มีความแตกต่างเป็นพิเศษ แต่จะโดดเด่นในแง่ตัวบุคคลที่เป็นที่รู้จักในพื้นที่ แม้จะไม่มีกำลังพอจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะชี้ขาดการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

ทั้ง 4 กลุ่มนี้จึงเป็นทางเลือกที่มีให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเลือกจุดไหนอันจะมีผลกับการเดินไปข้างหน้าตามแนวทางที่คาดหวัง