posttoday

สงครามเพิ่งเริ่ม พรรคใหญ่รวมพลังต้าน 'พปชร.'

07 ธันวาคม 2561

เหตุผลหนึ่งที่สองพรรคการเมืองใหญ่ไม่ร่วมประชุมกับคสช. 7ธ.ค.เพื่อต้องการย้อนเกล็ดรัฐบาลและ คสช. หลังพรรคพลังประชารัฐประกาศจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นว่าที่นายกฯ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

7 ธ.ค.กำลังจะเป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญทางการเมือง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะนั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อร่วมกันทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ที่ผ่านมา คสช.และรัฐบาลออกอาการเมาหมัดการเมืองไปพอสมควร ซึ่งสืบเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของการกำหนดวันเลือกตั้ง ทำให้หลายฝ่ายต่างออกมาโจมตีว่าที่สุดแล้ว คสช.และรัฐบาลจะยอมให้การเลือกตั้งเป็นไปตามที่ประกาศวันที่ 24 ก.พ. 2562 หรือไม่

แต่ที่สุดแล้วความชัดเจนก็ปรากฏขึ้นมาเป็นระยะ โดยเฉพาะการประกาศเขตเลือกตั้งของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้จะมีเสียงท้วงติงว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งเกิดการชิงไหวชิงพริบในทางการเมืองอยู่บ้าง แต่มาถึงวันนี้กระแสโจมตีดังกล่าวก็เริ่มซาลง เพราะแต่ละพรรคกำลังวุ่นอยู่กับการหาตัวผู้สมัคร สส.

อย่างไรก็ตาม การประชุมวันที่ 7 ธ.ค.อาจจะไม่ได้เห็นความชัดเจนอะไรมากนอกไปจากการกำหนดเวลาปลดล็อกการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่เริ่มเห็น เค้าลางกันบ้างแล้ว คือ หน้าตาของพรรคร่วมรัฐบาลในอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เข้ามาร่วมประชุมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 7 ธ.ค.นั้นมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่พอสมควร มิเช่นนั้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ออกอาการหัวเสียขนาดนั้น ถึงขนาดเปรียบเปรยเป็นพวกไม่เคารพกติกา

"เป็นนักมวยขึ้นเวทีแล้วกรรมการเรียกมาชี้แจง นักมวยสองข้างไม่ยอมมา ถ้าไม่มาก็เลิกชกไปเสีย ประชาชนก็อย่าไปดูและต้องคิดกันเอาเอง" อาการหัวเสียของนายกฯ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.

เหตุผลหนึ่งที่สองพรรคการเมืองใหญ่ไม่เข้าร่วมสังฆกรรมในวันนี้นั้นย่อมเป็นความต้องการที่จะย้อนเกล็ดรัฐบาลและ คสช. ภายหลังพรรคพลังประชารัฐประกาศจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นว่าที่นายกฯ ในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ

สองพรรคใหญ่ไม่ต้องการเข้าไปประทับตราความชอบธรรมให้กับพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากนายกฯ เป็นกำลังของผู้มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง โดยเป็นกำลังทั้งคนคุมกติกาและผู้เล่นในเวลาเดียวกัน

เรียกได้ว่าพรรคพลังประชารัฐถูกตีกินการเมืองก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น

ด้านหนึ่งแม้การที่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยปฏิเสธไม่เข้าร่วมประชุมกับนายกฯ จะไม่ได้ส่งผลให้การประชุมต้องล่มไปโดยปริยาย แต่ในอีกมุมก็มีสัญญาณให้เห็นว่าการฟอร์มรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐอาจมีปัญหาเสียแล้ว

อย่างที่ทราบกันดีว่าการเลือก นายกฯ คนต่อไปจะต้องใช้เสียงจากทั้งสส. 500 คน และ สว. 250 คน รวมกัน 750 คน โดยจะต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ 750 คน คือ 376 คน

จริงอยู่พรรคพลังประชารัฐ ถ้ามี สส.ในมือแค่ 126 คน และไปบวกกับ สว.ที่ คสช.เลือกมาให้อีก 250 คน รวมกันเป็น 376 คน เพียงพอต่อการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้

แต่จะมีผลให้พรรคพลังประชารัฐอาจมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงกึ่งหนึ่ง หรือเกินครึ่งหนึ่งมาแบบปริ่มๆ ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อการทำงานในสภาระยะยาวของรัฐบาล ทั้งการเสนอกฎหมาย งบประมาณ หรือแม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าหลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่มีอำนาจพิเศษอีกต่อไปแล้ว และต้องเจอกับฝ่ายค้านมืออาชีพ ไม่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คอยปรบมือให้กำลังใจกลางสภาเหมือนในปัจจุบัน

จึงมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยเสียงของพรรคการเมืองใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งมาร่วมทำงานด้วย ซึ่งแน่นอนว่าคงต้องโฟกัสไปที่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นเรื่องยากที่พรรคเพื่อไทยจะเข้ามาร่วมงานด้วย

ท่าทีของอดีตพรรคฝ่ายค้านที่ผ่านมา ไม่เชิงต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ เต็มตัวเสียทีเดียว เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ มาลงชิงตำแหน่งในรอบของนายกฯ คนนอกบัญชีพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่ร่วมด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ลงมาชิงเก้าอี้ นายกฯ ในรอบแรก ย่อมมีความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะพร้อมให้การสนับสนุน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เนื้อค่อนข้างหอม เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูสถิติการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด พรรคประชาธิปัตย์เป็นรองเพียงแค่พรรคเพื่อไทย หรือเรียกว่าเป็นอันดับสองตลอดกาล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดให้เห็นในด้านหนึ่งว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงแน่นพอสมควร

อย่าได้แปลกใจว่าทำไมเมื่อไม่นานมานี้ ถึงมีข่าวหลุดออกมาว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังถูกตามจีบจากพรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐเองก็รู้ดีว่าถ้าจะให้ตัวเองยืนอยู่เป็นรัฐบาลได้ ต้องมีเสียงมากกว่า 250 เสียง เพื่อทำงานในสภาให้ราบรื่น จึงต้องพยายามดึงเสียงของพรรคการเมืองใหญ่เข้ามาร่วม

แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธไม่อยากไปเจอหน้านายกฯ ในวันที่ 7 ธ.ค. ย่อมมีผลต่อการตั้งรัฐบาลในอนาคต เว้นเสียแต่พรรคพลังประชารัฐจะชนะแบบแลนด์สไลด์และไม่ต้องง้อพรรคใดให้มาร่วมรัฐบาล