posttoday

ทุกอย่างพร้อม "บิ๊กตู่" เปิดหน้าลุย

04 ธันวาคม 2561

การเปิดหน้าสู่การเมืองของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นับจากนี้ ย่อมต้องเผชิญกับแรงเสียดทานที่เพิ่มมากขึ้น

การเปิดหน้าสู่การเมืองของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นับจากนี้ ย่อมต้องเผชิญกับแรงเสียดทานที่เพิ่มมากขึ้น

************************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

สถานการณ์ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าพรรคพลังประชารัฐจะเสนอรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดตนายกอันดับ 1 ของพรรคแน่นอน ส่วนรายละเอียดจะไปหารือกันอีกครั้ง

นี่จึงถือเป็นการเปิดหน้าสู่ถนนการเมืองแบบเต็มตัว ด้วยจังหวะเวลาที่ถือว่าสุกงอม จนเริ่มเห็นทิศทางข้างหน้าว่าจะเดินต่อไปอย่างไรท่ามกลาง “โอกาส” ที่ค่อยๆ ดูเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

หากจำได้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่บ่ายเบี่ยงถึงอนาคตการเมือง ระบุเพียงแต่ต้องรอให้พรรคการเมืองประสานมาว่าจะขอให้อยู่ในบัญชีเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรคการเมือง เวลานี้ยังไม่มีการติดต่อมา ถ้ามีติดต่อมาจะพิจารณาอีกทีว่าเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่

ทางเลือกที่เหลืออยู่ในเวลานี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเหลืออยู่ไม่มาก และสุดท้ายคงเป็นไปอย่างที่คาดการณ์คือการต้องตัดสินใจรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรคพลังประชารัฐ

ด้วยจังหวะเวลาที่ใกล้จะปลดล็อกการเมืองเต็มที เบื้องต้นตามกำหนดการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ ได้นัดหารือกับพรรคการเมืองรอบสุดท้ายในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ เพื่อเตรียมตัวปลดล็อกเดินหน้าการเมืองสู่โหมดเลือกตั้งเต็มรูปแบบซึ่งจะเปิดให้มีการหาเสียงได้อย่างอิสระ

ยิ่งหากพิจารณาเส้นทางสู่ถนนการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเห็นว่าทุกอย่างได้ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระบบรองรับการก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ สมัยที่สอง

เริ่มตั้งแต่ความพร้อมของพรรคพลังประชารัฐที่มีความเข้มแข็งมากขึ้นหลังจากการเริ่มก่อตั้ง ด้วยการ “ไหลเข้า” จากบรรดาอดีต สส. พรรคการเมืองต่างๆ โดยได้กำลังสำคัญจาก “กลุ่มสามมิตร” มาเป็นกลไกขับเคลื่อนประสานงานจากอดีต สส.ภูมิภาคต่างๆ

ท่ามกลางแรงดูดที่หนักหน่วงต่อเนื่องจนถึงขั้นมีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม อันจะเป็นชนวนนำการเมืองไปสู่วังวนปัญหาและทำลายกระบวนการปฏิรูปที่สู้อุตส่าห์ทำมาตลอด 4-5 ปี

ล่าสุดในการลงพื้นที่ภาคอีสานของแกนนำ พปชร. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน ระบุว่า จากการลงสำรวจความเห็นของชาวบ้านในภาคอีสาน ส่วนใหญ่มีความชื่นชอบในนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องบัตรสวัสดิการและนโยบายอื่นๆ ที่รัฐประกาศออกมา มาถึงวันนี้พรรรคพลังประชารัฐ เชื่อมั่นว่าผู้สมัคร สส.​ของพรรค จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเกิน 50 คนอย่างแน่นอน

ในส่วนของคะแนนนิยมหากย้อนดูนโยบายช่วงหลังๆ ของรัฐบาล จะเห็นการเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเรียกคะแนนนิยมแบบลดแลกแจกแถมจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเดินตามรอยประชานิยมที่รัฐบาลเคยออกมาถล่มก่อนหน้านี้

สำหรับแพ็กเกจล่าสุดมีทั้งการเพิ่มเบี้ยยังชีพสูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ​ 3.5 ล้านคน ให้ได้รับเพิ่มเท่ากันทั้งหมดคนละ 1,000 บาท/เดือน จากปัจจุบันที่มีการจ่ายแบบขั้นบันไดอายุไล่มาตั้งแต่ 600-1,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

ต่อเนื่องด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา (มีผลตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561 ถึงเดือน ก.ย. 2562 ระยะเวลา 10 เดือน) ค่าไฟฟ้า ให้ใช้ไฟฟ้าในวงเงิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน ค่าน้ำประปา ให้ใช้น้ำประปาในวงเงิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน

มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี 500 บาท/คน มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย จำนวน 1,000 บาท/คน มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย 400 บาท/คน/เดือน

ต่อเนื่องด้วย​ของขวัญวันตรุษจีนด้วยโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งเสริมระบบการชำระเงิน หรืออี-เพย์เมนต์ จะทำเป็นมาตรการระยะสั้น 15 วัน โดยจะคืนแวตให้ 5% สำหรับการใช้จ่ายไม่เกิน 2 หมื่นบาท ได้ทุกสินค้ายกเว้นเหล้า เบียร์ บุหรี่ หรือสินค้าบาปทุกชนิด จะได้คืนภาษีสูงสุด 1,000 บาท

ไม่เว้นแม้แต่การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ออกมานั้นยังถูกถล่มถึง​เบื้องหน้าเบื้องหลังว่าเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษหรือไม่ จนกระทบไปถึงความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระที่ดูแลจัดการเลือกตั้ง

ปัญหาอยู่เพียงแค่การเปิดหน้าสู่การเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ นับจากนี้ ย่อมต้องเผชิญกับแรงเสียดทานที่มากขึ้นทั้งในแง่คำวิพากษ์วิจารณ์ การบริหารราชการที่ผ่านมา เงื่อนงำการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะหลังปลดล็อกการเมือง และช่วงหาเสียงนับจกนี้

ยังไม่รวมกับข้อกฎหมาย มาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เขียนไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด ซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์​ ซึ่งไม่ใช่สมาชิก ต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้แสดงความคิดความเห็นใดๆ ที่จะถูกเชื่อมโยงได้ว่าสามารถควบคุม ชี้นำ ครอบงำ พรรคการเมืองนั้นๆ ได้

รวมทั้งการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้า คสช.นับจากนี้ที่จะต้องระมัดระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอันจะเป็นเงื่อนปมให้ถูกร้องเรียนต่อไป หลังจากเปิดหน้าสู่ถนนการเมืองแบบเต็มตัว