posttoday

ยุคบูมธุรกิจ เอาต์ซอร์ส กับทางรอดเศรษฐกิจโลก

28 ตุลาคม 2553

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ภาคธุรกิจไม่อาจรอให้ทิศทางชัดเจน และจำเป็นต้องปรับตัวให้พ้นจากสภาพติดขัด

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ภาคธุรกิจไม่อาจรอให้ทิศทางชัดเจน และจำเป็นต้องปรับตัวให้พ้นจากสภาพติดขัด

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ยุคบูมธุรกิจ เอาต์ซอร์ส กับทางรอดเศรษฐกิจโลก

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ภาคธุรกิจไม่อาจรอให้ทิศทางชัดเจน และจำเป็นต้องปรับตัวให้พ้นจากสภาพติดขัด

การปรับตัวล่าสุดของธุรกิจในโลกตะวันตก ทำให้ธุรกิจเอาต์ซอร์สกำลังมาแรงอีกครั้งเพื่อลดต้นทุน และปรับทิศทางการดำเนินการใหม่

คาดการณ์กันว่าการใช้จ่ายของภาคธุรกิจในยุโรปถึงกว่าครึ่งหนึ่งของ 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐที่ใช้ในแต่ละปี สำหรับด้านการขายและการธุรการอาจผ่านกระบวนการเอาต์ซอร์ส

ในภาวะเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐที่กำลังบอบช้ำ การเอาต์ซอร์สเป็นหนทางเพียงไม่กี่ทางที่จะช่วยพยุงภาคธุรกิจเอาไว้ได้

จึงไม่น่าประหลาดใจที่พฤติกรรมในภาคธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยหลีกเลี่ยงการว่าจ้างการทำเอาต์ซอร์ส มาบัดนี้มีการว่าจ้างในวงกว้าง จนกระทั่งภาครัฐยังเข้ามาร่วมโหนกระแส

จะเห็นได้ว่ารายได้ของบริษัทเอาต์ซอร์สในยุโรปถีบตัวสูงขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย

Cap Gemini ผู้ให้บริการด้านไอทีรายใหญ่ที่สุดของยุโรป มีผลประกอบการช่วงไตรมาส 2สูงถึง 493 ล้านยูโร หรือปรับขึ้นมา 1.9%เฉพาะในฝรั่งเศส และ 6.6% ในเอเชีย

ส่วนบริษัท Steria มีรายได้ช่วงไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นมาถึง 8% ด้วยรายได้ที่ 402 ล้านเหรียญสหรัฐ

ความคึกคักของธุรกิจเอาต์ซอร์สเกิดขึ้นจากสภาวะบีบคั้นของเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องลดต้นทุนเพื่อรักษาตัวรอด

ในบางกรณีธุรกิจเอาต์ซอร์สช่วยลดต้นทุนได้ถึง 50-60%

ข้อเสียร้ายแรงของการเอาต์ซอร์ส คือ ทำให้ภาคธุรกิจลดการจ้างงาน ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ต้องการการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ

ต้นทุนที่ลดลงถึง 5060% จากการว่าจ้างธุรกิจนี้ ส่วนใหญ่หมายถึงต้นทุนการจ้างงานที่ลดลงนั่นเอง

แม้ว่าภาคธุรกิจจะขยายตัวอย่างคึกคัก แต่หากพื้นฐานเศรษฐกิจยังย่ำแย่ แนวโน้มระยะยาวอาจกลายเป็นผลร้ายต่อธุรกิจที่พึ่งพาการเอาต์ซอร์สมากขึ้น

ดังจะเห็นได้จากการที่ตำแหน่งงานในสหรัฐมากถึง 2.3 แสนล้านตำแหน่งต้องสูญเสียไปในแต่ละปี เนื่องจากการจ้างธุรกิจเอาต์ซอร์สภายนอกประเทศ

อีกทั้งยังเป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจเอาต์ซอร์สมีศูนย์กลางที่สำคัญอยู่ที่อินเดีย อันเป็นตลาดเกิดใหม่ที่เริ่มทรงอิทธิพลมากขึ้น แม้จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่แข็งแกร่งเท่ากับจีน แต่ภาคธุรกิจของอินเดียมีความแข็งแกร่งไม่ด้อยไปกว่าจีน หรืออาจกล่าวได้ว่าแข็งแกร่งกว่าด้วยซ้ำในด้านนวัตกรรม

ดังจะเห็นได้ว่า บริษัท Tata Consultancy ผู้นำธุรกิจเอาต์ซอร์สชั้นนำของอินเดียมีผลประกอบการช่วงไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นมาถึง 12% นับเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 4 ปี

ขณะที่บริษัทชั้นนำร่วมชาติอย่าง Infosys ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์รายได้ประจำปีนี้ขึ้นมาถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับตัวเลขประมาณการเมื่อเดือน ก.ค. ที่ 5,810 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้วยเหตุนี้ การพึ่งพาธุรกิจเอาต์ซอร์ส แม้จะช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจของโลกตะวันตก แต่กลับสั่นคลอนภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้น ตรงกันข้ามกลับช่วยส่งเสริมทั้งภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ให้คึกคักยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มใหม่เกิดขึ้นในธุรกิจประเภทในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

ขณะนี้อัตราเงินเดือนในจีนประสบกับภาวะเงินเฟ้อในอัตราสูงถึง 100% ส่วนอินเดียเผชิญกับแนวโน้มเดียวกัน ภาวการณ์เช่นนี้จะยังผลให้ต้นทุนของธุรกิจเอาต์ซอร์สสูงขึ้น และทำให้ผู้ว่าจ้างหันไปมองหาคู่แข่งที่ให้บริการด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งเสี่ยงที่จะบั่นทอนศักยภาพของอินเดียอย่างมาก

ทางออกในขณะนี้ของอินเดียและจีนคือการย้ายฐานการให้บริการไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น ที่ปากีสถาน บังกลาเทศ หรือเวียดนาม

เฉพาะในกรณีของปากีสถานเป็นประเทศที่เป็นที่จับตาอย่างมาก เพราะมีแรงงานสายไอทีที่มีดีกรีปริญญาถึง 2 แสนคนที่ยังหางานทำ และมีต้นทุนต่ำกว่าถึง 50%

อย่างไรก็ตาม ในธุรกิจเอาต์ซอร์สมิใช่จะมีเพียงผลลัพธ์ประเภท Zerosum หรือได้แต่ฝ่ายเดียว เพราะถึงที่สุดแล้วการจ้างธุรกิจประเภทนี้ในตลาดเกิดใหม่ ไม่เพียงช่วยพยุงภาคธุรกิจในประเทศตะวันตก แต่ยังช่วยหนุนเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคดังกล่าว อีกทั้งยังส่งผลสะท้อนกลับมายังประเทศผู้ว่าจ้าง

จากผลการสำรวจพบว่า ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากธุรกิจเอาต์ซอร์สในตลาดเกิดใหม่จะช่วยกระตุ้นความต้องการสินค้าและบริการในประเทศที่มีการว่าจ้างธุรกิจนี้ ซึ่งก็คือประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป

McKinsey Global Institute ประเมินว่า ทุกๆ เหรียญสหรัฐที่บริษัทสหรัฐใช้จ่ายเพื่อการจ้างธุรกิจเอาต์ซอร์สในอินเดีย อินเดียจะได้กำไร 33 เซนต์ ขณะที่ธุรกิจสหรัฐจะได้กำไร 1.14 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ 69% ของแรงงานที่สูญเสียงานจากการจ้างเอาต์ซอร์สจะสามารถหางานใหม่ได้ภายใน 1 ปี และจะมีรายได้ในสัดส่วน 96% ของรายได้จากงานเก่า

ไม่เพียงเท่านั้น การที่ธุรกิจเอาต์ซอร์สจะยั่งยืนอยู่ได้ต้องอาศัยนวัตกรรม และพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยยกระดับภาคธุรกิจในช่วงเวลาที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมืดแปดด้าน

ดังเช่นการจับมือเพื่อพัฒนาธุรกิจระหว่าง HCL Technologies และ Wipro จากอินเดีย กับธุรกิจเอาต์ซอร์สในยุโรป

และหากเป็นไปตามผลการศึกษาวิจัย และแนวโน้มการปรับตัวของภาคธุรกิจนี้ การกลับมาบูมอีกครั้งของธุรกิจเอาต์ซอร์สกลายเป็นอีกหนึ่งความหวังของการกอบกู้เศรษฐกิจโลกก็เป็นได้