posttoday

เร่งเครื่องแก้เศรษฐกิจ เก็บแต้มก่อนเลือกตั้ง

21 พฤศจิกายน 2561

ยิ่งใกล้การเลือกตั้ง แรงกดดันยิ่งมากขึ้น ที่เห็นชัดเจน คือการส่งสัญญาณเลื่อนการเลือกตั้ง หลังคสช.ใช้ม.44 คุ้มครองการทำงาน กกต. ในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ยิ่งใกล้การเลือกตั้งมากเท่าไร แรงกดดันยิ่งมากขึ้นทุกที

แรงกดดันที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการเลื่อนการเลือกตั้ง ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อคุ้มครองการทำงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง

การแบ่งเขตเลือกตั้งทีแรกดูเหมือนจะไม่มีปัญหา แต่ทำไปทำมากำลังจะกลายเป็นปัญหาใหม่และใหญ่กว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด เพราะการ ขีดเส้นแบ่งของ กกต.ที่ขยับแม้แต่องศาเดียวก็มีผลต่อการตัดสินแพ้ชนะกันได้ ทำให้การแบ่งเขตจึงยืดเยื้อมา ถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ควรจะต้องประกาศตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นกับ กกต.เล่นเอาพรรคการเมืองออกอาการหัวเสียเหมือนกัน เพราะกลัวกันว่าจะมีอภินิหารทางกฎหมายเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งแบบกำปั้นทุบดิน

แรงกดดันที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลและ คสช.นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ความชัดเจนเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินเข้ามาผสมโรงด้วย เรียกได้ว่า "พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก" แบบไม่เว้นวันหยุดราชการ

โพลหลายสำนักระบุตรงกันมาตลอดว่าแม้คะแนนความนิยมโดยรวมของรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยังดีอยู่ แต่ด้านหนึ่งก็ยังไม่พอใจกับนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากนัก

จากผลการสำรวจที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ คสช.คาดคิด

ปัญหาหลักและหนักที่สุดที่ คสช.และรัฐบาลยังแก้ไขไม่ตก คือ ราคาผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะปาล์มและยางพารา

ตลอด 4 ปีของการบริหารประเทศของ คสช.พบว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรทั้งสองชนิดยังไม่กระเตื้องเท่าใดนัก ออกไปในลักษณะทรงกับทรุดเท่านั้น

กลุ่มชาวสวนยางพยายามจะออกมาชุมนุมเพื่อสร้างแรงกดดันมายังรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหา แต่ก็ถูกรัฐบาลสกัดให้อยู่ภายในพื้นที่หลายครั้ง เพราะกลัวจะกระทบต่อความมั่นคง พร้อมกับอ้างเหตุผลถึงปัญหาราคาที่ตกต่ำว่าเป็นเพราะความต้องการยางพาราในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง

แต่มาวันนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลกำลังออกตัวเร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราเป็นพิเศษ ถึงขั้นมีการถ่ายรูปการประชุมและเผยแพร่ลงในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา

"บ่ายนี้ผมเรียกประชุมด่วนเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ปาล์ม : มีมาตรการเร่งด่วนใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ผสมดีเซลทำ B20 ยาง : มีโครงการพัฒนาอาชีพคนละไม่เกิน 10-15 ไร่ ลดปริมาณการผลิตยาง ชะลอการกรีด ส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ ขอเอกชนร่วมมือ ฯลฯ ยังไงพรุ่งนี้จะนำเสนอ ครม.ร่วมกันพิจารณาอีกทีครับ"เนื้อหาที่ปรากฏออกมาทางเฟซบุ๊กของ พล.อ.ประยุทธ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกตัวแรงครั้งนี้ด้านหนึ่งก็หวังผลในทางการเมืองเช่นกัน

อย่างที่ทราบกันดีว่าคะแนนที่จะชี้ขาดผลแพ้ชนะเลือกตั้งจะมาจากกลุ่มประชาชนฐานรากอย่างภาคเกษตรกร นอกเหนือไปจากกลุ่มชนชั้นกลาง

พรรคเพื่อไทยที่สามารถครองความเป็นใหญ่ในการเลือกตั้งมาได้หลายสมัยก็มาจากความสามารถในการผลิตนโยบายเพื่อซื้อใจเกษตรกร ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นๆ อาจจะไม่ได้ สส.เป็นกอบเป็นกำ แต่เพียงพอต่อการเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลได้

คราวนี้ก็เช่นกัน พรรคพลังประชารัฐ ที่ต่างรู้กันอยู่ว่าเตรียมนำนโยบายของรัฐบาลไปหาเสียงเลือกตั้ง ก็หวังเดินตามโมเดลของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน เพราะบรรดาอดีต สส.ที่เข้ามาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐนั้นก็ต่างรู้ทางพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างดี

เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐคงไม่สามารถใช้แต่องคาพยพของพรรคได้แต่เพียงพรรคเดียว เพราะยังต้องหวังพึ่งพันธมิตรนอกพรรคการเมืองเพื่อสยบพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติด้วย

อย่างการเข้ามาแก้ไขปัญหาราคายางแบบจริงจังช่วงนี้ ย่อมเชื่อมโยงไปถึงการสร้างคะแนนความนิยมในพื้นที่ภาคใต้เช่นกัน ซึ่งถ้าพรรคพลังประชารัฐลงไปสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ด้ามขวานโดยตรง ย่อมต้องเสียเปรียบเจ้าของพื้นที่เดิมอยู่ไม่น้อย

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องส่งเสบียงให้กับ "พรรครวมพลังประชาชาติไทย" หนึ่งในพรรคพันธมิตรของพรรคพลังประชารัฐ เข้าไปสู้ในสนามนั้นแทน

แม้ในระยะเฉพาะหน้านี้อาจจะ ไม่ได้ สส.เป็นกอบเป็นกำ แต่ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบใหม่และการสนับสนุนของพรรคพลังประชารัฐอย่างน้อยที่สุดก็น่าจะลดการผูกขาด สส.ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ได้บ้างในระดับหนึ่ง

ดังนั้น นับจากนี้ไปมีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นรัฐบาลลงมาโชว์ศักยภาพการทำงานมากขึ้น พร้อมกับการโหมประชาสัมพันธ์ผลงานครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อที่พรรคพลังประชารัฐจะได้อาศัยผลงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนพรรคระหว่างลงสนามเลือกตั้ง

เมื่อการเดิมพันครั้งนี้สูงกว่าทุกครั้ง จึงไม่แปลกที่รัฐบาลเองก็ต้องทุ่มสุดตัวเช่นกัน