posttoday

เลื่อนเลือกตั้ง สะท้าน 'พลังประชารัฐ'

20 พฤศจิกายน 2561

การเมืองไทยชักมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น หลัง คสช. ออกคำสั่งที่ 16/2561 มีนัยถึงการเลื่อน การเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทยชักมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอีกแล้ว ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 16/2561 ซึ่งมีนัยถึงการเลื่อน การเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีปัญหาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง จน คสช.ต้องใช้อำนาจพิเศษเพื่อเข้ามาแก้ปัญหา

"ในการนี้หากเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือมติใดๆ ของ กกต.ที่ออกไว้ ก็ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามมติ กกต.

การพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปโดยเรียบร้อยและเกิดความเป็นธรรมแก่พรรคการเมือง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย" สาระสำคัญของหัวหน้า คสช.

สาเหตุที่ต้องบอกว่าคำสั่ง คสช.ครั้งนี้มีความหมายทางการเมือง เพราะเดิมที กกต.มีความตั้งใจว่าจะประกาศเขตเลือกตั้งออกมาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าเกิดปัญหาเกี่ยวกับกำลังภายในบางประการ จึงทำให้ กกต.ไม่สามารถดำเนินการ ได้ทัน จึงเป็นที่มาทำให้ คสช.ต้องใช้มาตรา 44

แต่เหนืออื่นใดนั้นคำสั่งที่ออกมานี้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไม่น้อยว่า คสช.กำลังคิดจะเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่

การเลื่อนเลือกตั้งในความหมายนี้มีด้วยกัน 2 แนวทาง

1.การเลื่อนเลือกตั้งที่อยู่ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มีผลบังคับใช้วันที่ 11 ธ.ค. หากนับไปจนถึงวันที่ 150 ที่จะสามารถเลือกตั้งนั้นก็จะอยู่ในช่วงเดือน พ.ค. 2562

ดังนั้น ถ้าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 ก.พ. 2562 ก็อาจเป็น กรอบเวลาที่น่าจะยอมรับกันได้ เนื่องจากยังเป็นไปตามกระบวนการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

2.การเลื่อนเลือกตั้งที่ไม่อยู่ภายในกรอบรัฐธรรมนูญ หมายความว่าเป็นการเลื่อนเลือกตั้งออกไปมากกว่า 150 วัน นับจากวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มีผลบังคับใช้ เท่ากับว่าการเลือกตั้ง จะถูกเลื่อนออกไปนานกว่าเดือน พ.ค. 2562 อันเป็นกรอบเวลาสุดท้ายที่รัฐธรรมนูญกำหนด

วิธีการเลื่อนเลือกตั้งตามแนวทางที่ 2 ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นอะไรนัก เพียงแค่ คสช.ใช้มาตรา 44 หรือเสนอร่างกฎหมายแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง สส.เพื่อยืดเวลาการมีผลบังคับใช้ ให้นานออกไป ส่วนจะขยายเวลานานเท่าใดก็สุดแล้วแต่ความปรารถนา ของ คสช.

ถ้ามองปัจจัยสำคัญชวนให้เกิดการวิเคราะห์จากหลายฝ่ายว่าการเลื่อนการเลือกตั้งน่าจะมีความเป็นไปได้ คือ ความไม่พร้อมของพรรคการเมือง

ดังจะเห็นได้จากพรรคการเมืองขนาดเล็กเริ่มก่อหวอดให้เห็นออกมาแล้วว่าตัวเองไม่พร้อมกับการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยอาศัยเรื่องการหาสมาชิกพรรคการเมืองไม่ทันกับการให้คุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคครบ 90 วันมาเป็นข้ออ้าง

ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียงกันเช่นนี้ย่อมไม่เป็นเรื่องบังเอิญ โดยย่อมมีมือที่มองไม่เห็นอยู่เบื้องหลัง

เพราะฉะนั้น การประชุมร่วมกันของ กกต.และพรรคการเมืองในวันที่ 22 พ.ย. พรรคการเมืองขนาดเล็กจะใช้เวทีนี้เพื่อกดดันให้ กกต.พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนการเลือกตั้ง

มองในมุมของ คสช. ปฏิเสธไม่ได้ว่าลึกๆ แล้วก็พยายามมองความเป็นไปได้ในการเลื่อนการเลือกตั้ง

ในมุมหนึ่ง คสช.ยังวิตกเหมือนกันว่าถ้าปล่อยการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นใน วันที่ 24 ก.พ. 2562 พรรคเพื่อไทย และพรรคไทยรักษาชาติ จะได้รับเสียงข้างมากในการเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล

กลยุทธ์ "แตกพรรค" ของพรรคเพื่อไทยที่ใช้แก้เกมระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เป็นหมากการเมืองที่ คสช.เองก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน เพราะแม้พรรคเพื่อไทยจะได้ สส.เขตและไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น แต่จำนวน สส.บัญชีรายชื่อที่พรรคเพื่อไทยจะเสียไปนั้น ก็จะไปตกอยู่กับพรรคไทยรักษาชาติแทน

แม้ด้านหนึ่งการแตกพรรคที่เกิดขึ้นจะมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงรอยกันในพรรค แต่ต้อง ไม่ลืมว่าถึงอย่างไรเสียทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติก็ยังเป็นพันธมิตรกันอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้เอง คสช.จึงอาจเริ่มหวั่นว่าภายในเวลาที่มีอยู่จำกัดบนสมมติฐานที่ว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น วันที่ 24 ก.พ. 2562 ชัยชนะจะตก เป็นของพรรคเพื่อไทยและพรรค ไทยรักษาชาติ

อย่างไรก็ตาม ครั้นจะเลื่อนการเลือกตั้งด้วยวิธีการใช้อำนาจแบบ กำปั้นทุบดิน ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่ต้องการ เพราะการเมืองชั่วโมงนี้มีความซับซ้อนหลายชั้นอย่างมาก

หากอยู่ดีๆ คสช.เลื่อนการเลือกตั้งขึ้นมา ผลกระทบแรงที่สุดจะไปตกอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ เพราะพรรคพลังประชารัฐถูก จับจ้องมองด้วยสายตาในทำนองว่าเป็นเงาของ คสช.อยู่แล้วทุกวันนี้

การมีคำสั่ง 13/2561 จึงเป็นเพียงการโยนหินว่าจะมีกระแสในทางลบ หรือไม่ ถ้าแรงต้านมีไม่มาก การเลื่อนการเลือกตั้งภายในกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญที่ไม่เกินเดือน พ.ค. 2562  คสช.ก็อาจกลับมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้เช่นกัน