posttoday

ยื้อแบ่งเขตเลือกตั้ง ปมร้อนฉุด คสช.

19 พฤศจิกายน 2561

สัญญาณหลายอย่างที่ปรากฏในเวลานี้กำลังสร้างความกังวลว่าการเลือกตั้งตามโรดแมปอาจมีเหตุต้องขยับออกไป

สัญญาณหลายอย่างที่ปรากฏในเวลานี้กำลังสร้างความกังวลว่าการเลือกตั้งตามโรดแมปอาจมีเหตุต้องขยับออกไป

********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัญญาณหลายอย่างที่ปรากฏในเวลานี้กำลังสร้างความกังวลขึ้นในสังคมว่าการเลือกตั้งตามโรดแมปวันที่ 24 ก.พ. 2562 อาจมีเหตุให้ต้องขยับออกไป ทั้งที่หลายฝ่ายออกมาขานรับและตั้งตารอการเลือกตั้งอย่างใจจดใจจ่อ

เริ่มตั้งแต่พรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือเรียกได้ว่าน้องใหม่ ออกมารวมตัวเตรียมยื่นเรื่องเรียกร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ให้พิจารณาขยับวันเลือกตั้งจากเดิมออกไปเป็นวันที่ 5 พ.ค. 2562

“การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นจะต้องมีความรัดกุม ถ้าไม่มีทิศทางที่ชัดเจนกับอนาคตกับบ้านเมือง หากรีบให้มีการเลือกตั้งโดยที่ทุกฝ่ายยังไม่มีความพร้อม อาจทำให้เกิดปัญหาได้” สาธุ อนุโมทามิ หัวหน้าพรรคพลังไทยดี ระบุ

ก่อนหน้านี้หากส่องภาพรวมของสถานการณ์อันเป็นปัจจัยให้การเลือกตั้งจำต้องเลื่อนออกไปนั้น ถือว่าค่อนข้างรางเลือนลงอย่างเห็นได้เด่นชัดจากหลายประการ

เริ่มด้วยสัญญาณแรกว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน จากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ณ กระทรวงกลาโหม ซึ่งยืนยันหนักแน่น “ทุกอย่างยืนยันเป็นไปตามโรดแมป ทาง กกต.ได้ออกมายืนยันแล้วว่าวันที่ 24 ก.พ. 2562 เป็นวันเลือกตั้ง”

สอดรับกับสัญญาณจากผู้รับผิดชอบในการเลือกตั้ง อย่าง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ที่ระบุว่า กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2562 จนถึงวันที่ 9 พ.ค. 2562 ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาที่กฎหมายการเลือกตั้ง สส.มีผลบังคับใช้

แม้แต่ก่อนหน้านี้ หลัง กกต.กำหนดกรอบเวลาเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562 แต่อาจกระทบกับนักเรียนกว่า 4.5 แสนคน ซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ที่กำลังวางแผนจะสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) หรือ GAT/PAT

โดยตรงกับระหว่างวันที่ 23-26 ก.พ. 2562 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเตรียมพิจารณาเลื่อนการสอบดังกล่าวให้เร็วขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง เป็นวันที่ 16-17 ก.พ. 2562 เพื่อให้เยาวชนมีสิทธิเลือกตั้งทุกคนได้สอบก่อน เนื่องจากหากเลื่อนการสอบไปหลังวันเลือกตั้ง อาจจะกระทบกับระบบกลางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS)

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เองได้เริ่มต้นออกตัวหลัง กกต. ประกาศรับรองสถานะความเป็นพรรคการเมือง เป็นที่เรียบร้อยก็เปิดให้ผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคคลมีชื่อเสียงอย่างคับคั่ง รวมถึงเดินสายพบปะเยาวชนตามสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ

แต่สัญญาณล่าสุด หัวหน้า คสช.มีคำสั่งที่ 16/2561 ให้อำนาจ กกต.เปลี่ยนแปลงพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้ง-ขยายเวลาประกาศเขตเลือกตั้งได้จนกฎหมายเลือกตั้ง สส.มีผลบังคับใช้ให้พรรคการเมืองสรรหาผู้สมัครได้จนถึงวันรับสมัคร

ด้วยเหตุผลที่ว่ามีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ ร้องเรียนจำนวนมากว่า การร่วมแสดงความคิดเห็นไม่หลากหลายครบถ้วนและการพิจารณาเสนอแนะจากระดับพื้นที่ขึ้นไปยัง กกต.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ รวมทั้งการทำงานของ กกต.ก็เร่งรัด

ดังนั้นเพื่อให้การแบ่งเขตเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงสมควรผ่อนผัน และขยายเวลาให้ กกต.ดำเนินการต่อไป ตามหน้าที่และให้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการเมือง ตลอดจนป้องกันการกระทำอันอาจเป็นการกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ หรือราชการแผ่นดิน

ชนวนดังกล่าวทำให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงจากทั้งคนในสังคมและบรรดานักการเมือง จนเริ่มออกมาดักคอถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังคำสั่งดังกล่าวว่าเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรคหนึ่งหรือไม่ หรือมีเจตนาจะหาเหตุผลเปิดทางเปิดทางยื้อการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิม

ทั้งที่ทุกอย่างได้ตระเตรียมความพร้อมรองรับไว้ทุกด้านหมดแล้ว การออกคำสั่ง คสช. เช่นนี้จึงไม่เป็นผลดีกับทั้ง คสช. และกับประเทศในระยะยาว

เมื่อก่อนหน้านี้ฝั่ง กกต.เองได้ออกมายืนยันถึงความพร้อมในการตระเตรียมการเลือกตั้ง จึงไม่น่าจะเป็นเหตุถึงขั้นต้องออกคำสั่ง คสช.มายื้อเวลาการเลือกตั้งออกไป

ยิ่งเวลานี้หลายพรรคการเมืองออกมาตั้งข้อสังเกตว่าการแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ อาจเป็นการชิงจังหวะสร้างความได้เปรียบให้กับบางพรรคหรือไม่นั้น ย่อมย้อนกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. และพรรคพลังประชารัฐที่กำลังจะเปิดตัวในเวลานี้ โดยมีรัฐมนตรีเข้าไปร่วมเป็นแกนนำ

ที่สำคัญการกระทำครั้งนี้ยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของ กกต. พอสมควรและหากไม่เร่งชี้แจงย่อมกระทบไปถึงความเชื่อมั่นต่อการจัดการเลือกตั้ง และการยอมรับผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

สุดท้ายแรงกดดันทั้งหมดย่อมย้อนกลับมายัง คสช.ในฐานะผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและยังทำให้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือลดลงไปเรื่อยๆ ในวันที่เตรียมตัวก้าวสู่ถนนการเมืองแบบเต็มตัว