posttoday

คลายล็อกไม่สุด พ่นพิษใส่พรรค

04 ตุลาคม 2561

การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที แม้จะยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนสงครามวิวาทะเริ่มดุเดือดตั้งแต่เสียงระฆังยังไม่ทันจะดังขึ้นด้วยซ้ำ

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที แม้จะยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนสงครามวิวาทะเริ่มดุเดือดตั้งแต่เสียงระฆังยังไม่ทันจะดังขึ้นด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณี กดดันให้รัฐมนตรีจำนวน 4 คนที่ประกาศตัวไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐลาออกจากตำแหน่ง  เพราะเกรงว่าจะใช้อำนาจแบบ มีส่วนได้ส่วนเสียในการเลือกตั้ง  เรียกได้ว่าพรรคการเมืองในฐานะ นักเลือกตั้งรุ่นพี่ ประเดิมรับน้องใหม่อย่างเป็นกันเองพอสมควร

เมื่อสงครามน้ำลายอุบัติขึ้นและกระทบชิ่งมาถึง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งพยายามเล่นบทพระเอกขี่ม้าขาว มาตลอด อดทนไม่ไหวถึงกับต้องลงมาตะลุมบอนเพื่อปกป้องรัฐมนตรีทั้ง  4 คนด้วย

"คงไม่ได้ไปเอื้อประโยชน์อะไร กับใครทั้งสิ้น รัฐบาลนี้ไม่ได้มุ่งหวัง ให้เกิดการเอื้อประโยชน์อยู่แล้ว  เราจะดูแลพี่น้องประชาชนต่อไป  สานต่องาน รักษาความสงบเรียบร้อย อะไรผิดกฎหมาย ก็ถือว่าผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

แน่นอนว่า นับจากนี้ไปสงครามน้ำลายระหว่างพรรคการเมืองใหม่ กับพรรคการเมืองเก่าคงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้

กลับมาดูความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองเก่ากันบ้าง พบว่าได้ทยอยประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคกันถ้วนหน้าเพื่อเตรียมนัดประชุมใหญ่สามัญต่อไป

ทั้งนี้ จากความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง สามารถจับสัญญาณ ได้ว่าบรรดาพรรคการเมืองขนาดกลางที่เคยมี สส.ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ไม่ถึง 100 คน เริ่มออกอาการไม่ดีกันให้เห็นบ้างแล้ว ภายหลังยอมรับว่า อาจจะส่งผู้สมัคร สส.ไม่ครบทุกเขตเลือกตั้ง 350 เขต ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา

"เราคงไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ทุกเขต บางเขตใหญ่มาก ไม่อยาก ส่งไปแค่ให้รักษาพื้นที่ ขอเอาชัวร์ ดีกว่า ทำประโยชน์ให้ชาวบ้านดีกว่า"  อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภูมิใจไทย ระบุ

เช่นเดียวกับ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา  ซึ่งยอมรับว่า "ตั้งใจว่าจะส่งผู้สมัคร สส.ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สำหรับเขตเลือกตั้งใน จ.นครราชสีมา พรรคยืนยันว่าจะส่งผู้สมัครลงทุกเขตทั้ง 14 เขตแน่นอน"

ไม่ต่างอะไรกับพรรคชาติไทยพัฒนา โดย นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค สารภาพว่า "วันนี้ตอบไม่ได้ว่าจะส่งผู้สมัครครบ 350 เขตหรือไม่ แต่จะส่งผู้สมัครโดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ"

ต้นตอของสัญญาณที่พรรคการเมืองต่างเริ่มออกอาการ ดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ที่ได้ทำการคลายล็อกให้กับพรรคการเมือง  แต่ไม่ได้คลายล็อกให้สุด

กล่าวคือในมุมมองของพรรคการเมือง เห็นว่าคำสั่ง คสช. ที่ 13/2561 ช่วยคลายล็อกการเมืองเฉพาะกรณีของการสรรหาผู้สมัคร สส.ที่ไม่ต้องทำไพรมารีโหวตเท่านั้น  ไม่ได้ช่วยให้คลายล็อกในขั้นตอนของการส่งผู้สมัคร สส. เท่ากับว่าการส่ง ผู้สมัคร สส.ต้องกลับไปใช้กติกาตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ ซึ่งมีขั้นตอนพอสมควร

มาตรา 145 ของกฎหมายพรรคการเมืองวางหลักให้การส่งต่อ ผู้สมัคร สส. พรรคการเมืองต้องมีตัวแทนประจำจังหวัดที่จะส่งผู้สมัคร ไม่น้อยกว่า 101 คน ซึ่งใน 101 คน จะต้องมีตัวแทนของทุกเขตในจังหวัดนั้นด้วย ดังนั้นถ้าจะส่งผู้สมัคร สส.ทั้ง 350 เขต ต้องมีตัวแทนประจำจังหวัด แต่ปรากฏว่า กกต.ยังไม่แบ่งเขตเลือกตั้ง จึงยังไม่สามารถดำเนินการตั้งตัวแทนประจำจังหวัดได้ ส่งผลให้กลายเป็นปัญหางูกินหางเข้าไปอีก

เท่ากับว่า หากเขตเลือกตั้งใดไม่มีตัวแทนพรรคการเมือง พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัคร สส.ลงในเขตเลือกตั้งนั้นไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บรรดาพรรคการเมืองขนาดกลางออกมาส่งสัญญาณว่าอาจส่งผู้สมัคร สส.ไม่ครบทุกเขตเลือกตั้ง

การส่งผู้สมัคร สส.ได้ไม่ครบ ทุกเขตเลือกตั้ง หรือส่งได้ไม่มาก เท่าที่ควร จะมีผลในแง่ลบต่อพรรคการเมืองพอสมควร เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เป็นการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพียงใบเดียว  เพื่อคำนวณหาทั้ง สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ

หากพรรคการเมืองใดส่ง ผู้สมัครน้อย ย่อมหมายความว่า คะแนนดิบที่จะนำมาคำนวณ เพื่อมาหาจำนวน สส.บัญชีรายชื่อ ก็จะลดน้อยลงไปด้วย

ด้วยระบบการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พรรคการเมืองย่อมต่างต้องการ สส.ให้ครบทุกเขต ถึงจะไม่ได้หวังชนะในทุกพื้นที่ที่ส่งผู้สมัคร สส. แต่อย่างน้อยจะได้นำคะแนนของผู้แพ้มาสะสมเป็นฐานเพื่อให้ได้มาซึ่ง สส.บัญชีรายชื่อ แต่เมื่อการคลายล็อกทำแบบครึ่งๆ กลางๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นการวางสนุกของ คสช.หรือไม่ ทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางออกอาการปวดหัวอยู่ไม่น้อย

การเลือกครั้งนี้สำหรับพรรคการเมืองแล้ว เรื่องเงินอาจจะไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เมื่อเทียบกับปัญหาในข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับพรรคการเมือง

เพียงแค่เริ่มต้นก็ดูเหมือนว่าจะเกิดสภาพชวนปวดหัว ดังนั้นเมื่อถึงเวลาลงสนามจริง รับรองได้ว่ากติกาที่ คสช.วางไว้ น่าจะออกฤทธิ์มากกว่านี้อย่างแน่นอน