posttoday

ไพรมารี ชิงหัวหน้าปชป. มาร์คเหนื่อย

03 ตุลาคม 2561

ศึก 3 เส้า ภายในพรรคประชาธิปัตย์เตรียมเปิดฉากอย่างเป็นทางการ

ศึก 3 เส้า ภายในพรรคประชาธิปัตย์เตรียมเปิดฉากอย่างเป็นทางการ

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยซึ่งจะเปิดให้มีการหยั่งเสียงจากสมาชิกทั่วประเทศเพื่อคัดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

เบื้องต้นมีบุคคลที่เปิดตัวแสดงความประสงค์เป็นที่เรียบร้อย ทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แชมป์เก่า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก และ อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค

แม้ในทางปฏิบัติ สุดท้ายน่าจะเป็นการชิงดำกันระหว่าง ​ฝั่ง อภิสิทธิ์ และ หมอวรงค์  ว่าใครจะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนต่อไป

โดยตามขั้นตอนทั้งหมดจะต้องลงสมัครอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ต.ค. จากนั้นในวันที่ 9 ต.ค. ผู้ลงสมัครต้องส่งตัวแทนร่วมเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของพรรค ซึ่งกำหนดให้มีทั้งหมด 5 คน

รูปแบบการลงคะแนนหยั่งเสียงจะใช้วิธีลงคะแนนผ่านทางแอพพลิเคชั่น ซึ่งจะเปิดตั้งแต่วันที่ 1-5 พ.ย.นี้ ​นอกจากนี้จะเปิดหน่วยเลือกตั้งจังหวัดละอย่างน้อย 1 เขต เพื่อให้สมาชิกที่อาจไม่สะดวกเลือกผ่านแอพพลิเคชั่น สามารถร่วมหยั่งเสียงได้ในวันที่ 5 พ.ย.

กระบวนการทั้งหมดจะยุติลงในวันที่ 11 พ.ย.ซึ่งพรรคจะจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ภายนอก “อภิสิทธิ์” ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคมาต่อเนื่อง 13 ปี และมีฐานสนับสนุนทั้งอดีต สส. และสมาชิกพรรคที่ชัดเจน น่าจะเป็นต่อในการเลือกตั้งภายในรอบนี้

แต่ในทางปฏิบัติ การเลือกตั้งหัวหน้าพรรครอบนี้อาจไม่ง่ายเหมือนรอบที่ผ่านๆ มาของ “อภิสิทธิ์”เริ่มตั้งแต่กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งแม้จะต้องจบด้วยขั้นตอนการเลือกของที่ประชุมใหญ่ แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เปิดให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการออกเสียงเบื้องต้นหรือไพรมารีโหวต ซึ่งที่ประชุมใหญ่จะต้องนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

แม้ข้อเสนอที่เคยระบุว่า ผู้สมัครคนใดแพ้โหวต ต้องสละสิทธิในที่ประชุมใหญ่วันที่ 11 พ.ย.นั้นจะยังไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติเพราะไม่ได้กำหนดอยู่ในระเบียบ ต้องสุดแล้วแต่ผู้สมัครแต่ละคน

​แต่ในทางปฏิบัติแล้ว แคนดิเดตที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจากไพรมารีโหวต ก็เกือบจะถือได้ว่าเป็นหัวหน้าพรรคเรียบร้อย เพราะสมาชิกส่วนใหญ่เทคะแนนให้ ​ส่วนที่ประชุมใหญ่จะโหวตให้เป็นอื่นคงลำบาก

แน่นอนว่าคะแนนนิยมของ “อภิสิทธิ์” จากบรรดาสมาชิกพรรคนั้นมีจำนวนอยู่ไม่น้อย ยิ่งด้วยสถานะการศึกษา ประสบการณ์การเมือง ที่ถึงขั้นผ่านตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ก็ทำให้ยากจะมีคู่แข่งที่พอสมน้ำสมเนื้อมาท้าชิงได้ง่าย

แต่ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่ามีเสียงสะท้อนจากสมาชิกพรรคจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะภายหลังความพ่ายแพ้ต่อเนื่องในสนามเลือกตั้ง ​และ “อภิสิทธิ์” เองบอบช้ำจากมรสุมการเมืองมาไม่ใช่น้อย

ยิ่งหากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ระบบวันแมนวันโหวต ซึ่งสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียง คือ ทั้งในส่วน 8 หมื่นคนที่มายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคแล้ว และอีก 2.5 ล้านคนที่เคยเป็นสมาชิกและประสงค์จะลงคะแนนก็สามารถมาลงทะเบียนล่วงหน้าได้นั้น ย่อมทำให้ผู้สมัครที่มีฐานสนับสนุนชัดเจนได้ย่อมได้เปรียบ

หากจำได้ก่อนหน้านี้เคยมีการออกมาตั้งข้อสังเกตถึงยอดสมาชิก 8 หมื่นคน ซึ่งมายืนยันความเป็นสมาชิก ซึ่งพบว่าจำนวนไม่น้อยมาจากการยืนยันความเป็นสมาชิกในพื้นที่ของอดีต สส.ฝั่งแกนนำ กปปส. จนว่ากันว่าทำให้การหยั่งเสียงต้องปรับให้อดีตสมาชิก 2.5 ล้านคนมีสิทธิลงคะแนนด้วย

ในแง่ความเข้มข้นของกระบวนการหาเสียง จะเห็นว่าฝั่งหมอวรงค์ซึ่งหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทางทีมงานเริ่มต้นออกตัวเดินสายลงพื้นที่พบปะอดีต สส.และสมาชิก​

“เนื่องจากเราเป็นมวยรองจึงต้องขยัน ผมจำได้ว่า ท่านชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เคยสอนว่า พวกเราเป็นมวยรอง เป็นผู้สมัครใหม่ ต้องขยันกว่าแชมป์อย่างน้อย 3 เท่า ดังนั้น ผมต้องขยันไม่น้อยกว่า 3-5 เท่า ถึงจะสู้แชมป์ได้”​ หมอวรงค์ กล่าว

ความเป็นมวยรอง ทำให้หลังการลงพื้นที่ภาคกลาง พิษณุโลก และสุโขทัย กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ ไม่ปล่อยเวลาให้เสียเปล่า ลงพื้นที่ต่อไปยัง สงขลา และนครศรีธรรมราช ต่อจากนั้นทางทีมงานวางแผนเตรียมที่จะเดินทางไปพื้นที่อีสานในลำดับถัดไป 

เมื่อไล่เรียงพิจารณารายละเอียดการลงพื้นที่ จะพบว่า​ทั้งหมดเป็นการเจาะจงลงไปยังพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของฝั่งแกนนำ กปปส. ซึ่งน่าจะแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนที่เทมาให้กับทางกลุ่มหมอวรงค์ได้ไม่มากก็น้อย

ยิ่งทางกลุ่มหมอวรงค์ชูจุดขาย ด้วยสโลแกน “กล้าเปลี่ยนเพื่อประชาชน” อันจะมุ่งเข้ามาแก้ไขภาพลักษณ์ ปรับจุดอ่อนในอดีต ยิ่งจะปลุกให้แนวร่วมเข้ามาสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ทางฝั่ง อภิสิทธิ์ เองเวลานี้ยังไม่ได้มีทีมทำงานที่เป็นมือจัดตั้ง คอยทำพื้นที่อย่างเป็นระบบ ขณะที่ทีมงาน กลุ่ม 35/1 เป็นการจับกลุ่มกันแบบหลวมๆ ไร้การเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น หากปล่อยไว้เช่นนี้เรื่อยๆ ย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบที่จะไปเร่งทำคะแนนในช่วงท้าย ​

ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคสำหรับ อภิสิทธิ์ ในครั้งนี้จึงไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านๆ มา