posttoday

"ประยุทธ์" ลงการเมือง แรงเสียดทานจ่อรุมเร้า

25 กันยายน 2561

แรงกดดันกำลังจะตามมา หลัง "พล.อ.ประยุทธ์" ประกาศลงการเมือง แต่ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ หรือหัวหน้า คสช.

แรงกดดันกำลังจะตามมา หลัง "พล.อ.ประยุทธ์" ประกาศลงการเมือง แต่ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ หรือหัวหน้า คสช.

**************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

เปิดหน้าเตรียมก้าวสู่ถนนการเมืองเต็มตัว สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาประกาศชัดเจนว่า “ผมสนใจงานการเมือง แต่จะตัดสินใจอย่างไร จะสนับสนุนใคร ขออีกระยะหนึ่ง จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง”

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างไร เพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านมาจะเห็นการขยับของทั้ง คสช.​และกลไกต่างๆ ที่ชวนให้เชื่อได้ว่านั่นจะเป็นการปูทางรอ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งในสถานะและบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป

ยิ่งช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่สุกงอมจนยากบิดพลิ้ว ในฐานะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อาจสงวนท่าทีเหมือนที่ผ่านมาได้อีกต่อไป ​จำเป็นต้องเปิดตัวสู่สนามการเมืองเพื่อทำให้กลไกต่างๆ ที่เตรียมพร้อมไว้รออยู่แล้วสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.​และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย อันจะเป็นเงื่อนไขสำคัญให้การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วัน รวมกับช่วงทดเวลา 90 วัน ซึ่งเป็นผลพวงจากการแก้ไขระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง สส.

กระบวนการทุกอย่างจึงต้องเดินหน้าคู่ขนานไปทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการคลายล็อกให้พรรคการเมือง ออกมาขยับเตรียมประชุม และดำเนินกิจกรรมที่จะทำให้แต่ละพรรคมีความพร้อมก้าวสู่สนามเลือกตั้ง รวมไปถึงการหาเสียงในระยะถัดไป

หลายพรรคการเมืองเริ่มต้นกระบวนการคัดสรรหัวหน้าพรรค ทีมงาน และผู้สมัคร ที่พอจะเห็นเค้าลางว่าคู่แข่งในสนามเลือกตั้งเป็นใครและพอจะมีกลยุทธ์การแข่งขัน ตลอดจนประเมินคะแนนเสียงในแต่ละพื้นที่

เหลือก็แต่เพียงพรรคพลังประชารัฐที่ยังดูคลุมเครือกว่าทุกพรรค แม้จะชัดเจนว่าเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน คสช. ​แต่ก็ยังไม่มีการประกาศความชัดเจนว่าบุคคลที่จะก้าวมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ตลอดจนตำแหน่งอื่นๆ เป็นใคร

​การเปิดหน้าเตรียมก้าวสู่สนามการเมือง ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงถูกมองว่าเชื่อมโยงกับการประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ในวันที่ 29 ก.ย.นี้

สอดรับกับที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ทั้ง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.​พาณิชย์ และ อุตตม สาวนายน รมว. อุตสาหกรรม จะเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าและเลขาธิการพรรค

ที่สำคัญการสร้างความชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะสนับสนุนพรรคไหนอย่างไร ย่อมเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งและเรียกแนวร่วมให้กับพรรคนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น กว่าปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความอึมครึม

รวมไปถึง “กลุ่มสามมิตร” ซึ่งเดินหน้าต่อสายถึงอดีต สส.กลุ่มต่างๆ มาพักใหญ่ แต่หลายคนยังติดใจ ขอรอดูความชัดเจน จนยังไม่อาจรีบตัดสินใจ การแสดงความชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมอาจทำให้การเดินสายชักชวนหาแนวร่วมของกลุ่มสามมิตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยังไม่รวมกับบรรดาแนวร่วมต่างพรรค ทั้งพรรคประชาชนปฏิรูปของ ไพบูลย์ นิติตะวัน และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่มีจุดร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นรัฐบาลเพื่อสานต่อสิ่งที่ได้เริ่มไว้ให้ไปถึงฝั่งฝัน

ไปทางเดียวกันกับถ้อยคำของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า “วันนี้ผมสนใจการเมือง เพราะผมสนใจในสิ่งที่ผมทำลงไปว่าไปถึงไหนอะไรยังไง และวันหน้าจะได้รับการสานต่อหรือไม่ ผมจะติดตามรับฟังจากบรรดานักการเมือง กลุ่มการเมือง และพรรคการเมืองต่างๆ”

แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศลงการเมือง โดยไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ หรือหัวหน้า คสช. ย่อมทำให้เกิดแรงกดดันที่ตามมาหา พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.หนักขึ้น พร้อมจะเป็นเป้าให้ถูกถล่มเรื่องการใช้อำนาจในการชิงความได้เปรียบการหาเสียงผ่านกฎกติกาที่ คสช.​เป็นคนควบคุม

ที่สำคัญเมื่อก้าวสู่สนามการเมือง สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมต้องอยู่ในระนาบเดียวกับนักการเมืองคนอื่นๆ ที่สามารถถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมรับและเผชิญหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง