posttoday

เปิดตัว"พลังประชารัฐ" บิ๊กตู่หมู่บ้านกระสุนตก

24 กันยายน 2561

หลังจากนี้ไปการเมืองจะกลับสู่การมีคู่ชกเหมือนระบบปกติ ไม่ได้ชกฝ่ายเดียวเหมือนกับ 5 ปีที่ผ่านมา งานนี้ต้องถามว่า "พล.อ.ประยุทธ์" พร้อมจะรับแรงปะทะขนาดไหน

หลังจากนี้ไปการเมืองจะกลับสู่การมีคู่ชกเหมือนระบบปกติ ไม่ได้ชกฝ่ายเดียวเหมือนกับ 5 ปีที่ผ่านมา งานนี้ต้องถามว่า "พล.อ.ประยุทธ์" พร้อมจะรับแรงปะทะขนาดไหน

************************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หลังจากเก็บตัวเงียบอยู่ตั้งนาน ในที่สุด “พรรคพลังประชารัฐ” เตรียมจะเปิดเผยตัวตนสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ โดยในวันที่ 29 ก.ย.จะมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค สำหรับการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐมีตัวละครที่เห็นชัดเจนเพียงแค่ “ชวน ชูจันทร์” และ “พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล” อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เท่านั้น ในฐานะเป็นผู้แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อจดแจ้งชื่อพรรค

พรรคพลังประชารัฐถูกโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตลอด เนื่องจาก พ.อ.สุชาติ เป็นเตรียมทหารรุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่แปลกที่จะถูกโยงถึงกัน

ไม่เพียงเท่านี้ ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในระยะนี้ได้แสดงเป็นนัยทางการเมืองค่อนข้างชัดเจนว่าจะลงสนามเลือกตั้ง แม้โดยสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สามารถลงสมัคร สส.ได้ ด้วยเหตุที่ติดเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนด แต่หากมองไปถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งแล้ว เงื่อนไขทางกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่ประการใด เหลือเพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาเป็นนายกฯ ตามช่องทางไหนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การเดินหมากของพรรคพลังประชารัฐ ดูเหมือนว่าจะละม้ายคล้ายกับช่วงการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยพอสมควร

เวลานั้นพรรคไทยรักไทยใช้ระบบการดูด สส.จากพรรคการเมืองขนาดกลางควบคู่ไปกับการควบรวมพรรคการเมืองทั้งพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคความหวังใหม่ หรือพรรคเสรีธรรม พรรคชาติพัฒนา เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของการสร้างพลังดูดทางการเมืองของประเทศไทย

ส่วนพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ดำเนินการด้วยตัวเองโดยตรง แต่อาศัยกลไกกลุ่มการเมืองทำหน้าที่แทน ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” นำโดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย “สมศักดิ์ เทพสุทิน” อดีตแกนนำกลุ่มวังน้ำยม ท่อต่อของกลุ่มสามมิตรที่เชื่อมโยงไปถึงรัฐบาลปัจจุบันนั้นจะอาศัยการผ่านไปทาง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ

กลุ่มสามมิตร ซึ่งล้วนเป็นคนที่เคยทำงานใกล้ชิดกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตเจ้านายใหญ่ของตัวเอง แน่นอนว่าย่อมรู้ตื้นลึกหนาบางของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้เองที่ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐและกลุ่มสามมิตรกลายเป็นคนเนื้อหอมมากที่สุดในเวลานี้ เมื่อเทียบกับสภาพของพรรคการเมืองในปัจจุบันที่ถูก คสช.ล็อกคอมาตลอด 5 ปี

ดังนั้น การประชุมพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการวันที่ 29 ก.ย. จึงเป็นเรื่องวาระทางการเมืองที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจจะมีบุคคลในรัฐบาลเข้าไปร่วมงานกับพรรคอย่างเป็นทางการล่วงหน้าก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

หนึ่งในบุคคลที่ถูกคาดหมายว่าจะมาสวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐ คือ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และ อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม โดยถึงขั้นจะเข้ามามีตำแหน่งในพรรคด้วยในตำแหน่งเลขาธิการพรรคและหัวหน้าพรรคตามลำดับ

เมื่อพรรคพลังประชารัฐเริ่มออกตัวในทางการเมืองมากขึ้น ก็ไปบังเอิญกับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลที่กำลังพยายามอนุมัติงบประมาณและโครงการต่างๆ ในนาม “ประชารัฐ” ลงไปในแต่ละพื้นที่มากขึ้นในระยะนี้ ยิ่งมาบวกกับเสียงเชียร์ของรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกครั้งเพื่อสานงานการปฏิรูปประเทศต่อให้จบ จึงทำให้ตอกย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ เดินสายหาเสียง

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ ในแง่หนึ่งอาจมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนที่ส่งผลกระทบมายังรัฐบาลปะปนกันไป

มองในด้านดี จะช่วยให้กลุ่มสามมิตรและบรรดาอดีต สส.สามารถทำพื้นที่ทางการเมืองได้ง่ายมากขึ้น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเทงบประมาณเกี่ยวกับการพัฒนาลงไปมาก ก็เพื่อหวังดึงฐานมวลชนให้เอาใจออกห่างจากพรรคเพื่อไทย

เช่นนี้ บรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายจะได้เอามาเป็นจุดขายในการหาเสียงในทำนองว่าถ้าเลือกพรรคพลังประชารัฐมาเป็นรัฐบาล จะช่วยให้โครงการและงบประมาณมีความต่อเนื่องมากกว่าที่จะให้พรรคการเมืองมาเป็นรัฐบาลแทน ซึ่งเป็นลูกไม้เดียวกับการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในอดีต

เพียงแต่การแกรนด์โอเพนนิ่งของพรรคพลังประชารัฐในเร็วๆ นี้ อาจนำมาซึ่งความลำบากให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกจับผิดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะกลายเป็นเป้าโจมตีจากพรรคการเมืองอื่นในระหว่างการหาเสียง เพราะต้องไม่ลืมว่าแม้จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังมีอำนาจสมบูรณ์ 100% ในการบริหารประเทศ ต่างกับรัฐบาลรักษาการระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงที่ต้องห้ามกระทำการบางอย่างตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

จากนี้ไปการเมืองจะกลับสู่การมีคู่ชกเหมือนระบบปกติ ไม่ได้ชกฝ่ายเดียวเหมือนกับ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมจะรับแรงปะทะขนาดไหน