posttoday

เข็น "เมกะโปรเจกต์" คสช.หวังชนะเลือกตั้ง

17 กันยายน 2561

เร็วๆ นี้อาจเห็นโครงการขนาดใหญ่พร้อมกับกฎหมายเพื่อรองรับความถูกต้องเป็นจำนวนมาก ทุกอย่างเพื่อมัดใจให้ประชาชนมาลงคะแนน

เร็วๆ นี้อาจเห็นโครงการขนาดใหญ่พร้อมกับกฎหมายเพื่อรองรับความถูกต้องเป็นจำนวนมาก ทุกอย่างเพื่อมัดใจให้ประชาชนมาลงคะแนน

***********************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับเป็นสัญญาณที่ดีอย่างแท้จริงภายหลังมีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง สส. และกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พร้อมกับหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 คลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในบางกรณีได้

สัญญาณแรกที่ตอบรับไปในทางที่ดีนั้นสะท้อนให้เห็นจากภาพรวมของตลาดทุนเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งดัชนีหุ้นไทยในวันดังกล่าว ปิดที่ 1,717.96 จุด เพิ่มขึ้น 38.57 จุด หรือพุ่งขึ้น 2.30% มูลค่าการซื้อขาย 78,999.35 ล้านบาท

ตัวเลขที่ปรากฏออกมาบรรดาผู้สันทัดกรณีทั้งหลายต่างฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นผลมาจากการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนอย่างเป็นทางการ จากเดิมที่ค่อนข้างซบเซา เพราะไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งหรือไม่

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลออกมายืนยันความชัดเจนอีกครั้งว่าการเลือกตั้งของไทยจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือน ก.พ. 2562

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่หลายฝ่ายกำลังรอวันเลือกตั้งและปลดล็อกการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ ปรากฏว่ารัฐบาลและ คสช.ชิงจังหวะวิ่งแซงพรรคการเมืองไปหลายขุมแล้ว ผ่านการเดินสายประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร และ การส่งสัญญาณในการลงทุนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

สำหรับโครงการที่เดินไปได้เยอะแล้วเห็นจะเป็น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบเป็นกฎหมายและประกาศใช้ออกมาเป็นทางการแล้ว

อีอีซีถือเป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามใช้เชิดหน้าชูตาเสมอมา เพราะจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับมหภาค

อีกโครงการหนึ่งที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าอย่างขะมักเขม้น คือ นโยบายประชารัฐ ล่าสุด สนช.เพิ่งผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยมีงบประมาณสำหรับนโยบายที่ว่านั้นด้วยเม็ดเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ภายใต้ชื่อ “กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”

จากนั้น สนช.ก็รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในรายละเอียดให้เสร็จภายใน 30 วัน ก่อนส่งกลับมาให้ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบ

ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบาย แผนการดำเนินงาน มาตรการหรือโครงการเกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีพแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าทั้งอีอีซีและกองทุนประชารัฐต่างมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีกฎหมายรองรับ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลและ คสช.จะใช้ทั้งสองเรื่องนี้ในการขับเคลื่อนประเทศที่จะแฝงไปด้วยการหาเสียงทางอ้อม

โมเดลการเดินเกมทางการเมืองลักษณะนี้ จะว่าไปแล้วคล้ายช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยก่อนการเลือกตั้งในปี 2548 รัฐบาลได้เดินหน้าโครงการสำคัญอย่างเร่งด่วน จนกลายมาเป็นแนวการหาเสียงเลือกตั้งในสมัยที่สองภายใต้แนวทาง “4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง”

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังตามรอยแทบไม่ต่างกัน พยายามใช้กลไกรัฐในการสื่อสารกับประชาชนว่าตลอดเกือบ 5 ปีที่ผ่านมาได้ช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างไรบ้าง ควบคู่ไปกับการเดินเครื่องนโยบายระยะยาว อันมีลักษณะที่ต้องการส่งสัญญาณไปยังประชาชนว่าหากได้มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่อีกครั้ง จะทำโครงการที่วางรากฐานเอาไว้ให้สำเร็จ

ขณะเดียวกัน ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปิดทางให้รัฐบาลสามารถผลักดันโครงการขนาดใหญ่ได้ แม้ในอนาคตจะมีการ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งก็ตาม

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 กำหนดให้รัฐบาลที่รักษาการภายหลังมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรืออายุสภาสิ้นสุดลง จะดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติ แต่มีอยู่ 4 เรื่องที่ห้ามดำเนินการ ได้แก่

1.การกระทําการอันมีผลเป็นการอนุมัติโครงการมีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

2.การแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

3.การกระทําการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

4.การไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

แต่ภายใต้เงื่อนไขของมาตรา 169 ดังกล่าว จะไม่เป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลปัจจุบัน เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้มาตรา 169 เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจเต็ม 100% จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

ดังนั้น หมายความว่าโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วหรือการจะอนุมัติโครงการใหม่ในอนาคต ย่อมสามารถดำเนินการได้ ทำให้เร็วๆ นี้อาจจะเห็นโครงการขนาดใหญ่พร้อมกับกฎหมายเพื่อรองรับความถูกต้องเป็นจำนวนมาก

ทุกอย่างเป็นใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.เช่นนี้ก็เหลือเพียงแต่จะทำอย่างไรเพื่อมัดใจให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งให้กับตัวเองเท่านั้น