posttoday

ปชป.ปรับภาพลักษณ์โหวต'หัวหน้าพรรค'

11 กันยายน 2561

เป็นการเปิดเกมรุกทางการเมืองครั้งสำคัญของประชาธิปัตย์ เมื่อ อภิสิทธิ์ ประกาศชัดเจนว่าการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคที่กำลังจะเกิด พรรคจะเปิดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรคผ่านแอพพลิเคชั่น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับเป็นการเปิดเกมรุกทางการเมืองครั้งสำคัญของประชาธิปัตย์ เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชัดเจนว่าการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคที่กำลังจะเกิด พรรคจะเปิดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรคผ่านแอพพลิเคชั่น พร้อมกางไทม์ไลน์กำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน

บทสมมติฐานที่ว่าจะมีการคลายล็อกทางการเมืองช่วงกลางเดือน ก.ย. อันจะเปิดให้พรรคสามารถแก้ไขข้อบังคับพรรคเพื่อรองรับกระบวนการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค คู่ขนานไปกับการเปิดรับสมาชิกพรรคเพิ่มเติม จากนั้นกลางเดือน ต.ค. สามารถเปิดให้สมาชิกพรรคออกเสียงและประกาศผลได้ในเดือน พ.ย.

ถือเป็นการต่อยอดจากที่เคยประกาศ เดินหน้าโรดแมป "ประชาธิปัตย์ยุคใหม่" ช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และเปิดตัวแอพพลิเคชั่นยืนยันความเป็นสมัครสมาชิกพรรค และเตรียมจะขยายผลต่อเนื่องถึงช่องทางการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคของสมาชิกต่อไป

แกนนำประชาธิปัตย์หลายคนยืนยันว่าผลจากการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคของสมาชิกพรรคจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคต้องยึดถือ หากไปเลือกคนอื่นที่สมาชิกไม่ได้เลือกคงเป็นไปได้ยาก การหยั่งเสียงครั้งนี้จึงมีความสำคัญ ไม่ใช่แค่ทำเป็นพิธีเท่านั้น

ก้าวย่างของ "ประชาธิปัตย์" จึงถือเป็นการพลิกเอาจุด "สุ่มเสี่ยง" เรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคที่อาจบานปลายกลายเป็นความระหองระแหง พลิกมาเป็นความได้เปรียบในเชิงภาพลักษณ์ที่เน้นการมีส่วนร่วมแบบให้สมาชิกเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

"ปัจจุบันข้อบังคับของพรรคกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วย สส. และประธานสาขาพรรคเป็นหลัก เป็นผู้มีสิทธิเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งก็สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ที่ออกมาอยู่แล้ว แต่ผมมองว่าประชาธิปัตย์สามารถเป็นผู้นำและมีความก้าวหน้ากว่านี้ได้"

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง มีความจำเป็นที่จะให้สมาชิกพรรคและประชาชนในวงกว้างเข้ามามีส่วนร่วม มากกว่าการปล่อยให้การกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางของพรรค จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มอดีต สส.และผู้บริหารพรรคในปัจจุบัน

"ในอดีตเราไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างนี้ได้ แต่ในปัจจุบันการลงคะแนนผ่านโทรศัพท์มือถือทำได้ไม่ยากแล้ว การหยั่งเสียงเลือกตั้งครั้งนี้พรรคจะให้สามารถทำได้โดยใช้แอพพลิเคชั่นผ่านทางโทรศัพท์ได้"

ในทางปฏิบัติการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรงนั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแล้ว อีกด้านยังช่วยลดแรงเสียดทานที่จะตามมาในอนาคต

ที่ผ่านมาอภิสิทธิ์เคยประกาศ ลาออกจากตำแหน่งหลังแพ้การเลือกตั้งในอดีต แต่ก็ถูกเลือกกลับมาใหม่ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงแค่ปาหี่ เมื่อสุดท้ายเสียงของที่ประชุมใหญ่เลือกกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป

ดังนั้น ด้วยวิธีนี้ไม่ว่าสมาชิกพรรคจะเลือกใครขึ้นมาเป็นหัวหน้า ย่อมจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่นับจากนี้มีความสง่างาม กว่าและได้รับการยอมรับจากทั้งในและนอกพรรคมากขึ้น

แต่ในทางปฏิบัติบุคคลที่พอจะมาเป็นแคนดิเดตแข่งกับ  อภิสิทธิ์ ในเวลานี้ ก็ยังหายากเต็มที

ก่อนหน้านี้เสียงเรียกร้องจากในพรรคจำนวนไม่น้อยต้องการผลักดันให้ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกรอบ ยิ่งในวันที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ประกาศตัวไปเป็นแกนนำร่วม ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย

แต่สุดท้าย นายหัวชวนออกมาประกาศไม่รับตำแหน่ง ถึงขั้นออกตัวว่าหากมีคนเสนอชี่อเป็นหัวหน้าพรรคจะขอถอนตัวเพราะเห็นว่าอภิสิทธิ์ทำหน้าที่ได้ดีแล้ว

ขณะที่ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรค ออกมาระบุว่า หากอภิสิทธิ์สมัครรับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคก็ยังจะสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรค เพราะมั่นใจว่าอภิสิทธิ์สามารถเป็น นายกฯ ที่ดีได้อีกครั้ง

ส่วนล่าสุด อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ออกมาระบุว่า มีคนทาบทามให้ไปลงแข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น แต่ในทางปฏิบัติคงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะที่ผ่านมาช่วงการผลักดันการปฏิรูปพรรค 2556 สามารถเป็นดัชนีสะท้อนให้เห็นฐานเสียงที่สนับสนุนอลงกรณ์ ที่ยากจะได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรคในเวลานี้ได้

แต่ใช่ว่าอภิสิทธิ์จะนอนมาในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะหากพิจารณาในรายละเอียดผู้มีสิทธิหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคซึ่งก็คือสมาชิกพรรคนั้น จากเดิมประชาธิปัตย์มีสมาชิกกว่า 2 ล้านคน ปัจจุบันยอดสมาชิกที่มายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคมีอยู่ราว 1 แสนคน

โดยในยอดหนึ่งแสนกว่าคนนั้นว่ากันว่ามีจำนวนไม่น้อยที่เป็นฐานที่คาบเกี่ยวที่สนับสนุนทั้ง กปปส. และ ประชาธิปัตย์ ซึ่งอาจจะมีผลหากประชาธิปัตย์ซีกอดีตแกนนำ กปปส. เกิดมีความคิดจะผลักดันใครขึ้นมาแข่งกับอภิสิทธิ์ ดังที่เคยเป็นกระแสมาแล้วก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังปลดล็อกการเมือง ก็จะเป็นโอกาสให้คนทั่วไปก็สามารถมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ได้อีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าหากประกาศออกไปแล้วว่าจะให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรค นี่ย่อมจะเป็นแรงจูงใจที่จะมา สมัครสมาชิกเพิ่มเติม

การชิงจังหวะเดินหน้าไพรมารีโหวตเลือกหัวหน้าพรรคจึงถือเป็นการเร่งออกตัวทำคะแนนและปรับภาพลักษณ์ครั้งสำคัญของประชาธิปัตย์