posttoday

5 ปมร้อน รอพิสูจน์ฝีมือ'กกต.'

17 สิงหาคม 2561

แม้ กกต.ใหม่ป้ายแดงจะมีเพียงแค่ 5 คน ไม่ครบ 7 คน ตามรัฐธรรมนูญ แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.กำหนดให้ ทั้ง 5 คน สามารถเป็นองค์ประชุมและทำหน้าที่ตามกฎหมายได้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุดก็ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ จำนวน 5 คน จากทั้งหมด 7 คน อันเป็น กกต.ชุดแรกสเปกเทพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลให้ กกต.ชุดปัจจุบันต้องสิ้นสุดการทำหน้าที่ไปโดยปริยาย

กกต.ชุดใหม่ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย 1.อิทธิพร บุญประคองประธาน กกต. 2.สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ 3.ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย4.ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และ 5.ปกรณ์ มหรรณพ เป็น กกต. ส่วนที่เหลืออีก 2 คน ที่มาจากคณะกรรมการสรรหานั้นคาดว่าน่าจะได้ตัวบุคคลอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ กกต.ใหม่ป้ายแดงจะมีเพียงแค่ 5 คน ไม่ครบ 7 คน ตามรัฐธรรมนูญ แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.กำหนดให้ กกต.ที่มีอยู่ 5 คน สามารถเป็นองค์ประชุมและทำหน้าที่ตามกฎหมายได้

เท่ากับว่าการทำงานของ กกต.กำลังนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ เมื่อดูสถานการณ์เวลานี้แล้วมีอย่างน้อย 5 เรื่อง ที่กำลังรอพิสูจน์ฝีมือการทำงานของ กกต.

1.การสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นกลไกและเครื่องมือใหม่ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.สร้างขึ้นมา เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับ กกต.ในการตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้ง จากเดิมที่ใช้ระบบ กกต.จังหวัด แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใดนัก แถมยังมีปัญหาว่า กกต.จังหวัดตามกฎหมายฉบับเก่ายังไปใช้อำนาจสร้างอิทธิพลในพื้นที่ ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

โดยออกแบบให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีวาระการทำหน้าที่ที่ไม่นานมากนัก เพื่อป้องกันไม่ให้ไปใช้อำนาจในทางที่ มิชอบ ซึ่ง กกต.ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไปได้เริ่มกระบวนการสรรหาไปแล้วทั้งสิ้น 616 คน และอยู่ในระหว่างการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่ามีผู้ที่ผ่านการสรรหาคนใดบ้างที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายก่อนจะลงนามรับรองต่อไป

งานนี้ กกต.ชุดใหม่ จะเข้ามาทำหน้าที่กลั่นกรองและตรวจสอบในขั้นสุดท้าย เพื่อให้ได้คนที่สามารถไว้วางใจได้มากที่สุด แน่นอนว่าย่อมได้เห็นกระบวนการคัดกรองแบบเข้มข้นมากที่สุด เพราะ กกต.ชุดนี้จะเข้ามาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี จึงต้องการให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

2.การทำไพรมารีโหวต แม้เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับ กกต.โดยตรง เพราะเป็นภาระของพรรคการเมืองที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิเช่นนั้นจะ ไม่สามารถสมัครลงเลือกตั้งได้ แต่ กกต.มีหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าภาพในการเข้ามาตรวจสอบความสุจริตของการทำไพรมารีโหวต ไม่ว่าที่สุดแล้วการทำ ไพรมารีโหวตจะเป็นแบบรายจังหวัดหรือรายภาคก็ตาม

การเข้ามาดูเรื่องนี้ของ กกต. มีผลต่อพรรคการเมืองพอสมควร หาก กกต.เข้ามาตรวจสอบและพบความ ไม่ชอบมาพากล จะมีผลให้ผู้สมัครและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ดังกล่าวต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย ซึ่งเป็นบทลงโทษที่สาหัสพอสมควรตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

3.ตรวจสอบพลังดูดและยุบพรรค เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เริ่มมีฝ่ายการเมืองบางพรรคได้ออกมาเรียกร้องให้ กกต.เข้ามาตรวจสอบ ภายหลังกลุ่มสามมิตรใช้โอกาสที่ตัวเองยังไม่ได้มีสถานะในทางการเมืองเดินสายทาบทามอดีต สส.ให้เข้ามาอยู่ในสังกัด ทั้งๆ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ได้ปลดล็อกให้สามารถทำกิจกรรมทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่า กกต.ชุดนี้ที่เกิดมาในยุคของ คสช.จะตัดสินใจอย่างไรต่อไป

ไม่เพียงแต่เรื่องดูดอดีต สส.เท่านั้นที่เป็นเผือกร้อนของ กกต. เพราะยังมีกรณีของพรรคเพื่อไทยที่กำลังรอให้ กกต.ชุดนี้เข้ามาตรวจสอบเช่นกัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความคิดเห็นว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะชนะการเลือกตั้ง อันเป็นประเด็นที่อาจนำมาซึ่งการตรวจสอบของ กกต.ว่าเข้าข่ายกรณีที่คนนอกพรรคการเมืองเข้ามาครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งมีบทลงโทษพรรคการเมืองตามเช่นกัน

4.สรรหา สว. วุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญจะมีจำนวน 250 คน แบ่งเป็น 200 คน จากการสรรหาของ คสช. ส่วนที่เหลือจะได้มาจากการเลือกกันเองของ ผู้สมัครตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ก่อนมาให้ คสช.เลือกให้เหลือ 50 คน

ในส่วนของการเลือก 50 คนนี่เองที่ กกต.จะเข้ามากำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าวุฒิสภาชุดใหม่จะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลทั้งในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ คสช.ต้องการได้คนที่ คสช.ไว้ใจได้มาเป็น สว. ดังนั้น กกต.จะเป็นกลไกหลักที่จะเข้ามาสกรีน สว.ในเบื้องต้นก่อนไปถึงมือของ คสช.

5.คุมนโยบายรัฐบาล รัฐธรรมนูญได้ออกแบบให้ กกต.เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.มาตรา 48 ยังบัญญัติให้ กกต.มีอำนาจสอบสวนการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่มีพฤติการณ์อันอาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตลอด 7 ปี การทำหน้าที่ของ กกต.นับจากนี้ไปนั้นกำลังมีงานใหญ่รออีกมาก ซึ่งมาพร้อมกับบทพิสูจน์ความเป็นกลางขององค์กรอิสระอย่าง กกต.