posttoday

การทูตนำ ‘กกต.’ ตัดท่อคสช.-รักษาภาพ

03 สิงหาคม 2561

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระที่ยังสามารถอยู่ยงคงกระพันมาตั้งแต่เมื่อครั้งมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระที่ยังสามารถอยู่ยงคงกระพันมาตั้งแต่เมื่อครั้งมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กกต.ในยุคก่อนการรัฐประหาร 2549 นับเป็นช่วงขาลงของ กกต.ชัดเจน 

นับจากนั้นเป็นต้นมา กกต.เดินหน้าเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ ที่เห็นเด่นชัดสุด คือ การให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเข้ามามีบทบาทในการสรรหา กกต.

จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงนำมาซึ่งบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นประธาน กกต. จะพบว่า กกต.สองชุดหลังสุดนั้นล้วนแต่มีโปรไฟล์การเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “อภิชาต สุขัคคานนท์” และ “ศุภชัย สมเจริญ”

เมื่อหัวขบวนผ่านการการันตีด้วยการเป็นผู้พิพากษามาก่อน ส่งผลให้ กกต.กลับมาอยู่กับร่องกับรอยอีกครั้ง แม้จะถูกวิจารณ์ถึงการทำงานและความเป็นกลางอยู่บ้าง แต่ไม่เกิดผลเสียหายร้ายแรงมากนัก เมื่อเทียบกับอดีต

มาถึงเวลานี้ กกต.กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง ภายหลังการเลือกประธาน กกต.ครั้งล่าสุด บรรดาผู้ที่ผ่านการให้ความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 5 คนมีมติเลือก “อิทธิพร บุญประคอง” เป็นประธาน กกต.

การขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่ง กกต.ของอิทธิพร เรียกได้ว่าสร้างความประหลาดใจไม่น้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้หลายฝ่ายต่างฟันธงไปในทิศทางทางเดียวกันว่าเก้าอี้ประธาน กกต.น่าจะเป็นของ “ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี” กกต.จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือ “ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย” กกต.จากคณะกรรมการสรรหา

เดิมทีคาดหมายว่าหากให้ฉัตรไชยขึ้นมาเป็นประธาน กกต.น่าจะช่วยรักษาภาพความเป็นกลางของ กกต. เนื่องจากเป็น กกต.จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา อีกทั้งแนวปฏิบัติของ กกต.สองชุดก่อนหน้านี้ก็มอบเก้าอี้ประธาน กกต.ให้กับอดีตผู้พิพากษามาตลอด จึงไม่แปลกที่ชื่อของฉัตรไชยจะอยู่ในฐานะตัวเต็งลำดับต้นๆ

เช่นเดียวกับกรณีของธวัชชัย ซึ่งเคยเป็นอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ซึ่งน่าจะทันเหลี่ยมของพวกนักเลือกตั้งพอสมควร ทำให้เป็นอีกคนที่น่าสนใจกับตำแหน่งสูงสุดใน กกต.

แต่เอาเข้าจริงตำแหน่งประธาน กกต.กลับพลิกโผไปอย่างเหนือความคาดหมายด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ

1.อายุ กกต.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีตามรัฐธรรมนูญกำหนด แต่หากเกิดกรณีที่ กกต.รายใดมีอายุ 70 ปีระหว่างดำรงตำแหน่ง แม้จะทำหน้าที่ยังไม่ครบ 7 ปีแต่หากมีอายุครบ 70 ปีต้องพ้นจากตำแหน่งเช่นกัน

ทั้งนี้ พบว่าฉัตรไชย อายุ 65 ปี ธวัชชัย อายุ 66 ปี เท่ากับว่าหากคนใดคนหนึ่งในสองคนนี้ได้เป็นประธาน กกต. จะไม่อยู่ในตำแหน่งได้ครบ 7 ปี เพราะต่างจะมีอายุครบ 70 ปีในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ดังนั้น การเปลี่ยนม้ากลางศึกย่อมมีผลต่อการทำงานที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องแน่นอน

2.การลดแรงเสียดทานให้กับศาล ที่ผ่านมาอย่างที่ทราบกันดีกว่ากฎหมายให้บทบาทกับศาลฎีกาเกี่ยวกับองค์กรอิสระพอสมควร แม้จะนำมาซึ่งผลดีในแง่ภาพลักษณ์ของความเป็นกลาง แต่ด้านหนึ่งมีผลกระทบเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรอิสระแต่ละครั้ง ศาลมักจะถูกกระทบชิ่งไปด้วย

การให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาลโดยตรงมาทำหน้าที่ประธาน กกต.ที่ต้องคอยปะทะกับแรงกดดันทางการเมือง น่าจะช่วยเป็นกำแพงป้องกันไม่ให้คลื่นลมการเมืองมากระทบถึงศาลไปในตัว

3.ตัดปัญหาเรื่อง คสช. อย่างที่ทราบกันดีว่า กกต.ชุดนี้มาในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ท่ามกลางกระแสข่าวจะมีนอมินี คสช.เข้ามาสู่สนามเลือกตั้ง เพื่อสานต่อภารกิจให้กับ คสช.จนจบด้วยการผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ด้วยตรรกะนี้ หากให้คนที่เคยเป็นสมาชิก สปท.ที่มาจากการเลือกของ คสช.เป็นประธาน กกต. มีความเป็นไปได้ที่ กกต.คงต้องคอยรับศึกหนักจากนักเลือกตั้งที่เพ่งเล็งพร้อมกับจับผิดของ กกต.แน่นอน เพราะย่อมไม่ไว้วางใจเรื่องความเป็นกลางของ กกต. ไม่เพียงเท่านี้ ปัญหาอาจลามไปถึงความสง่างามของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย ถ้าเกิดจับพลัดจับผลูได้เป็นนายกฯ ขึ้นมาอีกรอบ

จากเหตุผลทั้งหมด จึงเป็นที่มาว่าควรตัดปัญหาทั้งหมดด้วยการให้คนที่มีโปรไฟล์ไม่เกี่ยวกับศาลและ คสช.มาเป็นประธาน กกต. หวยจึงไปออกที่ “อิทธิพร” พอดี

ในแง่ของอายุนั้นว่าที่ประธาน กกต.รายนี้เพิ่งจะมีอายุ 62 ปีเท่านั้น ไม่มีปัญหาเรื่องต้องพ้นตำแหน่งกลางคันด้วยเพราะเหตุอายุ 70 ปีบริบูรณ์ ส่วนประวัติการทำงานก็มีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น เป็นอดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศและยังเคยเป็นทีมงานของประเทศไทยต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ต่อศาลโลก เมื่อปี 2553 ด้วย และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย

เหนืออื่นใด การมีภาพลักษณ์เป็นนักการทูต น่าจะเป็นแต้มต่อที่สำคัญของ กกต. เนื่องจาก กกต.จะต้องทำหน้าที่รับมือกับต่างชาติที่จะเข้ามารุมจับตาการเลือกตั้งของไทยที่จะมีขึ้นในปี 2562

นับว่า กกต.เข้าสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริงตั้งแต่การเปลี่ยนที่มาของประธาน กกต. และด้วยอำนาจใหม่ที่รัฐธรรมนูญเพิ่มมาให้ ส่งผลให้ กกต.ยุคนี้เป็นเสือที่น่าเกรงขามไม่น้อย