posttoday

เพิ่มอำนาจ ปปช. หอกข้างแคร่อนาคต

26 กรกฎาคม 2561

ประกาศใช้บังคับออกมาเป็นทางการแล้วสำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

ประกาศใช้บังคับออกมาเป็นทางการแล้วสำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

เดิมที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ คือ การไม่เซตซีโร่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เหมือนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในทางกลับกัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังได้ไปให้กรรมการ ป.ป.ช.ที่มีลักษณะต้องห้ามบางราย สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ จนเป็นที่วิจารณ์อย่างหนัก

อย่างไรก็ดี ประเด็นพิพาทนี้ได้จบลงไปแล้ว ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกำหนดให้กรรมการ ป.ป.ช.ที่มีปัญหาดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จนนำมาสู่การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในปัจจุบัน

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่นั้นนับว่ามีหลักการใหม่ที่น่าสนใจพอสมควร ทั้งในแง่ของการป้องกันและการปราบปราม

ด้านการปราบปราม ในภาพรวมแล้วไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างในกรณีของการไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คงเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.และส่งต่อให้กับอัยการสูงสุดก่อนขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่มีอยู่มุมหนึ่งพบว่า เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ กฎหมาย ป.ป.ช.ได้กำหนดกรอบเวลาในการทำงานของ ป.ป.ช.ไว้ชัดเจน

ดังจะเห็นได้จากมาตรา 48 ที่ระบุว่า “เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ว่ามีการกระทําความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจโดยพลัน โดยในกรณีที่จําเป็นต้องมีการไต่สวน ต้องไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กําหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันเริ่มดําเนินการไต่สวน”

การวางกรอบไว้ 2 ปีตามมาตรา 48 เป็นโจทย์สำคัญของ ป.ป.ช. เพราะก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ไม่เคยทำงานโดยถูกกดดันในเรื่องของเวลา ทำให้มีบางคดีที่ ป.ป.ช.ใช้เวลาไต่สวนนานกว่า 10 ปี นำมาซึ่งคดีความที่ค้างอยู่ในสารบบของ ป.ป.ช.เป็นจำนวนมาก

ส่วนมุมของการป้องกัน ปรากฏว่า มาตรา 130 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ จากเดิมกฎหมายจะบัญญัติไว้เฉพาะตำแหน่งที่สำคัญเท่านั้น อาทิ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง

ไม่เพียงเท่านี้ การป้องกันภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ ยังมีลักษณะในเชิงรุกด้วย โดยเฉพาะการเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาล ต่างจากเดิมที่จะเป็นลักษณะเชิงรับที่รอให้เกิดการทุจริตก่อน จากนั้น ป.ป.ช.จะเข้าไปตรวจสอบ

“ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการดําเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐอันอาจนําไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดําเนินการตรวจสอบโดยเร็ว ถ้าผลการตรวจสอบปรากฏว่ากรณีมีเหตุอันควรระมัดระวัง คณะกรรมการ ป.ป.ช.อาจมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวและคณะรัฐมนตรีทราบ พร้อมด้วยข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข

หน่วยงานของรัฐและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องดําเนินการตามควรแก่กรณีเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนโดยเร็ว และถ้าไม่เกี่ยวกับความลับของทางราชการให้เปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป” อำนาจเชิงรุกของ ป.ป.ช.ตามมาตรา 35

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ป.ป.ช.ได้ถูกออกแบบให้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น เพื่อปราบปรามการทุจริต แต่อำนาจที่เพิ่มขึ้นนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เห็นการใช้แบบเต็มรูปแบบ ภายหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีการตีกรอบการทำงานของรัฐบาลเอาไว้ค่อนข้างมาก พร้อมๆ กับการถูกตรวจสอบรอบด้านจากทั้งวุฒิสภาและองค์กรอิสระ เช่น ในกรณีของการปฏิรูปประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มิเช่นนั้น อาจนำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีอาญา

ไม่ว่ารัฐบาลจะก้าวเดินอย่างไร จะถูกจับตาตลอดเวลา ท่ามกลางความหวาดระแวงว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะครองตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกสอยลงจากตำแหน่งกลางอากาศเหมือนกับนายกรัฐมนตรีในอดีต เรียกได้ว่าความมั่นคงในตำแหน่งมีค่อนข้างน้อย 

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นเพียงหนึ่งในกลไกของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง

ทุกอย่างถูกวางไว้เพื่อเปิดทางให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ทั้งรูปแบบการเลือกตั้ง กติกาของการเลือกตั้ง และการสรรหาองค์กรอิสระในระยะนี้ หรือถ้า คสช.ไม่ได้เป็นรัฐบาล รัฐบาลของนักการเมืองในอนาคตจะต้องเจอกับเครื่องกีดขวางหลายด่านระหว่างการบริหารประเทศผ่านกติกาที่ถูกสร้างในยุคของ คสช.

ที่สุดแล้ว หากจะบอกว่ากฎหมาย ป.ป.ช.อาจเป็นหอกข้างแคร่ในอนาคตสำหรับรัฐบาลของนักการเมือง คงไม่ผิดมากนัก