posttoday

‘เป่าคดี’เกมบีบย้ายพรรค ไม้ตายเสริมพลังดูด

25 กรกฎาคม 2561

จุดอ่อนเรื่องคดีความจึงเป็นอีกไม้ตายที่จะเพิ่มแรงดูด สส.ให้เพิ่มมากขึ้นในช่วงสุดท้ายก่อนตลาดปิด

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

เปิดหน้าแสดงตัวชัดเจนกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกลุ่มอดีต สส.อุบลราชธานี ออกมาต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างการลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจร ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึง “พลังดูด” ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ไล่มาตั้งแต่ สุพล ฟองงาม อดีต สส.พรรคเพื่อไทย สุชาติ ตันติวณิชชานนท์ อดีต สส.พลังประชาชน โกวิทย์ ธรรมานุชิต อดีตผู้สมัคร สส.ไทยรักไทย วุฒิพงษ์ นามบุตร อดีต สส.ประชาธิปัตย์ ประจักษ์ แสงคำ อดีตผู้สมัคร สส.ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

ถัดมาที่ ​​จ.ศรีสะเกษ ​​อมรเทพ สมหมาย อดีต สส.ชาติพัฒนา, ศิริพงษ์ อังคะสกุลเกียรติ อดีต สส.ชาติไทย ​ ด้าน จ.ยโสธร มี รณฤทธิชัย คานเขต อดีต สส.ไทยรักไทย ​ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่มีรายชื่อ​เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งหมดนี้มี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และ​ อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ​เป็นผู้ทักทายกลุ่มนักการเมืองที่มารอให้การต้อนรับ

ตอกย้ำให้เห็นว่าสถานการณ์ “ดูด” เวลานี้ส่อเค้าจะบานปลายมากขึ้น​และไม่มีทีท่าจะหยุดลงง่ายๆ

ล่าสุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาวิเคราะห์พลังดูดที่เข้มข้นขึ้นนั้นมาจาก 3 ปัจจัย คือ เงิน ตำแหน่ง และคดีความ

“ผมรับทราบมาว่ามีการเจรจาเรื่องเหล่านี้จริง คนในพรรคประชาธิปัตย์ตกเป็นเป้าในเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่ผมเชื่อว่าเขาตกผลึกแล้ว ถ้ามั่นคงในอุดมการณ์ก็อยู่ แต่ถ้ามีเรื่องเหล่านี้ก็ไป เราคงห้ามอะไรไม่ได้ ผมไม่สบายใจที่มีคนพูดเรื่องการย้ายพรรคเพราะมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนเป็นเรื่องปกติทางการเมือง”

สัญญาณสำคัญอยู่ตรงที่ อภิสิทธิ์ มองว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการนำคดีความมาต่อรองให้ย้ายไปอยู่กับพรรคใหม่ แล้วคดีจะจบ ซึ่งต้องจับตาเพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันใช้มาตรา 44 ตีตราไว้หลายคนแล้วตอนนี้จะเคลียร์ให้

สอดรับไปกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่มีให้เห็นเรื่อยๆ ถึงความพยายามใช้ประเด็นเรื่องคดีความที่ติดตัวของนักการเมืองแต่ละคนมาเป็นแรงกดดันหวังดึงให้มาร่วมสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ

ที่ผ่านมา สมหญิง บัวบุตร อดีต สส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า มีคนติดต่อทาบทามให้ย้ายไปอยู่พรรคใหญ่ 2 พรรค เพื่อแลกกับคดีความ ถ้าหากย้ายไปก็จะไม่มีคดีติดตัว ซึ่งก็ได้ปฏิเสธและกล่าวขอบคุณที่หวังดี เพราะส่วนตัวมีความเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทย

แม้แต่คดีของ วัน อยู่บำรุง ลูกชายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ถูกออกหมายจับลงวันที่ 19 ก.ค. 2561 ข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้การกระทำการใด หรือไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย โดยมีอาวุธ และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งถูกคุมตัวที่กองปราบโดยไม่ให้ประกันตัวในวันแรก ทำให้ต้องนอนห้องขัง 1 คืน ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวไปโดยตีราคาประกัน 3 แสนบาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขแต่อย่างใด

กรณีนี้นับเป็นอีกหนึ่งในคดีที่ถูกมองว่า ตั้งใจใช้คดีความมาเป็นแรงบีบเพื่อกดดันหวังผลให้ย้ายพรรค โดยต้องการแสดงให้อดีต สส.พรรคเพื่อไทย และอดีต สส.เกรดเอทั้งหลาย ได้เห็นว่าขนาดลูกชาย ร.ต.อ.เฉลิม ยังโดนขนาดนี้ คดีความคนอื่นๆ จะหนักขนาดไหนหากไม่ย้ายพรรคไปเข้าด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ

วิธีการแบบนี้ไม่ต่างจากกรณีของบรรดาผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอดีตที่เคยถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ ตามคำสั่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวการทุจริตหรือเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในหลายพื้นที่

จนต่อมาได้รับการปลดล็อกให้กลับมาทำหน้าที่ต่อ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะดีลลับให้พลิกขั้วหันมาสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเริ่มเปิดหน้าปฏิบัติการดูดเต็มสูบ

โดยเฉพาะกับ บุญเลิศ บูรณปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ ที่มีฐานเสียงและขุมกำลังในพื้นที่อันเข้มแข็ง ไม่ต่างจากอีกหลายคนที่ถูกปลดล็อกให้กลับมาทำงานพร้อมกัน เช่น สถิรพร นาคสุข นายก อบจ.ยโสธร มลัยรัก ทองผา นายก อบจ.มุกดาหาร ​ชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร

แม้แต่กรณีของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่ถูกทางการเพ่งเล็งอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มสะสมทรัพย์ จ.นครปฐม เวลานี้กลับถูกบีบให้พลิกขั้วกลับมาสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้จุดอ่อนเรื่องคดีเข้ามาเป็นแรงกดดัน

อีกด้านหนึ่งบรรดานักการเมืองที่หลายคนล้วนแต่มีคดีความในอดีต โดยเฉพาะกับคดีที่ค้างอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรงนี้กลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกนำมาต่อรอง

ตามกระแสข่าวที่ได้ยินทั้ง วิรัช รัตนเศรษฐ อดีต สส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ซึ่งเกี่ยวพันกับคดีทุจริตก่อสนามฟุตซอล สันติ พร้อมพัฒน์ อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งยังมีคดีค้างคากรณี ครม.มีมติจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองปี 2548-2553 และยังไม่นับรวมอดีต สส.ผู้มากบารมี อีกหลายคน อาทิ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” อดีต สส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา กลุ่มตระกูล “สะสมทรัพย์” แห่ง จ.นครปฐม ที่ต้องจำใจย้ายพรรค

ยิ่งในวันที่สังคมกำลังจับตาการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.​ชุดปัจจุบัน ซึ่งถูกมองว่าใกล้ชิดกับทางฝั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยแล้ว แรงบีบเรื่องคดีจึงดูจะมีน้ำหนักในการกดดันให้ย้ายพรรค มากกว่าเรื่องตำแหน่งหรือผลประโยชน์อื่น

โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองที่ขั้วอำนาจเก่ายังมีฐานเสียงที่เข้มแข็ง การแทรกตัวเข้าไปชิงเก้าอี้ในพื้นที่ของพรรคพลังประชารัฐจนมีเสียงพอจัดตั้งรัฐบาลได้ อาจไม่ง่ายอย่างที่คาดไว้ แม้จะมีทั้งอำนาจรัฐและอำนาจพิเศษในมือ

จุดอ่อนเรื่องคดีความจึงเป็นอีกไม้ตายที่จะเพิ่มแรงดูดให้เพิ่มมากขึ้นในช่วงสุดท้ายก่อนตลาดปิด