posttoday

โอกาส‘ประยุทธ์’ เหนือกว่าคนอื่น

20 กรกฎาคม 2561

ประเมินทิศทางลมแล้วเวลานี้โอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูจะได้เปรียบมากกว่าคู่แข่งจากพรรคอื่นๆ ด้วยหลายปัจจัยทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์  

ประเมินทิศทางลมแล้วเวลานี้โอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูจะได้เปรียบมากกว่าคู่แข่งจากพรรคอื่นๆ ด้วยหลายปัจจัยทั้งทางตรงและทางอ้อม

ประการแรก ด้วยอำนาจรัฐกับการบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่องกว่า 4 ปี ผลงานอันปรากฏในช่วงเวลาที่ผ่านมาย่อมสามารถเรียกคะแนนนิยมได้ในหลายพื้นที่ ไม่มากก็น้อย สะท้อนผ่านผลสำรวจความคิดเห็นจากหลายสำนักที่ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์

ยิ่งในวันที่คู่แข่งทางการเมืองไม่อาจออกมาดำเนินกิจกรรม ด้วยคำสั่ง คสช. หรือแม้แต่การจะแสดงความคิดความเห็นทางการเมืองที่ยังถูกปิดกั้นด้วยแล้ว ย่อมทำให้บทบาทของนักการเมืองจากแต่ละพรรคที่เคยมีฐานเสียงที่เหนียวแน่นของตัวเองเริ่มอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ 

ที่สำคัญในระยะหลังรัฐบาล คสช.เริ่มเปิดเกมรุกทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการต่างๆ กระจายลงไปในแต่ละภูมิภาค ยังไม่รวมกับการเดินสายลงพื้นที่หอบคณะรัฐมนตรีลงไปจัดประชุม ครม.สัญจร ทั้งหัวเมืองหลัก หัวเมืองรอง ที่ว่ากันว่าเป็นยุทธศาสตร์การเร่งกอบกู้ความเชื่อมั่นและสร้างคะแนนนิยม

ประการที่สอง กฎกติกาที่สร้างความได้เปรียบให้กับฝั่ง คสช. จนถึงขั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อปูทางสู่การสืบอำนาจของ คสช. ไล่มาตั้งแต่ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่แม้จะแพ้เลือกตั้ง แต่คะแนนที่ได้รับก็ยังสามารถนำไปคำนวณเป็นระบบบัญชีรายชื่อ

ระบบนี้ว่ากันว่าจะเอื้อให้พรรคขนาดกลางขนาดเล็กได้ที่นั่งเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามกับพรรคขนาดใหญ่ที่เมื่อได้ สส.ระบบเขตจำนวนมากแล้ว ย่อมไปตัดโอกาสที่จะได้คะแนนบัญชีรายชื่อ ต่างจากระบบแยกบัตรลงคะแนนระหว่าง สส.เขต และ สส.บัญชีรายชื่อ 

อีกทั้งเงื่อนไขตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ 250 สว.​ซึ่งมาจากการคัดเลือกของ คสช. มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. 500 เสียง อันมีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่ทำให้ คสช.ได้เปรียบในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล

โดยเฉพาะในสภาพที่ไม่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะสามารถเอาชนะเลือกตั้งได้คะแนนเสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โอกาสรวบรวมเสียง สส.เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้นั้นย่อมไม่ง่าย

ประการที่สาม ความอ่อนแอของพรรคการเมืองทั้งในแง่ถูกแช่แข็งมานานกว่า 4 ปี และจนถึงเวลานี้ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมใดๆ ได้ แม้แต่การประชุมวางแผนกำหนดนโยบายหรือวางตัวผู้สมัคร ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองเดิมเสียเปรียบพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนรัฐบาล คสช.

ยิ่งกว่านั้นด้วยระบบกติกาใหม่ ทั้งเรื่องการจัดหาสมาชิก จัดตั้งสาขาพรรค เรื่อยไปจนถึงเรื่องไพรมารีโหวตหรือการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้นที่จะต้องผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค อันจะทำให้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการกับระบบใหม่ที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อนยิ่งจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย

อีกทั้งปรากฏการณ์ “ดูด” ที่กำลังรุกคืบขยายวงไปยังพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อมาเสริมทีมสร้างความเข้มแข็งให้กับ “พรรคพลังประชารัฐ” ผ่านการขับเคลื่อนของ “กลุ่มสามมิตร” สอดรับกับการเปิดหน้าประกาศตัวย้ายพรรคของอดีต สส.หลายคนในช่วงเวลาที่ผ่านมา 

ขณะที่พรรคขนาดใหญ่หลายพรรคยังมีปัญหาภายใน ทั้งพรรคเพื่อไทยเองที่นอกจากจะมีปัญหาแรงกดดันรุมเร้าจากภายนอกแล้ว อีกด้านหนึ่งยังมีปัญหาเรื่องเอกภาพภายในพรรคที่หนักกหน่วงไม่แพ้กัน

เมื่อจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่อาจหาตัวคนที่จะมาคุมทัพนำเพื่อไทยลงสนามเลือกตั้งอันจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ เมื่อ คุณหญิงสุดารัตน์​ เกยุราพันธุ์ ที่เคยได้รับไฟเขียวจากต่างแดนก็ดูจะไม่สามารถกู้ความเป็นเอกภาพกลับคืนมาได้ จนกระตุ้นให้อดีต สส.หลายคนเริ่มไหลออก

อีกฝั่งการผลักดันของกลุ่มเจ๊แดงที่ต้องการชูให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กลับมารับหน้าที่สมานรอยร้าวในพรรคก็ยังไม่มีสัญญาณตอบรับ จนทำให้สภาพภายในยังยักแย่ยักยันจนขับเคลื่อนลำบาก 

​ประการที่สี่ ทั้งในแง่องค์กรอิสระควบคุมการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งถูกคัดเลือกในช่วงนี้ก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตถึงการทำหน้าที่ว่าจะสามารถคุมการเลือกตั้งในอนาคตว่าจะดำรงความเป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร    

ยังไม่รวมกับมือไม้แขนขาของกองทัพที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่มายาวนานนับตั้งแต่หลังรัฐประหารเพื่อควบคุมดูแลความเคลื่อนไหวของแต่ละพื้นที่ สอดรับไปกับกระแสข่าวเรื่องความพยายามต่อสายดึงสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาเป็นมือไม้ช่วยทำพื้นที่อีกแรง 

ประการสุดท้าย การเติบโตของพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กที่จะแบ่งคะแนนกันเอง ทำให้โอกาสที่จะเกิดพรรคขนาดใหญ่เป็นไปได้ยาก เมื่อพรรคพลังประชารัฐเองก็ต้องแบ่งคะแนนกับเพื่อไทย ขณะที่ประชาธิปัตย์ต้องแบ่งคะแนนกับรวมพลังประชาชาติไทย ในขณะที่ภูมิใจไทยไปจนถึงอนาคตใหม่ ก็ล้วนแต่ต้องการจะพุ่งเป้าแบ่งคะแนนชิงเก้าอี้ระบบบัญชีรายชื่อซึ่งไม่ต้องชนะระบบเลือกตั้ง

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อได้เปรียบของ คสช. และทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปรียบกว่าหลายๆ ฝ่ายในการเลือกตั้งครั้งนี้