posttoday

พลิกปูม 5 กกต. ลับมีดเลือกตั้ง

14 กรกฎาคม 2561

ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการประชุมสนช.เพื่อลงคะแนนลับในการคัดเลือก กกต. ชุดใหม่ เข้ามาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งอันใกล้เข้ามาถึง

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อลงคะแนนลับในการคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ เข้ามาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งอันใกล้เข้ามาถึง

แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาจะมีเพียง 5 คนผ่านเข้ารอบ โดยอีกสองรายต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ อย่างไรก็ตามสำหรับ 5 คน ที่ผ่านด่านออกมาได้ ถือว่าประวัติการทำงานไม่ธรรมดา

เริ่มจาก สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ ถือว่าเป็นนักวิชาการสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อีกทั้ง มีดีกรีผลงานวิจัยทั้งภายในและต่างประเทศ อาทิ การฟอกสีน้ำทิ้งโรงงานสุรา (บริษัท ยูนิแซนโพล) การเก็บรักษาต้นอ้อยโดยกระบวนการทางชีววิทยา (บริษัท เยื่อกระดาษสยาม) และการบำบัดน้ำเสียที่มีไขมัน/น้ำมัน โดยใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลายแทนการตักทิ้ง (สกอ. 48-49)

อิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และกรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เคยฝากผลงานสำคัญในฐานะรองตัวแทนรัฐบาลไทย กรณีข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ปมตีความคำพิพากษาศาลโลก เรื่องปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2553

ธวัชชัย เทิดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และเคยดำรงตำแหน่ง ผวจ.ระยอง เพชรบูรณ์ ลำปาง และกรรมการองค์กรการตลาดกระทรวงมหาดไทย

ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มีดีกรีจบการศึกษาจากนิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2519 จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปี 2519

นอกจากนี้ มีประสบการณ์การทำงานเป็นอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2551- ก.ย. 2554 เป็น ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554-ก.ย. 2556 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556-ก.ย. 2558 และเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558-ก.ย. 2560

ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จบการศึกษาในระดับปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มีประสบการณ์การทำงานเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 9 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2555-มี.ค. 2556 รองประธานศาลอุทธรณ์ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2556-ก.ย. 2556

ส่วนอีก 2 คน ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง กกต. เนื่องจากได้คะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สนช. ประกอบด้วย สมชาย ชาญณรงค์กุล อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีต
ผู้ว่าราชการหลายจังหวัด

สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ทั้ง 5 คน จะต้องลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ สนช.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 26 ก.ค.

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพ้นวันที่ 26 ก.ค.ไปแล้ว หากบุคคลทั้ง 5 คน ได้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ตามกฎหมาย กกต. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะดำเนินการให้ผู้ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ดังกล่าวประชุมร่วมกันเพื่อเลือกประธาน กกต.จำนวน 1 คน

ก่อนจะนำรายชื่อทั้ง 5 คนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ส่วนการสรรหา กกต.อีก 2 คนนั้น จะมีการทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาในฐานประธานกรรมการสรรหา เพื่อประชุมคณะกรรมการสรรหาอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการสรรหาใหม่จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน

“ในที่นี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าการสรรหา กกต.ใหม่อีก 2 คน จะใช้กระบวนการเชิญบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเข้ามารับการสรรหาตามมาตรา 12 ของกฎหมาย กกต.หรือไม่ เพราะต้องรอให้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาก่อน” ประธาน สนช.ระบุ

ส่วน กกต.ชุดรักษาการ ซึ่งประกอบไปด้วย ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. บุญส่ง น้อยโสภณ กกต.รับผิดชอบงานด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.รับผิดชอบงานด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ และประวิช รัตนเพียร กกต.รับผิดชอบงานด้านกิจการการมีส่วนร่วม ยังคงทำหน้าที่ไปจนกว่ารายชื่อทั้ง 5 คน ได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงมาเป็นที่เรียบร้อย ถึงจะสิ้นสุดการ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ กกต.

ทั้งนี้ แม้จะไม่ครบ 7 คน แต่กฎหมาย กกต.กำหนดให้ผู้ที่ผ่านความเห็นชอบเป็น กกต.จำนวน 5 คนสามารถทำหน้าที่และเป็นองค์ประชุมได้