posttoday

เพื่อไทยโต้กลับประชารัฐ เกมนี้หวังผลใหญ่

04 กรกฎาคม 2561

ประเด็นการเมืองถูกจับตาเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นการดูดอดีต สส.เข้าพรรคพลังประชารัฐของกลุ่ม “3 มิตร”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ท่ามกลางกระแสความสนใจและความเคลื่อนไหวต่างเทไปที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ปรากฏว่าการเมืองกลับมีความเคลื่อนไหวเป็นระยะ 

โดยที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นการดูดอดีต สส.เข้าพรรคพลังประชารัฐของกลุ่ม “3 มิตร” ภายใต้การนำของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งพุ่งเป้าไปที่อดีต สส.อีสานและเหนือของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก เพื่อหวังให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรคขนาดกลางที่มี สส.เหลือต่ำกว่า 100 คน จากเดิมที่เป็นพรรคขนาดใหญ่ระดับ สส.เกิน 200 คน

ความน่าสนใจของกลุ่มสามมิตรนั้นอยู่ที่การได้รับแรงสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจใน คสช.ส่วนใหญ่ไม่แสดงท่าทีเป็นลบต่อกลุ่มสามมิตรเท่าใดนัก แม้กลุ่มสามมิตรจะมีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช.ในการห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองก็ตาม

ตรงนี้เองอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บรรดาอดีต สส.ที่ถูกกลุ่มสามมิตรตามจีบต่างอ่อนระทวยกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะรู้ดีว่าเมื่อ คสช.อยู่เบื้องหลัง ย่อมมีผลให้ปลอดจากการถูกรังควานค่อนข้างมาก ถ้าเทียบกับจะอยู่กับพรรคเพื่อไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถึงจะตกฝ่ายตั้งรับมาเป็นเวลาพอสมควร แต่พรรคเพื่อไทยเริ่มเปิดเกมโต้กลับให้เห็นบ้างแล้ว 

ดังจะเห็นได้จากกรณีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่าการกระทำของกลุ่มสามมิตรเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ ซึ่งมาตราสำคัญอยู่ที่มาตรา 30 และ 31

มาตรา 30 ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือผู้ใด ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก

มาตรา 31 ห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากพรรคการเมือง หรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก

ทั้งนี้ โทษของการกระทำผิดตามมาตราดังกล่าวถึงขั้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค และต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ
ผู้นั้นมีกําหนด 5 ปี นับว่าโทษตามกฎหมายพรรคการเมืองในกรณีนี้หนักพอสมควร

มองในแง่มุมทางกฎหมายแล้ว พรรคเพื่อไทยคงไม่ได้หวังถึงขั้นให้เอาผิดตามกฎหมาย เพราะในใจก็ทราบดีว่าการจะเอาผิดจริงในทางปฏิบัตินั้นเป็นไปได้ยาก คงไม่มีใครทิ้งใบเสร็จเพื่อเป็นหลักฐานให้ใครมาเอาผิดได้อย่างแน่นอน

ดังนั้น หมากเกมนี้พรรคเพื่อไทยหวังผลทางการเมืองมากกว่า

พรรคเพื่อไทยต้องการขยายแผลของ คสช.ให้กว้างมากขึ้น เพื่อตัดขาไม่ให้ คสช.เก็บแต้มทางการเมืองเพิ่มขึ้น ภายหลัง คสช.กำลังถูกโจมตีเรื่องการปฏิบัติสองมาตรฐานระหว่างพรรคการเมืองกับกลุ่มสามมิตร เนื่องจาก คสช.จะคอยจับผิดพรรคการเมืองทุกฝีก้าว ต่างจากกลุ่มสามมิตรที่ไม่ค่อยถูกเพ่งเล็งมากนัก

นอกจากนี้ แรงเหวี่ยงของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ ยังหวังผลให้ไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย โดยเวลานี้ กกต.อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจาก กกต.ชุดปัจจุบันไปสู่ กกต.ชุดใหม่

กกต.ชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ “ศุภชัย สมเจริญ” ประธาน กกต. อยู่ในตำแหน่งเพื่อรอให้กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ภายหลัง กกต.ถูกเซตซีโร่ไปตามกฎหมาย กกต.ฉบับใหม่

ตามกรอบเวลา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมลงมติให้ความเห็นชอบกับ กกต.ชุดใหม่ทั้ง 7 คนในสัปดาห์หน้า แน่นอนว่าย่อมเป็นความท้าทายของ กกต.ทั้งสองชุดว่าจะสามารถดำรงความเป็นอิสระได้อย่างแท้จริงหรือไม่ เนื่องจากจะมีหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้งในอนาคต ซึ่งจะมี คสช.เข้ามาร่วมโรมรันในสนามเลือกตั้งด้วย

ในระยะยาว เกมโต้กลับของพรรคเพื่อไทย คงไม่หยุดอยู่แค่เท่านี้อย่างแน่นอน เพียงแต่รอให้อีกฝ่ายก้าวพลาดเมื่อไหร ก็พร้อมจะเข้าซ้ำทันที โดยที่ คสช.ในฐานะนักเลือกตั้งสมัครเล่นคาดไม่ถึง